เงินเฟ้อมา ปัญหากวนใจของวัยเกษียณ

เงินเฟ้อมา ปัญหากวนใจของวัยเกษียณ

อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยย้อนหลัง 22 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ ปี 2538 ถึงสิ้นปี 2559 จากกระทรวงพาณิชย์เท่ากับ 2.72% ต่อปี หมายความว่า ราคาสินค้าและบริการโดยรวมมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 2.72% หรือหากมีเงินเท่าเดิมกับปีที่แล้ว ค่าของเงินที่ถืออยู่จะด้อยค่าไป 2.72% ซึ่งทำให้ซื้อของได้น้อยลง

 

ยกตัวอย่าง สินค้าชนิดหนึ่ง ปัจจุบันราคา 100 บาท เมื่อเวลาผ่านไป ราคาของสินค้าชนิดนี้จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากเงินเฟ้อ 2.72% ดังนี้

 

ระยะเวลาผ่านไป

ราคาสินค้า (บาท)

0 ปี

100

5 ปี

114

10 ปี

131

20 ปี

171

30 ปี

224

 

 

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า เงินเฟ้อแค่เพียง 2.72% ต่อปี ส่งผลทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นเยอะมากเมื่อเวลาผ่านไป แต่อย่าลืมว่าค่าใช้จ่ายประจำๆ หลังเกษียณ เช่น ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ค่าท่องเที่ยว ค่ารักษาพยาบาล ค่าดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายลำดับต้นๆ ของคนเกษียณ จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.72% ต่อปี ยิ่งทำให้ราคาสินค้าแพงมากขึ้น

เพื่อความเข้าใจผลกระทบจากเงินเฟ้อมากขึ้น ลองมาดูตัวอย่างในกรณีที่ต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณ เดือนละ 50,000 บาท หรือปีละ 600,000 บาท เป็นระยะเวลา 25 ปี ตั้งแต่อายุ 60 ถึง 85 ปี

กรณีที่ 1 ถ้าไม่นำเงินเฟ้อมาคิด เงินที่ต้องเตรียมทั้งหมด คือ 15 ล้านบาท โดยถอนออกมาใช้เดือนละ 50,000 บาท เท่ากันทุกเดือน ตั้งแต่เริ่มเกษียณเป็นต้นไป

ผลกระทบจะเกิดขึ้นในปีหลังๆ เนื่องจากเงินเท่าเดิมจะซื้อของได้น้อยลงเพราะของแพงขึ้นนั่นเอง ทำให้ตอนอายุ 85 ปี สามารถซื้อของได้แค่เพียงครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับปีแรกของการเกษียณ แต่ในขณะเดียวกันถ้ายังซื้อของในปริมาณเท่าเดิมในราคาที่แพงขึ้น จะทำให้เงินที่เตรียมไว้หมดตอนอายุประมาณ 80 ปี

 

กรณีที่ 2 ถ้านำเงินเฟ้อมาคิด เงินที่ต้องเตรียมทั้งหมดคือ 21 ล้านบาท โดยถอนออกมาใช้เดือนละ 50,000 บาทในปีแรกและเพิ่มขึ้นปีละ 2.72% เท่ากับเงินเฟ้อ เพื่อที่จะสามารถซื้อสินค้าได้เท่าเดิมทุกปี

ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ จะต้องเก็บเงินเพิ่มขึ้นอีก 6 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ 1 เพื่อชดเชยกับสินค้าที่แพงขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มภาระการออมเพื่อการเกษียณมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ ในช่วงก่อนเกษียณที่ไม่สามารถทำให้บรรลุได้ทั้งหมด

ทางที่ดีต้องรู้จักการลงทุนหลังเกษียณเพื่อให้มีผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อ โดยพอร์ตการลงทุนควรจะเป็นพอร์ตการลงทุนที่รับความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ผลตอบแทนคาดหวังประมาณ 4% ต่อปี ซึ่งพอร์ตแนะนำจะประกอบด้วยตราสารทุนประมาณ 10 - 20% ส่วนที่เหลือเป็นตราสารหนี้และเงินฝาก ทำให้เงินที่ต้องเตรียมทั้งหมดก่อนการเกษียณเหลือเพียง 13 ล้านบาท ทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องนำมาคิดเสมอสำหรับการวางแผนการเกษียณ มิฉะนั้นเงินที่เตรียมไว้อาจไม่พอ ทำให้ช่วงเวลาที่เหลือของชีวิตต้องกลายเป็นภาระให้กับคนอื่นต่อไป

 

บทความโดย: ยุทธพงศ์ แสงรัตน์

 1002
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์