Big Data อาวุธการตลาด กำชัยปี 62

Big Data อาวุธการตลาด กำชัยปี 62

การตลาดแบบ One to One Marketing กำลังมา เอสเอ็มอีต้องปรับตัวรับมือ

        Technology Disruption กำลังรุกเข้าไปในทุกอณูห่วงโซ่ธุรกิจ ส่งผลให้หลายองค์กรต้องยกเครื่องปรับปรุงการทำงานเพื่อรับมือ พร้อมจัดการให้เทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามา ให้เกิดประโยชน์ มากกว่าเกิดผลเสียต่อภาคธุรกิจ เช่นเดียวกับการทำตลาด นับจากนี้ต้องมีการปรับตัวเพื่อรับเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีเป้าหมายเพื่อยึดใจผู้บริโภค ผลักดันยอดขาย และสร้างความแข็งแกร่งให้กิจการอยู่ได้อย่างยั่งยืน

     เมื่อการทำตลาดต้องยึดโยงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก ดังนั้น การเข้าถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและถูกต้อง

       ปัจจุบันสมาร์ท โฟน กลายมาเป็นสิ่งที่คนขาดไม่ได้ เพราะตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน อยู่กับมือถือเกือบตลอดเวลา จึงนับเป็นพื้นฐานแนวคิดในการปรับใช้เทคโนโลยีกับการตลาด

       ผลวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่สำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยปี 2561 พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตนานขึ้นเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 3 ชั่วโมง 41 นาทีต่อวัน

       นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยนิยมใช้โซเชียลมีเดีย อาทิ  Facebook, Instagram, Twitter และ Pantip สูงมากถึง 3 ชม. 30 นาทีต่อวัน ขณะที่การรับชมวีดีโอสตรีมมิ่ง เช่น YouTube หรือ Line TV มีชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชม.​ 35 นาทีต่อวัน ส่วนการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อสนทนา เช่น Messenger และ LINE เฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชม. ต่อวัน รวมถึงการเล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 1 ชม. 51  นาทีต่อวัน และการอ่านบทความหรือหนังสือทางออนไลน์อยู่ที่ 1 ชม.​ 31 นาทีต่อวัน

  

   

มือถือคือเครื่องมือตัดสินใจซื้อสินค้า          

       เมื่อเจาะลึกถึงกระบวนการในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค ที่จัดทำโดย กูเกิล ประเทศไทย ร่วมกับ นีลเส็น ระบุว่า ปัจจุบันสมาร์ทโฟน กลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาข้อมูล เพื่อตัดสินใจซื้อสินค้าไปแล้ว

       ขณะนี้ยอดขายโทรศัพท์ในไทยแต่ละปี คิดเป็นราวร้อยละ 25 ของจำนวนประชากรในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณใช้งานอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และร้อยละ 75 ของผู้บริโภคพบว่า เวลาชมโทรทัศน์มีการใช้งานสมาร์ทโฟนไปพร้อมๆ กัน ส่งผลให้คนไทยได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือมีช่องทางการค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายมากขึ้น

       ขณะเดียวกันยังพบว่า ผู้บริโภคที่เดินเข้าไปในร้านค้า มีจุดประสงค์ชัดเจนว่าต้องการจะซื้อผลิตภัณฑ์อะไร ตัวอย่างเช่น ร้อยละ 89 ที่ซื้อโทรศัพท์มือถือ ระบุว่า ได้เลือกแบรนด์หรือรุ่นก่อนที่จะไปซื้อสินค้าที่ร้านเรียบร้อยแล้ว สะท้อนให้เห็นชัดถึงการค้นหาข้อมูลสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อมากขึ้น

       นอกจากนี้ กว่า 9 ใน 10 ของคนที่ซื้อโทรศัพท์มือถือ  เปิดเผยว่า ได้ศึกษาหาข้อมูลส่วนใหญ่ผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อพวกเขามากที่สุด และมักเข้าไปหาข้อมูลออนไลน์จาก 2 แหล่งหลักๆ ได้แก่ เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของแบรนด์ต่างๆ และใช้ เสิร์ช เอนจิน (search engine) เป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เว็บไซต์หรือแหล่งข้อมูล

       ข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า สมาร์ทโฟน  อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย มีผลต่อการตัดสินใจซื้ออย่างมากสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน และนักการตลาดก็ควรใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาสร้างกิจกรรมการตลาด เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเห็นผล

ยุค Data สำคัญที่สุด           

       ขณะที่ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย โดย อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ นายกสมาคมฯ ให้ความเห็นว่า เทรนด์การตลาดในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ จะเป็นการเติบโตจากภายในสู่ภายนอก กล่าวคือ ผู้ประกอบการในประเทศจะมีโอกาสเติบโตมากขึ้น แต่ต้องมีการปรับตัวให้รวดเร็วและยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ

       สำหรับผู้ประกอบการ จะต้องเกาะติดพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเส้นทางการซื้อสินค้าของลูกค้า (Journey Customer) โดยมีเป้าหมายเพื่อนำข้อมูลเชิงลึก (Data) ของลูกค้ามาวิเคราะห์ และนำไปพัฒนาสินค้าและบริการ ตลอดจนสร้างสรรค์กิจกรรมการตลาดในรูปแบบต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะนำมาซึ่งการตัดสินใจซื้อ และสินค้าจะเป็นแบรนด์ที่ครองใจลูกค้าในที่สุด

ลงลึกแบบ One to On Marketing 

       อีกแนวโน้มที่สำคัญและเกิดขึ้นแน่นอนคือ การทำ Personalized Marketing หรือ การตลาดแบบส่วนบุคคล เรียกได้อีกอย่างว่า One to One Marketing อันเป็นการเสนอขายสินค้าหรือบริการให้ตรงกับที่ลูกค้าแต่ละบุคคลมากที่สุด โดยการจะได้มาซึ่งการทำตลาดเฉพาะบุคคล สิ่งสำคัญก็คือ การเก็บข้อมูลลูกค้าหรือบิ๊กดาต้า แล้วนำมาวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือต่างๆ (Data Analytics) เพื่อจัดกลุ่ม เลือกข้อมูลที่ต้องการแล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เช่น ทราบว่ากลุ่มผู้สูงอายุต้องใช้ช่องทางที่ไม่ซับซ้อนและเข้าถึงง่าย กลุ่มวัยรุ่นต้องเน้นภาพ เนื้อหา และการโต้ตอบ กลุ่มคนวัยทำงานเน้นช่องทางที่สามารถชำระค่าบริการได้อย่างเบ็ดเสร็จ เป็นต้น

   

  

       อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากผู้ประกอบการไม่ตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ยิ่งในยุคที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ 5G ที่จะมีผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้เร็วแบบเท่าทัน

ที่มา :https://www.bangkokbanksme.com/article/27802

 892
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์