เทคนิคเอาตัวรอดจากตลาดผันผวน

เทคนิคเอาตัวรอดจากตลาดผันผวน

เมื่อไรก็ตามที่ใครๆ พูดถึงแต่เรื่องการลงทุนในหุ้น หรือสภากาแฟยามเช้าสนทนาเกี่ยวกับหุ้น นั่นหมายถึงว่าเราควรเพิ่มความระมัดระวังกับการลงทุน ถึงแม้ว่าภาพรวมตลาดหุ้นยังคงมีทิศทางเป็นขาขึ้น หรือแม้ว่าจะมีแต่ข่าวดี แต่เนื่องจากทุกคนถือหุ้นกันหมดแล้ว ดังนั้น ตลาดจึงอาจจะขยับขึ้นได้เพียงเล็กน้อย และอาจจะเกิดการเก็งกำไรเพิ่มมากขึ้น

หากบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นแบบนี้ John J. Riley, AIF® Chief Investment Strategist & Registered Research Analyst ของ Cornerstone Investment Service กล่าวว่าตลาดมีโอกาสปรับลดลง และสมมติว่าหากตลาดผันผวนและดัชนีหุ้นปรับลดลง นักลงทุนจะต้องวางกลยุทธ์ก่อนที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง

 
“สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนควรรู้ ก็คือ ความผันผวนของตลาดจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งสัญญาณที่จะบอกเราได้ก็คือ ราคาหุ้นเข้าสู่ระดับแพงเกินไป หรือการซื้อขายเป็นไปในลักษณะเก็งกำไรมากจนเกินไป หรืออัตราดอกเบี้ยเริ่มเป็นขาขึ้น เป็นต้น” John บอก

ถึงแม้สัญญาณดังกล่าวอาจไม่ถึงขั้นทำให้ตลาดหุ้นซบเซาหรือเป็นสัญญาณภาวะหมี แต่หากเราเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ โดยที่ผ่านมาเขาสังเกตว่านักลงทุนแต่ละคนมีเทคนิคที่แตกต่างกัน ดังนี้


1. ขายหุ้นออกทั้งหมด แล้วถือเงินสด 100%

John บอกว่ากลยุทธ์นี้สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมีความหวาดกลัวและตื่นตระหนกกับตลาดหุ้นอย่างมาก หมายความว่า หากรู้สึกว่ามีสัญญาณเชิงลบก็จะขายหุ้นที่อยู่ในพอร์ตทั้งหมดทันที ซึ่งข้อดีของวิธีนี้ คือ ไม่สูญเสียเงินลงทุน แต่ข้อเสียจะเกิดเมื่อตอนกลับเข้ามาในตลาด เพราะคำว่าความหวาดกลัวและตื่นตระหนกจะติดตัวไป ผลลัพธ์คือ อาจจะทำให้จังหวะตัดสินใจลงทุนผิดพลาด


“การตัดสินใจเข้าหรือออกจากตลาดควรอยู่บนพื้นฐานคำว่า Fundamental อย่าให้อารมณ์ครอบงำ” John แนะนำ


2. ขายหุ้นบางตัว

ขายหุ้นบางตัวเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด โดยขายหุ้นที่ราคาตลาดของหุ้นนั้นสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่ประเมินได้ (Overvalue) ออกไป เนื่องจากราคาตลาดสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) เพราะหากตลาดปรับลดลงหรือซบเซา หุ้นราคาแพงๆ จะมีโอกาสปรับลดลงค่อนข้างแรง


John กล่าวว่า ข้อดีคือนักลงทุนจะมีเงินสด และถ้าตลาดฟื้นตัวก็จะมีเงินเข้าไปซื้อหุ้นที่ดีในราคาถูก และถือเป็นการป้องกันและปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนข้อเสียสำหรับการมีเงินสดอยู่ในมือ กรณีที่ตลาดหุ้นซบเซานานเป็นปีๆ คือ ไม่รู้จะเอาเงินไปลงทุนอะไร


3. ปรับพอร์ตด้วยการป้องกันความเสี่ยง

ถ้าเชื่อว่า “ในวิกฤติย่อมมีโอกาส” ในช่วงตลาดหุ้นผันผวนหรือมีแนวโน้มเป็นขาลง อาจจะปรับพอร์ตลงทุนด้วยกลยุทธ์ที่เรียกว่า Portfolio Hedge ไม่ว่าจะเป็น SET50 Futures และ Single Stock Futures หรือลงทุนผ่าน ETFs  John บอกว่าถ้านักลงทุนสามารถใช้กลยุทธ์นี้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำจะช่วยชดเชยหรือทำให้พอร์ตไม่ขาดทุน แต่อันตรายจะเกิดขึ้นได้หากไม่มีความเข้าอกเข้าใจหรือวางกลยุทธ์แบบผิดๆ ถูกๆ


4. ตัดขาดทุน

ตัดขาดทุน (Stop Loss) อาจจะเป็นคำตอบที่ดีในภาวะตลาดเป็นขาลง เพราะถ้าไม่ขายวันนี้อาจจะไม่เหลืออะไรเลย และต้องถือหุ้นต่อไปเป็นระยะเวลานาน (ติดดอย) เพื่อรอจังหวะขายเมื่อตลาดปรับเป็นขาขึ้นอีกครั้ง ดังนั้น การมีวินัยที่ดี ก็คือ ทุกครั้งที่ลงทุนจะต้องกำหนดแผนการ Stop Loss เอาไว้เสมอ เช่น ซื้อหุ้นราคา 10 บาท หากราคาปรับลดลงเป็น 7 บาท จะทำการขายออกทันที เป็นต้น


5. สวนกระแส

กลยุทธ์การลงทุนแบบ Contrarian Investment จะใช้ได้ดีในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมากๆ เพราะแสดงว่านักลงทุนกำลังกลัวจึงเริ่มขายหุ้น ทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่นิยมซื้อหุ้นในช่วงที่คนอื่นพากันกลัว เพราะจะได้ราคาถูก ซึ่งเรียกว่ากลยุทธ์แบบ Contrarian Investment “หากใช้ Contrarian Investment อย่างมีวินัยและแม่นยำ จะได้หุ้นที่ดีและราคาดีด้วย แต่กลยุทธ์นี้จะมีอันตรายกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์น้อย จิตใจไม่นิ่งพอ และมีความอดทนน้อย หรือใช้กลยุทธ์นี้บ่อยจนเกินไป” John กล่าว

หากนักลงทุนเข้าใจสัจธรรมของตลาดหุ้นว่า “มีขึ้น ย่อมมีลง” จะทำให้สามารถวางกลยุทธ์ได้ถูกต้องกับสถานการณ์ นั่นหมายถึง การมีวินัยเคร่งครัด และผลลัพธ์ที่ตาม ก็คือ ความสำเร็จจากการลงทุน

บทความโดย:ฐิติเมธ โภคชัย

 1277
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์