AEC เรื่องนี้ไม่รู้ไม่ได้แล้ว

AEC เรื่องนี้ไม่รู้ไม่ได้แล้ว

นักบัญชีมืออาชีพทุกท่าน ผมว่าเราก็ผ่านการทำรายการปรับปรุงบัญชีกันมาก็เยอะแล้ว และตอนนี้ก็คงถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องจัดทำรายการปรับปรุง (Adjustment) กับตัวเองกันเสียบ้าง เราลองมาสละเวลา และปากกา วางเครื่องคิดเลข เปิดตา เปิดใจ เปิดรับสิ่งใหม่ พร้อมกับตั้งใจเรียนรู้กันซะหน่อย เพราะเรื่องที่ดูจะวุ่นวาย ซับซ้อนก็อาจจะกลับกลายเป็นช่องทางของเราต่อไปในอนาคตได้ และอีกประการหนึ่งที่สำคัญเช่นกันก็คือมันเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาทุกที ครั้นจะไม่รับรู้ก็คงไม่ได้ เอาละไม่ต้องเสียเวลาพูดพร่ำทำเพลงกันนาน เล่าสู่กันฟังเลยละกัน

 

เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า ย้อนไปปี 2504 พันธมิตรเอเซีย 3 ประเทศ  ประกอบไปด้วย (พี่)ไทย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ร่วมกันจัดตั้งสมาคมแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ASA (Association of South east Asia)โดยมีวัตถุประสงค์จะร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่ทำไปทำมาดันเกิดเรื่องเข้าสิครับ เพราะเหตุผันผวนทางการเมืองระหว่างสาธารณรัฐอินโดนีเซียกับมาเลเซีย จนต้องหยุดชะงักไป 2 ปี (วิเคราะห์ว่าการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนั้นคงไม่ธรรมดาจริง ๆ) แต่ความตั้งใจที่จะรวมตัวกันก็ไม่ได้ถูกละความพยายามลง เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างเริ่มคลีคลาย (ดั่งคำที่ว่า ฟ้าหลังฝนย่อมดีกว่าเสมอ) วันที่ 8 สิงหาคม 2510 บรรดาประเทศทั้งหลายก็ร่วมแรงร่วมใจหันมาจับมือกันใหม่อีกครั้ง ก่อตั้งเป็น สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asia Nations) หรือเรียกชื่อเล่นของสมาคมนี้ว่า “ASEAN” งานนี้ไม่ได้มีแค่ 3 ประเทศอย่างที่ผ่านมาแล้วครับ  ASEAN ได้รับน้องใหม่เพิ่มอีก 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (เอา 3 ไว้ในใจ บวกไปอีก 2) รวมเป็น 5 ประเทศ แล้วครับ

 

การรวมกันคราวนี้ ทิศทางน่าจะรุ่งโรจน์ และไปได้สวยครับ จนวันที่ 7 มกราคม 2527 ก็ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่คือ บรูไนดารุสสลาม เข้ามาเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 ของบ้าน ASEAN (เป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อยนะครับ) ละจากนั้นไม่นาน (28 กรกฎาคม 2538) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็เข้ามาเป็นสมาชิกลำดับที่ 7, 8 และ 9 ตามลำดับ และท้ายสุด สุดท้าย ลำดับที่ 10 ราชอาณาจักรกัมพูชา ก็เดินทางเข้าสู่สมาคม ASEAN อย่างสมบูรณ์แบบ (จากจุดกำเนิดเล็ก ๆ จนเติบโตมีสมาชิกขนาดนี้ อนาคตคงแจ่มแน่นอน) ซึ่ง ณ เวลานี้สิริรวมแล้วสมาชิก 10 ประเทศ ครอบคลุมประชากรราว 600 ล้านคน ใหญ่โตไม่เบาเลยนะ ASEAN 

 

ฟังเรื่องราวความเป็นมาของ ASEAN กันแล้ว บางท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่า และเกี่ยวข้องอะไรกับ AEC เอาอย่างนี้ผมสรุปที่ไปที่มา และความสำคัญแบบรวบรัดแต่ได้ใจความเลยดีกว่า ASEAN คือกลุ่มประเทศ 10 ประเทศที่รวมตัวกัน จุดมุ่งหวังของการรวมกัน คือเพื่อที่จะดำเนินการให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยรูปแบบที่ตกลงกันก็คือที่มาของ AEC หรือชื่อเต็มว่า Asean Economics Community (จะว่าไป AEC ก็คล้ายคลึงกับ Euro Zone นั่นแหละครับ) ซึ่งก่อนที่จะมีผลประโยชน์ร่วมกันได้นั้น ก็ต้องมีการทำความตกลง ความเข้าใจกันก่อนว่าเราจะมีทิศทางอย่างไร ซึ่งก็จะจัดทำเป็น AEC Blueprint และบรรดาประเทศสมาชิกก็จะยึดถือข้อตกลงใน Blueprint เป็นเป้าหมายร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศเล็ก ๆ แต่ก็อยากจะมีอำนาจในการต่อรองกับประเทศคู่ค้าให้มากขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์ในการลดภาษีนำเข้า และส่งออก สำหรับสินค้าบางกลุ่ม บางประเภท อีกทั้งสามารถทำการค้าได้อย่างเสรี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น หรือจะกล่าวได้ว่า “เรา ASEAN รวมกันซะเพื่อให้เป็นทองแผ่นเดียวกัน ดีกว่า...เพราะอย่างน้อย เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหนเสีย”

 

มาถึงจุดนี้ อาจมีคำถามกลับมาว่ามี AEC แล้วจะกระทบอะไรกับเราบ้างหรือเปล่า? มันอาจดูไม่กระทบกระเทือน อะไรมากนัก สำหรับปี 2555  แต่อย่าลืมว่านักบัญชีอย่างเราเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคธุรกิจ เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนให้องค์กรดำเนินต่อไป ดังนั้น ฉไนเลยจะหนีพ้นที่จะไม่เรียนรู้ หรือทำความเข้าใจ สิ่งแรก ๆ ที่ควรจะต้องเตรียมพร้อมก็คือ ความรู้ในเรื่องมาตรฐานการบัญชี ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือทำมาหากินของเราเลยก็ว่าได้ ความรู้เกี่ยวกับภาษีอากร และประมวลรัษฎากร ที่ดูอาจจะยุ่งยากซับซ้อน แต่มันก็ไม่ยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ ภาษากลางของ AECที่แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาสากล แต่สำหรับการติดต่อระดับนานาชาติแล้วคงจะหนีไม่พ้นเป็นแน่แท้

 

คุยกันมาถึงตอนนี้ นี่เป็นบทความแรก เรียกน้ำย่อยกันเบา ๆ บาง ๆ ที่อยากนำเสนอให้เห็นภาพการเติบโตของ ASEAN เท่านั้น ผมเองยังมีสาระดี ๆ สำหรับนักบัญชีมืออาชีพอีกมากมาย คราวหน้าจะนำอะไรมาฝากอีกต้องติดตามกันตอนหน้าแล้วละ ไม่ว่าจะเป็นบทวิเคราะห์คาดการณ์การเติบโตของแต่ละประเทศหลังเปิด AEC, สัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยในอาเซียน, หรือแม้แต่แนวโน้มทิศทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักบัญชี การวางแผนการดำเนินธุรกิจ  และ   การวางแผนภาษี อย่างไรฝากติตดตามตอนต่อ ๆ ไปด้วย. . .ซาลามัต ดาตัง

https://www.dha.co.th

 1213
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์