ในบทความนี้ เราจะพูดถึงอัตราส่วน สภาพคล่องภายใน (Internal Liquidity Ratio) 3 อัตราส่วน และ บทความต่อไป เราจะพูดถึงอีก 4 อัตราส่วนที่เหลือ โดย 3 อัตราส่วนที่จะพูดถึงในบทความนี้ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio)
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) = สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน
เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง สินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์เป็นอย่างมาก
ถ้าใช้ภาษาแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ เมื่อเจ้าหนี้บอกว่า ฉันต้องการจะให้เธอจ่ายหนี้ตอนนี้เลยนะ ถ้าเรานำสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดที่เรามีไปขาย เงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์นั้นจะเพียงพอกับจ่ายหนี้เหล่านั้นหรือไม่
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเร็ว (Quick Ratio)
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเร็ว (Quick Ratio) = (สินทรัพย์หมุนเวียน-สินค้าคงเหลือ)/หนี้สินหมุนเวียน
เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ ระหว่างสินทรัพย์หมุนเวียนที่มีสภาพคล่องสูง และ หนี้สินหมุนเวียน สามารถใช้แทนอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนได้ เนื่องจากในบางกรณี สินทรัพย์หมุนเวียนบางประเภท อาจจะไม่มีสภาพคล่อง จึงทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ชำระหนี้ระยะสั้นได้
อัตราส่วนเงินสด (Cash Ratio)
อัตราส่วนเงินสด (Cash Ratio) = (เงินสด+ลตต.)/หนี้สินหมุนเวียน
*ลตต. = หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด
เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง เงินสด และ หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด และ หนี้สินหมุนเวียน เป็นอัตราส่วนที่ใช้ความระมัดระวังที่สุด ในการวิเคราะห์สภาพคล่องภายในกิจการ
ที่บอกว่า เป็นอัตราส่วน ที่ใช้ความระมัดระวังที่สุดก็เพราะ ในบางครั้งสินค้าคงเหลือ อาจจะไม่มีสภาพคล่อง ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที ลูกหนี้การค้า ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า เมื่อเราเรียกเก็บหนี้แล้ว จะได้รับเงินในทันทีเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเราถูกเจ้าหนี้ เรียกให้ชำระหนี้ เงินสดที่เรามีอยู่ในมือ และ หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ในทันที จึงเป็นสินทรัพย์ ที่จะแสดงว่าเราจะมีความสามารถที่จะชำระหนี้นั้นได้มากน้อยเพียงใด
แน่นอนว่า น่าจะยังงงๆ ไม่ต้องห่วง เรามีตัวอย่างให้ดูเช่นเคย ลองไปดูกันเลย
ด้านบนคือรายละเอียดของรายการสินทรัพย์หมุนเวียน
ด้านบนคือรายระเอียดของรายการหนี้สินหมุนเวียน
เราลองมาดูตัวอย่างการคำนวณกัน
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio)
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) = สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน
= 14,359 MB/13,417 MB
= 1.07
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) ที่ได้ เท่ากับ 1.07 หมายความว่า ถ้าเราเป็นหนี้อยู่ 1 บาท และนำสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดไปเปลี่ยนเป็นเงินสดแล้ว เราจะได้เงินมา 1.07 บาท ซึ่งเมื่อนำไปชำระหนี้ 1 บาท เรายังเหลือเงินอยู่ 0.07 บาท
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเร็ว (Quick Ratio)
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเร็ว (Quick Ratio) = (สินทรัพย์หมุนเวียน-สินค้าคงเหลือ)/หนี้สินหมุนเวียน
= (14,359 MB – 1,735 MB)/13,417 MB
= 0.94
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเร็ว (Quick Ratio) ที่ได้ เท่ากับ 0.94 หมายความว่า ถ้าเราเป็นหนี้อยู่ 1 บาท และนำสินทรัพย์หมุนเวียนโดยหักมูลค่าของสินค้าคงเหลือออก ไปเปลี่ยนเป็นเงินสด เราจะได้เงินมา 0.94 บาท ซึ่งเมื่อนำไปชำระหนี้ 1 บาท เรายังคงเป็นหนี้อยู่อีก 0.06 บาท
อัตราส่วนเงินสด (Cash Ratio)
อัตราส่วนเงินสด (Cash Ratio) = (เงินสด+ลตต.)/หนี้สินหมุนเวียน
= (5,091 MB + 572 MB)/13,417 MB
= 0.42
อัตราส่วนเงินสด (Cash Ratio) ที่ได้ เท่ากับ 0.42 บาท หมายความว่า ถ้าเราเป็นหนี้อยู่ 1 บาท และนำเงินสดที่มี พร้อมทั้งขายหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด เราจะได้เงินมา 0.42 บาท ซึ่งเมื่อนำไปชำระหนี้ 1 บาท เรายังคงเป็นหนี้อยู่อีก 0.58 บาท นั่นเอง
*หมายเหตุ ในกรณีของอัตราส่วนเงินสด (Cash Ratio) ที่นำ 572 MB มารวมในการคำนวณ เพราะ เป็นเงินลงทุนชั่วคราว และเมื่อไปดูในหมายเหตุ 7 พบว่า เงินลงทุนชั่วคราวเหล่านั้น คือ เงินฝากประจำ และ เงินลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว
อย่าลืมว่า ตัวเลขที่คำนวณได้เหล่านี้ เราจะต้องนำไปเปรียบเทียบกับ อุตสาหกรรม กิจการอื่น หรือ ผลการดำเนินงานในอดีตของกิจการ เพื่อให้เห็นสภาพคล่องภายในของกิจการ ว่ากิจการมีความสามารถในการชำระหนี้สินระยะสั้นได้มากน้อยเพียงใด และถ้าตัวเลขที่คำนวณได้มีค่าสูงก็อาจจะไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป อาจเป็นการแสดงให้เห็นว่ากิจการมีสินทรัพย์จำนวนมากที่อาจจะไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นอย่าลืมเปรียบเทียบกับอุตสาหรรม หรือกิจการอื่นๆนะ
http://www.selfinvest.co