มาถึงบทความที่สอง ซึ่งเป็นบทความสุดท้ายในเรื่อง การวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน (Operating Performance) กันแล้ว บทความที่แล้ว เราพูดถึงการนำสินทรัพย์ของกิจการ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ บทความนี้เราจะพูดถึง อัตราส่วน ความสามารถในการทำกำไร จากการดำเนินงาน (Operating Profitability Ratio) ซึ่งเป็นอัตราส่วน ที่มีความเกี่ยวข้องกับกำไรของกิจการ จะมีอะไรบ้าง ลองไปดูกันเลย
อัตรากำไรขึ้นต้น (Gross Profit Margin)
อัตรากำไรขั้นต้น = กำไรขั้นต้น/ยอดขายสุทธิ
*กำไรขั้นต้น (Gross Profit) = รายได้จากการขาย – ต้นทุนขาย
เมื่อเรานำรายได้จากการขาย หักด้วยต้นทุนขาย กำไรส่วนนี้เรียกว่า กำไรขั้นต้น ซึ่งอัตราส่วนกำไรขั้นต้น เป็นการวิเคราะห์กำไรขั้นต้นเปรียบเทียบกับยอดขายสุทธิ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึง โครงสร้างต้นทุนของกิจการ
อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit Margin)
อัตรากำไรจากการดำเนินงาน = กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยและภาษี/ยอดขายสุทธิ
กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ยและภาษี คือ กำไรขั้นต้น หักด้วยค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร อัตรากำไรจากการดำเนินงาน จะแสดงถึงความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ หากกิจการมีอัตรากำไรขึ้นต้นสูง แต่มีอัตรากำไรจากการตำเนินงานต่ำ แสดงให้เห็นว่า กิจการมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่สูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจการ
อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)
อัตรากำไรสุทธิ = กำไรสุทธิ/ยอดขายสุทธิ
กำไรสุทธิ คือ กำไรที่หักค่าใช้จ่ายต่างๆออกแล้ว และเหลือเป็นกำไรสำหรับกิจการ การวิเคราะห์อัตรากำไรสุทธิ ควรจะต้องวิเคราะห์จากส่วนที่ยังมีการดำเนินงานเป็นปกติ เพราะอัตรากำไรสุทธิ จะถูกนำไปวิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตของกิจการ หากวิเคราะห์อัตรากำไรสุทธิ จากส่วนงานที่เลิกดำเนินงานไปแล้ว จะส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิที่ได้ไม่สะท้อนความเป็นจริง
อัตราผลตอบแทนต่อเงินทุนรวม (Return on Total Invested Capital – ROIC)
อัตราผลตอบแทนต่อเงินทุนรวม = (กำไรสุทธิ+ดอกเบี้ยจ่าย)/เงินทุนรวมถัวเฉลี่ย
อัตราผลตอบแทนต่อเงินทุนรวม แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรจากเงินทุนรวมทั้งหมดของกิจการ ส่วนของเงินทุนรวมของกิจการ อาจใช้ส่วนของสินทรัพย์รวม หรือ เงินทุน+หนี้สินที่มีดอกเบี้ย (เงินทุนคือส่วนของเจ้าของ หนี้สินมีดอกเบี้ยคือเงินทุนส่วนที่ไปกู้ยืมมา)
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Owner’s Equity – ROE)
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของทุน = กำไรสุทธิ/ส่วนของทุนถัวเฉลี่ย
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น มีความสำคัญ และเป็นที่นิยมในการวิเคราะห์อย่างมาก เนื่องจากแสดงถึงความสามารถ ในการสร้างผลตอบแทนจากส่วนของเงินทุนที่ผู้ถือหุ้นนำมาลงทุน หลังจากจ่ายผลตอบแทน ให้แก่ผู้ลงทุนประเภทอื่นแล้ว
ถึงเวลาไปดูตัวอย่างกันแล้ววววว..
อัตรากำไรขึ้นต้น (Gross Profit Margin)
อัตรากำไรขั้นต้น = กำไรขั้นต้น/ยอดขายสุทธิ
= 1,394 MB/5,338 MB
= 0.2611
เมื่อนำ 0.2611*100 = 26.11% ซึ่งหมายความว่า เมื่อกิจการหักต้นทุนขายออกจากยอดขายสุทธิแล้ว กิจการจะมีกำไรขั้นต้น 26.11% จากยอดขายสุทธิ
อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit Margin)
อัตรากำไรจากการดำเนินงาน = กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยและภาษี/ยอดขายสุทธิ
= 476 MB/5,338 MB
= 0.0892
เมื่อนำ 0.0892*100 = 8.92% ซึ่งหมายความว่า เมื่อกิจการหักต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขายและค่าใช้จ่ายในการบริหาร ออกจากยอดขายสุทธิแล้ว กิจการจะมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 8.92% จากยอดขายสุทธิ
อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)
อัตรากำไรสุทธิ = กำไรสุทธิ/ยอดขายสุทธิ
= 368 MB/5,338 MB
= 0.0689
เมื่อนำ 0.0689*100 = 6.89% ซึ่งหมายความว่า เมื่อกิจการหักค่าใช้จ่ายทุกอย่าง รวมทั้งภาษีออกจากยอดขายสุทธิแล้ว กิจการจะมีกำไรสุทธิเท่ากับ 6.89% จากยอดขายสุทธิ
อัตราผลตอบแทนต่อเงินทุนรวม (Return on Total Invested Capital – ROIC)
อัตราผลตอบแทนต่อเงินทุนรวม = (กำไรสุทธิ+ดอกเบี้ยจ่าย)/เงินทุนรวมถัวเฉลี่ย
= 443 MB/8,739.5 MB
= 0.0507
เมื่อนำ 0.507*100 = 5.07% ซึ่งหมายความว่า กิจการสามารถสร้างผลตอบแทนจากเงินทุนรวมของกิจการได้เท่ากับ 5.07%
443 MB มากจาก กำไรสุทธิ (368 MB) + ดอกเบี้ยจ่าย (75 MB) ส่วนของเงินทุนรวมถัวเฉลี่ยในกรณีนี้ ใช้สินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย ((8,627 MB+8,852 MB)/2 = 8,739.5 MB)
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Owner’s Equity – ROE)
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของทุน = กำไรสุทธิ/ส่วนของทุนถัวเฉลี่ย
= 368 MB/5,891.5 MB
= 0.0625
เมื่อนำ 0.0625*100 = 6.25% ซึ่งหมายความว่า กิจการสามารถสร้างผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นได้เท่ากับ 6.25%
จบไปแล้ว สำหรับอัตราส่วน ความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profitability Ratio) ซึ่งเป็นหัวข้อในเรื่องของ การวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน (Operating Performance) หวังว่าจะเป็นประโยชน์ ในการช่วยเพิ่มความเข้าใจสำหรับทุกท่าน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างมากสำหรับการเรียนรู้ก็คือ “การฝึกฝน” อย่าลืมทำการบ้านกันอย่างสม่ำเสมอด้วยนะ
http://www.selfinvest.co