ต้องดูอะไรใน “งบการเงิน”

ต้องดูอะไรใน “งบการเงิน”

เป็นที่รู้กันดีว่าช่วงที่บริษัทจดทะเบียนประกาศงบการเงิน นักลงทุนและนักวิเคราะห์จะทำการวิเคราะห์ตัวเลขงบการเงินของบริษัทนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร ถ้าผลออกมาดีกว่าที่คาดก็อาจเป็นโอกาสในการลงทุน ตรงกันข้ามถ้างบออกมาไม่ดีหรือต่ำกว่าคาด ก็ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ 

อย่างไรก็ตาม ในงบการเงินนั้นมีข้อมูลยุบยับเต็มไปหมด หากไม่ชำนาญอาจจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะเริ่มต้นดูตรงไหน แถมบริษัทก็ประกาศงบออกมาพร้อมๆ กัน ยิ่งต้องใช้เวลาในการย่อยข้อมูลและวิเคราะห์  ซึ่งรายการต่อไปนี้คือสิ่งที่ต้องดูในเบื้องต้นเมื่อ “งบการเงิน” ประกาศออกมา

1. กำไรสุทธิ

เมื่อบริษัทประกาศงบออกมา ให้มองไปที่บรรทัด “กำไร (ขาดทุน) สุทธิ” ก่อน เพราะเป็นตัวเลขสำคัญตัวหนึ่งที่ชี้เป็นชี้ตายว่าธุรกิจจะอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่ โดยกำไรสุทธิหมายถึงตัวเงินที่บริษัทสร้างขึ้นมาทั้งรายได้จากการทำธุรกิจและรายได้อื่นๆ ที่สำคัญเป็นเงินที่หักต้นทุนต่างๆ หักค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร หักภาระดอกเบี้ยจ่าย หักค่าใช้จ่าย รวมทั้งหักภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว

ต้องไม่ลืมว่าเงินก้อนนี้ ผู้บริหารบริษัทจะนำบางส่วนมาแบ่งมาจ่ายให้ผู้ถือหุ้นเป็นเงินปันผล รวมถึงกันเอาไว้ไปขยายธุรกิจและเก็บเป็นเงินทุนสำรอง

2. EBITDA

EBITDA คือ กำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย

EBITDA = ยอดขาย - ต้นทุนขาย - ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร + ค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ EBITDA จึงคือ กำไรจากการดำเนินงานที่เป็นเงินสดจริงๆ เพราะเป็นกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน และบวกค่าเสื่อมต่างๆ ที่หักทางบัญชี โดยวิธีการดู EBITDA ให้เปรียบเทียบกับค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย ที่ถือเป็นต้นทุนของสินทรัพย์ที่มีการเสื่อมค่าลงเรื่อยๆ ถ้าบริษัททำ EBITDA ได้สูงกว่าค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย แสดงว่าใช้สินทรัพย์ในการทำธุรกิจได้อย่างคุ้มค่า

เช่นเดียวกัน ถ้ามี EBITDA น้อยๆ บริษัทก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจจากสินทรัพย์ที่มี เพื่อทำให้เกิดความสามารถในการทำกำไร หรือหากสินทรัพย์ไม่มีประสิทธิภาพก็อาจต้องขายออกไป เพื่อลดค่าเสื่อมลง

3. กำไรสุทธิต่อหุ้น

กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เป็นส่วนของกำไรสุทธิจากการดำเนินงานของบริษัทเฉลี่ยต่อหุ้น

กำไรสุทธิต่อหุ้น = กำไรสุทธิ / จำนวนหุ้นที่เรียกชำระแล้ว

 

วิธีการ คือ ควรดู EPS ของบริษัทปีล่าสุดแล้วเปรียบเทียบปีย้อนหลัง เช่น 5 ปี 10 ปี เป็นต้น โดยบริษัทที่ดีควรมี EPS เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะแสดงว่ามีความสามารถในการทำกำไรได้ดีและยั่งยืน และที่สำคัญควรดูเปรียบเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันด้วย

ตัวแปรสำคัญของ EPS นอกจากกำไรสุทธิแล้ว ก็คือจำนวนหุ้นที่เรียกชำระแล้ว

เช่น บริษัท ABC มีกำไรสุทธิ 100,000 บาท มีจำนวนหุ้น 5,000 หุ้น ส่วนบริษัท XYZ มีกำไรสุทธิ 100,000 บาท มีจำนวนหุ้น 10,000 หุ้น แสดงว่าบริษัท ABC มี EPS เท่ากับ 20 บาทต่อหุ้น ขณะที่บริษัท XYZ มี EPS เท่ากับ 10 บาทต่อหุ้น

อย่างไรก็ตาม จากตัวอย่าง หากพิจารณาเพียง EPS อาจมองว่าหุ้น ABC น่าสนใจมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่ดู EPS อย่างเดียว ไม่สามารถฟันธงและตัดสินใจซื้อหุ้นได้เลย เพราะยังมีตัวแปรอื่นๆ ให้พิจารณาอีกว่าหุ้นตัวไหนแพงและถูกมากกว่ากัน เช่น P/E Ratio ดังนั้น นักลงทุนต้องนำข้อมูลอื่นๆ มาประกอบในการวิเคราะห์คำนวณด้วย 

4. กระแสเงินสดอิสระ

ตัวเลขกำไรสุทธิอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอการันตีว่าธุรกิจแข็งแกร่ง ดังนั้น ต้องดูตัวเลขอื่นประกอบด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ งบกระแสเงินสด ซึ่งเป็นงบที่เชื่อมโยงข้อมูลในงบดุลและงบกำไรขาดทุน เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัท

งบกระแสเงินสดประกอบด้วย กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน และกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน

กระแสเงินสดสุทธิที่ได้จากกิจกรรมทั้ง 3 ที่กล่าว เรียกว่า กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow) ซึ่งเป็นเงินสดที่บริษัทนำไปใช้ทำอะไรก็ได้ เช่น จ่ายปันผล จ่ายหนี้

ดังนั้น หากบริษัทมีกระแสเงินสดอิสระเยอะๆ สะท้อนได้ว่าเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการทำกำไรได้ดีและต่อเนื่อง

5. ความเห็นนักวิเคราะห์

เมื่อดูงบการเงินเบื้องต้นแล้ว ถัดจากนั้น นักลงทุนต้องดูบทวิจัยจากนักวิเคราะห์ว่าหลังจากเห็นตัวเลขงบการเงินแล้ว นักวิเคราะห์มีความคิดเห็นและประเมินเอาไว้ว่าอย่างไร เนื่องจากนักวิเคราะห์มีข้อมูลเชิงลึก เช่น ข้อมูลที่ได้จากการเข้าพบผู้บริหาร (Company Visit) หากนักลงทุนมีข้อสงสัยก็สามารถโทรหรือส่งอีเมลเพื่อสอบถาม ถัดจากนั้นค่อยนำมาประเมินและตัดสินใจว่าจะลงทุนในหุ้นตัวนั้นหรือไม่   

 

การเปิดเผยงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน

1. งบรายไตรมาส ส่งภายใน 45 วัน นับตั้งแต่สิ้นสุดแต่ละไตรมาส

2. งบปี (ตรวจสอบ)

  •  ถ้าส่งงบไตรมาส 4 ส่งภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นรอบบัญชี
  •  ถ้าไม่ส่งงบไตรมาส 4 ส่งภายใน 2 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นรอบบัญชี

3. แบบ 56-1 ส่งภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นรอบบัญชี

4. รายงานประจำปี ส่งภายใน 4 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นรอบบัญชี

บทความโดย:ฐิติเมธ โภคชัย

 5815
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์