เปลี่ยนใจและเปลี่ยนแปลง... ก่อนที่จะเปลี่ยนไป

เปลี่ยนใจและเปลี่ยนแปลง... ก่อนที่จะเปลี่ยนไป

ชีวิตของคนเรามีการ “เปลี่ยนแปลง” อยู่เสมอๆ แต่การเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือเป็นสิ่งที่เราควรเตรียมการเพื่อรับมือ เพราะการรู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น แล้วได้คิดหรือเตรียมการตั้งรับกับสิ่งนั้น จะช่วยทำให้สบายใจ ไม่กังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และพร้อมที่จะปรับแต่งชีวิตของเราให้เป็นไปในทิศทางที่พอใจ

 

“สูงวัย” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนไม่อาจหนีไปได้ ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ส่งผลให้คนทำงานต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุมากขึ้น และมีแนวโน้มมากยิ่งขึ้นในระหว่างปี 2553 - 2583 ตามการคาดคะเนของสำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายละเอียดดังนี้

 

 

ปี พ.ศ. 2560

ปี พ.ศ. 2570

คนทำงาน (อายุ 15-59 ปี)

100 คน

100 คน

รับภาระเลี้ยงดูเด็ก

26 คน

25 คน

รับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุ

25 คน

39 คน

รวมรับภาระเลี้ยงดู

51 คน

64 คน

 

จากตาราง พบว่าอีกเพียง 10 ปีข้างหน้า คนวัยทำงาน 100 คน ต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุเพิ่มจาก 51 คน เป็น 64 คน เพิ่มขึ้น 13 คน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 25% นั่นหมายความว่า นอกจากการทำงานหารายได้ในปัจจุบันแล้ว ยังอาจต้องหาทางทำให้รายได้ที่ได้รับมาทำงานมากขึ้นและได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ทันต่อการใช้จ่ายในอนาคต 

แล้วจะทำอย่างไร ถ้าทุกคนยังไม่เริ่มลงทุนตั้งแต่วันนี้

1. เปลี่ยนใจ ขั้นตอนง่ายๆ ที่ช่วยให้เตรียมตัวพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เริ่มจากวิธีตรวจสอบสภาพคล่องก่อนการลงทุน โดยให้สังเกตตัวเองก่อนว่าปัจจุบันมีเงินเก็บสะสมอยู่ที่ไหนบ้าง มีเงินเก็บสม่ำเสมอหรือไม่ หากต้องใช้เงินยามฉุกเฉินจะเอาเงินจากตรงไหนมาใช้

หากคำตอบที่ได้รับคือ มีเงินเก็บสะสมอยู่ในเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ ออมบ้างไม่ออมบ้าง ถ้าเดือนไหนเหลือแล้วค่อยออม กรณีฉุกเฉินต้องการใช้เงิน ต้องหยิบยืมจากเพื่อนหรือญาติๆ เป็นประจำ หากเป็นแบบนี้ขอให้เปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ ด้วยการ “ตัดใจ” ออมเงินอย่างสม่ำเสมอเท่าๆ กันทุกเดือน เช่น รายได้ 30,000 บาท ออม 20% เท่ากับว่าออมเดือนละ 6,000 บาท ปีหน้ารายได้เพิ่มขึ้นก็ออมสัดส่วนเท่าเดิม เช่น รายได้ 35,000 บาทต่อเดือน ออม 20% เท่ากับว่าออม 7,000 บาท ซึ่งจะทำให้การออมเพิ่มขึ้น

จากนั้นก็ต้อง “อดใจ” เพื่อสะสมเงินออมนี้ให้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินก่อน เพราะหากมีอะไรไม่คาดคิดเกิดขึ้น จะได้มีเงินใช้โดยไม่ต้องหยิบยืมใคร โดนอย่างน้อยควรมี 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น หากปกติมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 120,000 บาท ซึ่งอาจเก็บไว้ในรูปเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ ที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นเงินสดพร้อมใช้ได้ตลอดเวลา

 

2. เปลี่ยนแปลง เมื่ออดใจและตัดใจได้แล้วก็มาเริ่มต้นลงทุนเพื่ออนาคต หากเป็นคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องการเงิน ก็จะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง หันมาให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินให้มากขึ้น  โดยต้องกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการเป็นเป้าหมาย เพื่อให้มีแรงผลักดันในการออมและลงทุน จากนั้นให้เลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ การเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่วันนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการเงินที่ดีในอนาคต อะไรๆ ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น ก็จะไม่กระทบหรือเปลี่ยนชีวิตเราได้มากนัก

บทความโดย:อรพรรณ บัวประชุม

 748
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์