5 เสาหลัก สำหรับเก็บเงินไว้ใช้ยามแก่เฒ่า

5 เสาหลัก สำหรับเก็บเงินไว้ใช้ยามแก่เฒ่า

ไม่ใช่เพียงเฉพาะประเทศไทยที่มีความกังวลใจเรื่องสังคมผู้สูงอายุและการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ แต่ปัญหาเรื่องการมีเงินไม่พอใช้หลังการเกษียณเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจคน 100 คน พบว่ามีเพียง 41 คนที่มีเงินพอใช้หลังวัยเกษียณ มี 4 คนที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี และมี 1 คน ที่บอกว่าตัวเองอยู่ในฐานะเศรษฐี ส่วนอีก 59 คนยอมรับว่ามีเงินไม่พอใช้สำหรับการเกษียณ

การเตรียมเงินเพื่อการเกษียณจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับทุกๆ คนไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดในโลก ธนาคารโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและตั้งกรอบแนวคิดเพื่อจัดการกับปัญหานี้ โดยแนะแนวรูปแบบการออมเพื่อการเกษียณทั้งในภาคบังคับและสมัครใจซึ่งประกอบไปด้วย 5 เสาหลัก เรียกว่า Pillar 0, 1, 2, 3, 4 

ระบบการออมเพื่อการเกษียณของประเทศไทยนำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้เช่นเดียวกัน มาดูกันว่ามีอะไรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้บ้าง

เสาหลักแรก คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จัดอยู่ใน Pillar 0: A Non-contributory “zero pillar” เป็นเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องมีการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน ผู้ได้รับประโยชน์คือผู้สูงอายุคนไทยทุกราย

เสาที่สอง เช่น กองทุนประกันสังคมสำหรับผลประโยชน์กรณีชราภาพ รวมถึงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งจัดอยู่ใน Pillar 1: A mandatory “first pillar” เป็นระบบบำนาญภาคบังคับ โดยมีการจ่ายเงินเข้ากองทุน ที่อาจมาจากฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง หรือภาครัฐ โดยเงินจะถูกบริหารจัดการโดยภาครัฐ และมีการกำหนดผลประโยชน์ที่ผู้ส่งเงินจะได้รับเมื่อเกษียณแล้ว

เสาที่สาม เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ใน Pillar 2: A mandatory “second pillar” เป็นระบบบำนาญภาคบังคับที่กำหนดจำนวนเงินสะสมเข้ากองทุน โดยเงินนั้นอาจจะมาจากนายจ้าง ลูกจ้าง หรือภาครัฐ และบริหารจัดการโดยหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเฉพาะหรือว่าจ้างมืออาชีพมาบริหาร มุ่งเน้นเพื่อให้มีการออมเพิ่มเติมจาก Pillar 1 ซึ่งผู้ออมสามารถเลือกนโยบายการลงทุน และรูปแบบการรับเงินเมื่อเกษียณได้ (ระหว่าง เงินก้อน หรือ เงินงวดรายเดือน)

ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันชีวิตแบบบำนาญ กลุ่มนี้ก็จัดอยู่ใน Pillar 3: A voluntary “third pillar” เป็นระบบบำนาญภาคสมัครใจที่มีการกำหนดจำนวนเงินสะสมโดยผู้ออมเงิน มีการออมได้หลายรูปแบบ ซึ่งกำหนดและบริหารโดยภาคเอกชน

เรื่องที่ได้รับความสนใจล่าสุดคือ Reverse mortgage หรือการจำนองแบบย้อนกลับ ที่ธนาคารจะเป็นผู้จ่ายเงินให้เราทุกเดือนเสมือนธนาคารเป็นผู้ซื้อบ้านของเรา โดยเราสามารถนำเงินมาใช้จ่ายแต่ละงวดตามที่ทำสัญญากับธนาคาร และเมื่อครบกำหนดชำระงวดสุดท้าย บ้านก็จะตกเป็นของธนาคาร Reverser mortgage นี้จัดอยู่ใน Pillar 4: A non-financial “fourth pillar” เป็นระบบการใช้ทรัพย์สินอื่นมารองรับการใช้ชีวิตช่วงหลังเกษียณ Pillar 4 นี้ ยังรวมถึงการสนับสนุนในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการอื่นๆ เช่น การรับการสนับสนุนจากครอบครัวในรูปแบบต่างๆ ไว้อีกด้วย

สมัยนี้ครอบครัวมีขนาดเล็กลงและหลายๆ คนเลือกใช้ชีวิตโสด เราจึงต้องดูว่าสามารถใช้ประโยชน์จากเสาหลักแบบใดบ้าง บางเสาหลัก เราอาจอยู่ในระบบนั้นหรือว่ามีความคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่หากมีบางเสาหลักที่เรายังไม่เคยรู้รายละเอียดว่าตัวเราจะเกี่ยวข้องหรือไม่ ให้ลองจัดเวลาศึกษาหาข้อมูลกับเสาหลักนั้นๆ เพื่อพิจารณาดูว่าเหมาะสมกับแผนการเกษียณของเราหรือไม่ อย่างไร คอยติดตามความเคลื่อนไหว รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของระบบต่างๆ ที่กำหนดไว้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อช่วยให้การวางแผนเกษียณของเราเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น

 

บทความโดย :ธชธร สมใจวงษ์ 

 1436
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์