10 ความจริงที่ควรรู้ก่อนซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี

10 ความจริงที่ควรรู้ก่อนซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี

จุดเริ่มต้นในการซื้อประกันชีวิตของใครหลายคน อาจจะเริ่มต้นที่ความต้องการลดหย่อนภาษี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ค่อยจะถูกต้องเท่าไหร่นัก เนื่องจากแท้ที่จริงแล้ว ประกันชีวิตถือว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีประโยชน์มากกว่านั้น ทั้งเรื่องของการป้องกันความเสี่ยง สะสมทรัพย์ ส่งต่อความมั่งคั่ง ไปจนถึงการสร้างบำนาญให้กับตัวเองอีกต่อหนึ่ง


ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี ขอให้เริ่มต้นทำความเข้าใจจาก “ความจริง” ของประกันชีวิตที่ควรรู้ทั้ง 10 ข้อนี้ก่อน เพื่อให้เรามั่นใจว่า เราได้เลือกซื้อประกันที่เหมาะสมกับเราได้อย่างแท้จริง

 

1. ประกันชีวิต ไม่ใช่การฝากเงิน ถึงแม้ว่าประกันชีวิตจะมีลักษณะคล้ายเงินฝาก แต่ที่แท้จริงประกันชีวิตเป็นการทำสัญญาตกลงระยะยาว  โดยมีการจ่ายเบี้ยตามที่กำหนดไว้ให้กับบริษัทประกันเพื่อคุ้มครองชีวิต

การฝากเงินนั้น สามารถเบิกถอนเงินได้ตลอดเวลา แต่ประกันชีวิตไม่ใช่แบบนั้น เพราะการถอนเงินจากกรมธรรม์ ไม่สามารถทำได้เหมือนเงินฝาก ต้องรอมีเงินคืน หรือครบสัญญา และถ้าหากจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ก็ต้องทำการเวนคืนกรมธรรม์ ซึ่งอาจจะทำให้มูลค่าเงินสดที่เหลืออยู่ในกรมธรรม์ น้อยกว่าเบี้ยที่จ่ายไปแน่นอน
 

2. นึกถึงประกันชีวิต เมื่อจะลดหย่อนภาษีอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหน้าที่ของประกันคือการบริหารความเสี่ยงเป็นหลัก ถ้าคิดแต่จะซื้อเพื่อลดหย่อนภาษี ให้ได้ลดหย่อนเยอะๆ หรือลดให้เต็มสิทธิ์ บางทีแล้วอาจจะเป็นการลดหย่อนที่มากเกินความจำเป็น และไม่ได้มองถึงภาพรวมของการวางแผนการเงินเพื่อชีวิตได้อย่างถูกต้อง

3. ประกันที่เหมาะสำหรับลดหย่อนภาษีไม่ได้มีแค่เฉพาะประกันแบบสะสมทรัพย์ ที่จริงแล้วประกันชีวิตมีหลายประเภท ทั้งเน้นความคุ้มครองชีวิต และออมเงินระยะยาว ซึ่งทุกประเภทนั้นสามารถลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน สิ่งที่ต้องดูจริงๆ คือ “ความจำเป็น” ของแต่ละคน เพราะถ้าหากเราต้องการแบบคุ้มครองชีวิต แต่ไปทำสะสมทรัพย์แทน แม้จะลดภาษีได้ แต่ถือว่าบริหารความเสี่ยงผิดพลาด เพราะแบบสะสมทรัพย์นั้นให้ความคุ้มครองต่ำ หากเกิดอะไรที่ไม่คาดฝันขึ้นมา คนข้างหลังได้เงินน้อยกว่าแบบเน้นคุ้มครองชีวิต


4. ประกันสั้นๆ ไม่ได้ดีกว่าประกันยาวๆ
 บางคนเลือกประกันสะสมทรัพย์ เน้นเงินออม และตั้งใจจะจ่ายเบี้ยสั้นๆ ด้วย เพราะคิดว่าไม่อยากจ่ายยาว เป็นภาระ แต่ความจริงก็คือ ควรจะสั้นหรือยาว ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการเงิน และความจำเป็นในชีวิต เช่น เป้าหมายการออมของเราคือเพื่อเอาไว้ใช้หลังเกษียณ ก็ต้องออมยาว หรือความจำเป็นคือ เรามีภาระเลี้ยงดูลูก มีภาระหนี้สินที่ต้องผ่อนอีก 30 ปีกว่าปี แบบนี้ก็ต้องการความคุ้มครองยาวกว่า เพื่อให้เรามั่นใจว่าตรงกับทุกความต้องการที่เรามี


5. จ่ายเบี้ยสั้นๆ ไม่ได้ดีกว่าจ่ายเบี้ยยาวๆ
 เช่นเดียวกัน ประกันแต่ละแบบนั้น มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การจ่ายเบี้ยยาวๆ นั้น ก็เหมือนกันกับจ่ายคืนเงินกู้บ้าน เพราะยิ่งยาว เงินผ่อนต่องวดจะยิ่งลดลง ประกันก็เช่นเดียวกัน แบบประกันที่สัญญายาวเท่ากัน แบบที่จ่ายเบี้ยยาวกว่า จะถูกกว่าแบบที่จ่ายเบี้ยสั้นกว่า


เพราะฉะนั้น แบบสั้นๆ จะมีข้อดีตรงที่ ไม่ต้องมีภาระค่าเบี้ยนาน แต่ข้อเสียคือ ค่าเบี้ยต่องวดก็จะแพง เหมาะกับคนที่มีกำลังจ่ายเบี้ยสูง ขณะที่แบบจ่ายเบี้ยยาว ข้อดีคือ ค่าเบี้ยต่องวดถูก แต่ข้อเสียคือ มีภาระค่าเบี้ยนาน เหมาะกับคนที่มีกำลังจ่ายเบี้ยน้อยกว่านั่นเอง


6. แบบที่มีเงินคืน ไม่ได้ดีกว่าแบบที่ไม่มีเงินคืน หรือจ่ายเบี้ยทิ้ง
 ที่จริงแล้วประกันแบบที่มีเงินคืนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแบบสะสมทรัพย์ ทำเพื่อการันตีเงินออม ส่วนแบบที่ไม่มีเงินคืนคือเป็นแบบเน้นคุ้มครองชีวิต ถึงไม่มีเงินคืน แต่ถ้าเทียบกับเบี้ยที่จ่ายในจำนวนที่เท่ากัน แบบที่เน้นคุ้มครองชีวิตที่ไม่มีเงินคืน จะได้วงเงินคุ้มครองชีวิตสูงกว่าเยอะมาก ยิ่งเป็นแบบจ่ายเบี้ยทิ้ง วงเงินคุ้มครองยิ่งสูงมากๆ


7. ทำประกันชีวิตเท่าที่พอใจจะจ่ายเบี้ย อาจมีผลเสียมากกว่าดี
 คำว่าเท่าที่พอใจจะจ่าย จะมีผลอยู่ 2 อย่าง คือจ่ายได้เยอะเกินไป กับจ่ายได้น้อยเกินไป

จ่ายได้เยอะเกินไป คือ การทำประกันมากเกินความจำเป็น แต่ถ้ามีการวางแผนที่ดี รู้จักเอาเงินส่วนหนึ่งไปวางแผนลงทุนบ้าง เราอาจจะได้มากกว่านั้นหลายเท่า แล้วยังเหลือเงินไปวางแผนด้านอื่นอีกด้วย

จ่ายน้อยกว่าที่จำเป็น คือ คนที่มีภาระการเงินเยอะ แต่ทำประกันวงเงินคุ้มครองแค่เพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจจะไม่ครอบคลุมความเสี่ยงเพียงพอ เพราะฉะนั้นต้องมองเรื่องการวางแผนการเงินให้ครบถ้วนด้วย


8. ประกันสุขภาพ ไม่ใช่เรื่องถ้าไม่เคลม ก็ไม่คุ้ม
 มักจะมีคนคิดว่า ทำประกันไป ถ้าไม่เคลมก็ไม่คุ้มสิ จ่ายเบี้ยทิ้งไปทุกๆ ปีแบบฟรีๆ เอาเงินไปลงทุนดีกว่าไหม แล้วเป็นอะไรก็เอาดอกผลมาจ่ายค่ารักษา แต่ในความเป็นจริงก็คือ ไม่มีใครรู้อนาคตว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นเมื่อไร และถ้าหากรู้อนาคตจริงๆ ประกันก็คงไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอีกต่อไป เพราะทุกคนสามารถจัดการความเสี่ยงได้หมด หรือถ้าลองคิดดูว่า คุ้มคือการได้เคลม ก็แปลว่า เราต้องเจ็บป่วย ซึ่งความเจ็บปวดทรมานที่เจอ กับเวลาที่ต้องเสียไปแบบนี้คือความคุ้มที่เราต้องการจริงๆ หรือ

9. เงื่อนไขที่ว่า ไม่ต้องตรวจหรือตอบคำถามสุขภาพ นั้นเป็นเรื่องจริง ต้องแยกก่อนว่ามันคือประกันที่ ไม่ต้องตรวจสุขภาพหรือ ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ

ยกตัวอย่างเช่น การไม่ต้องตรวจสุขภาพ เป็นกรณีที่เวลาจะทำประกัน ตัวแทนจะถามเราว่า มีโรคประจำตัวมาก่อนไหม สุขภาพแข็งแรงดีรึเปล่า ถ้าเราแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่เคยผ่าตัดอะไรหนักๆ ส่วนใหญ่คือไม่ต้องตรวจสุขภาพ อันนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราตอบคำถามแบบบิดเบือนหรือโกหก ทำให้ไม่ต้องตรวจสุขภาพ แล้วเกิดต้องเคลมทีหลัง ที่มีผลเกี่ยวข้องกับโรคที่เป็นอยู่ก่อน แล้วบริษัทประกันไปสืบประวัติเจอ อันนี้บริษัทประกันสามารถปฏิเสธการเคลมได้ เพราะถือว่าเราโกหก

ส่วนเรื่อง ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ ส่วนใหญ่จะเจอกับประกันผู้สูงวัย ซึ่งแปลว่า ถึงเป็นโรคมาก่อน ก็รับทำประกัน แล้วค่อยมาวัดดวงกันว่า ถ้าเสียชีวิตภายใน 2 ปีตั้งแต่ทำประกัน ที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ เขาจะไม่จ่ายทุนประกันให้ แต่จะคืนเบี้ยบวกดอกเบี้ยให้เฉยๆ ซึ่งตรงนี้จะมีระบุในสัญญาไว้แล้ว

โดยการเคลมได้หรือไม่ได้ตรงนี้ต้องพิจารณาให้ชัด ดูสัญญาให้เข้าใจ เพื่อที่จะได้รู้ว่าที่เคลมไม่ได้เพราะอะไร

10. ยูนิตลิงก์ ไม่ใช่ประกัน ที่ดีที่สุด บางคนอาจเคยได้ยินมาว่า ยูนิตลิงก์คือสินค้ามหัศจรรย์ คือสุดยอดแบบประกันที่เจ๋งกว่าแบบประกันแบบเดิมๆ แต่จริงๆ แล้วทุกสินค้าการเงินนั้น มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

อย่างยูนิตลิงก์ ข้อดีของมันก็คือความยืดหยุ่น สามารถวางแผนเองได้ ว่าจะจ่ายเบี้ยกี่ปี่ คุ้มครองกี่ปี ปรับลดเบี้ยเมื่อไหร่ ถอนเงินออกมาเท่าไหร่ ปีไหน ได้ผลตอบแทนประมาณไหน วางแผนเองได้ รวมถึงบางแบบก็ความคุ้มครองสูง 100-120 เท่าของเบี้ยประกัน แล้วก็อาจจะเป็นเรื่องของความสะดวก ซื้อหนึ่งได้ถึง 2 คือได้คุ้มครองชีวิตกับลงทุนไปพร้อมๆ กันทีเดียว นี่คือจุดเด่นจริงๆ ของยูนิตลิงก์ แต่ไม่ใช่เรื่องของผลตอบแทนเป็นหลัก เพราะถ้าบอกว่าดี เพราะผลตอบแทนสูง ก็ไม่ใช่ เพราะยังไงก็อาจแพ้การไปลงทุนในกองทุนรวมด้วยตัวเอง เนื่องจากยูนิตลิงก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมจากบริษัทประกันอีกรอบหนึ่ง

ส่วนข้อเสียอีกเรื่องของยูนิตลิงก์ก็มาจากข้อดีนั่นเอง เพราะมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าแบบสะสมทรัพย์ ก็เลยเสี่ยงกว่า ถ้าไปวางแผนไว้ให้ผลตอบแทนสูงๆ 8-10% ต่อปี แล้วเกิดถึงช่วงวิกฤติขึ้นมา หุ้นติดลบ 40-50% มูลค่าเงินลงทุนในกรมธรรม์หายไปครึ่งนึง มันอาจจะไม่พอเหลือให้ตัดไปเป็นค่าทำประกันปีต่อๆ ไปก็ได้ ทำให้ความคุ้มครองหายไปเลย เพราะฉะนั้น ในข้อดี มันก็มีข้อควรระวังที่ต้องคำนึงถึงอยู่ด้วยเช่นกัน

 

บทสรุปทั้งหมดของ 10 ความจริงที่ควรรู้ก่อนทำประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีนั้น จะเห็นได้ว่า สิ่งที่จำเป็นที่สุดนั้นไม่ใช่เรื่องของการทำประกัน แต่มันเป็นการวางแผนการเงินให้ครบองค์รวมทุกด้าน มองให้ออกว่าความต้องการที่แท้จริงนั้นเราต้องการอะไร และใช้ประกันเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการช่วยเดินตามเป้าหมายอย่างเหมาะสม

บทความโดย : aomMONEY School

 735
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์