ภาวะเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยไตรมาส 3/2558 (14 ธ.ค. 2558)

ภาวะเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยไตรมาส 3/2558 (14 ธ.ค. 2558)

โดย วัลดี แก้วพรหม
 
          "เศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยไตรมาส 3/2558 ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.18% ชะลอลงจากไตรมาสที่ 2/2558 มีมูลค่าธุรกิจโดยรวม 2.04 ล้านล้านบาท สร้างรายได้และทำกำไรทั่วประเทศรวมกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท สมาชิกมีความระมัดระวังการใช้จ่าย มีอัตราการออมเงินเฉลี่ยใกล้เคียงกับอัตราหนี้สินเฉลี่ย สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น”
 
          ภาวะเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยไตรมาสที่ 3/2558ธุรกิจโดยรวมขยายตัว 0.18% ชะลอลงจากไตรมาสที่แล้ว ที่ขยายตัวร้อยละ 2.32 ผลมาจากธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายและธุรกิจรวบรวมผลิตผล/แปรรูปลดลง จากข้อมูลรวบรวม (ณ วันที่ 30 กันยายน 2558) ภาคสหกรณ์ไทยทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 11,144 แห่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด (33%) แยกเป็นกลุ่มสหกรณ์ในภาคการเกษตร 3,854 แห่ง กลุ่มสหกรณ์นอกภาคการเกษตร 3,151 แห่ง และกลุ่มเกษตรกร 4,139 แห่ง โดยมีสมาชิกผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 12.43 ล้านคน คิดเป็น 19% ของประชากรทั้งประเทศ (จำนวน 65.18 ล้านคน) ขยายตัว 0.13 % มีทุนดำเนินงานรวมกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 0.64% เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
         1. ภาคการเกษตร ธุรกิจหดตัวร้อยละ 0.05 ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ที่ขยายตัวร้อยละ 0.03 ผลมาจากธุรกิจการจัดหาสินค้ามาจำหน่ายหดตัวร้อยละ 4.27 และธุรกิจการรวบรวมผลิตผล/แปรรูปหดตัวร้อยละ 1.19 มีมูลค่าธุรกิจโดยรวม 3.25 แสนล้านบาท โดยธุรกิจการให้เงินกู้ยืม (สินเชื่อ) สูงสุดจำนวน 9.47 หมื่นล้านบาท (29.19%) หรือเฉลี่ย 1.4 หมื่นบาทต่อคน รองลงมาธุรกิจรวบรวมผลิตผล/แปรรูป (26.77%) ธุรกิจรับฝากเงิน (22.63%) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (21.19%) และธุรกิจให้บริการและส่งเสริมการเกษตร (0.22%) ตามลำดับ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1.82 แสนล้านบาท สูงสุดของภาคสหกรณ์ไทย ส่วนค่าใช้จ่ายรวม 1.78 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.04 ของรายได้รวมทั้งสิ้น และมีกำไรสุทธิรวม 3.5 พันล้านบาท สมาชิกมีเงินออมเฉลี่ย 16,776 บาทต่อคน (ขยายตัว 4.05%) หนี้สินเฉลี่ย 23,410 บาทต่อคน (4.19%) โดยหนี้สินเฉลี่ยคิดเป็น 1.40 เท่าของเงินออมเฉลี่ย
 
         2. นอกภาคการเกษตร ธุรกิจขยายตัวร้อยละ 0.26 ชะลอลงจากไตรมาสที่แล้ว ที่ขยายตัวร้อยละ 2.80 ผลมาจากธุรกิจด้านการให้บริการหดตัวร้อยละ 5.83 และธุรกิจการจัดหาสินค้ามาจำหน่ายหดตัวร้อยละ 1.71 จากไตรมาสที่แล้ว มีมูลค่าธุรกิจโดยรวม 1.7 ล้านล้านบาท โดยธุรกิจการให้เงินกู้ยืม (สินเชื่อ) สูงสุด 1.08 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 63.22) หรือเฉลี่ย 2.10 แสนบาทต่อคน รองลงมาคือ ธุรกิจรับฝากเงิน (35.90%) และอื่นๆ (0.88%) ตามลำดับ รายได้รวมทั้งสิ้น 1.47 แสนล้านบาท มากเป็นอันดับสองรองจากสหกรณ์ในภาคการเกษตร ส่วนค่าใช้จ่ายรวม 8.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55.78 ของรายได้ทั้งสิ้น และมีกำไรสุทธิรวมสูงสุดมากเป็นอันดับหนึ่งของภาคสหกรณ์ไทยรวม 6.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94.64 ของกำไรสุทธิรวมทั้งระบบ สมาชิกมีเงินออมเฉลี่ย 295,975 บาทต่อคน (ขยายตัว 0.17%) มีหนี้สินเฉลี่ย 322,831 บาทต่อคน (ขยายตัว 0.16%) โดยหนี้สินเฉลี่ยคิดเป็น 1.09 เท่าของเงินออมเฉลี่ย
 
          3. กลุ่มเกษตรกร ธุรกิจหดตัวร้อยละ 7.71 ปรับตัวขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ที่หดตัวร้อยละ 12.88 ผลมาจากธุรกิจลงทุนหดตัวลงเกือบทุกด้าน โดยด้านธุรกิจการรวบรวมผลิตผล/แปรรูปหดตัวร้อยละ 11.16 ด้านการให้บริการต่าง ๆ หดตัวร้อยละ 8.74 ด้านการจัดหาสินค้ามาจำหน่ายหดตัวร้อยละ 8.76 ด้านการรับฝากเงินหดตัวร้อยละ 3.62 ยกเว้นธุรกิจด้านสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 3.28 มีมูลค่าธุรกิจรวมกันเท่ากับ 8.2 พันล้านบาท โดยธุรกิจรวบรวมผลิตผล/แปรรูปสูงสุดจำนวน 5,137 ล้านบาท (62.59%) หรือเฉลี่ย 9,322 บาทต่อคน รองลงมาคือ ธุรกิจสินเชื่อ (23.11%) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (11.30%) และอื่นๆ (3%) ตามลำดับ รายได้รวมทั้งสิ้นรวมกว่า 6.5 พันล้านบาท (หดตัว 10.09%) ส่วนค่าใช้จ่ายรวม 6.4 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.07 ของรายได้ทั้งสิ้น มีกำไรสุทธิกว่า 126 ล้านบาท สมาชิกมีเงินออมเฉลี่ย 1,921 บาทต่อคน (ขยายตัว 4.84%) มีหนี้สินเฉลี่ย 3,801 บาทต่อคน (ขยายตัว 3.78%) มีหนี้สินเฉลี่ยคิดเป็น 1.98 เท่าของเงินออมเฉลี่ย
         
          ธุรกิจหลักของภาคสหกรณ์การลงทุนในธุรกิจสำคัญของภาคสหกรณ์ไทย 5 ธุรกิจ เพื่อให้บริการแก่สมาชิก ประกอบด้วย 1) ธุรกิจรับฝากเงิน 2) ธุรกิจให้เงินกู้ยืม(สินเชื่อ) 3) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย 4) ธุรกิจรวบรวมผลิตผล/แปรรูป และ5) ธุรกิจการให้บริการต่าง ๆ พบว่า ธุรกิจโดยรวมขยายตัวเล็กน้อยอยู่ที่ 0.18% จากไตรมาสที่ 2/2558 คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.04 ล้านล้านบาท โดยธุรกิจการให้เงินกู้ยืม(สินเชื่อ) สูงสุด 57.64% ของมูลค่าธุรกิจรวมทั้งสิ้นของภาคสหกรณ์ไทย หากเจาะลึกลงไปในแต่ละธุรกิจมีรายละเอียดดังนี้
 
          1) ให้เงินกู้ยืม (สินเชื่อ) ขยายตัวร้อยละ 0.36 สูงขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว ที่ขยายตัวร้อยละ 0.25 นับเป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญมากต่อการดำรงชีพของมวลสมาชิกสหกรณ์ใช้บริการค่อนข้างสูงถึง 57.64% ของมูลค่าธุรกิจรวมทั้งสิ้น มีมูลค่าการให้สินเชื่อรวมกว่า 1.1 ล้านล้านบาทต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 9.8 หมื่นล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเฉลี่ย 9.4 หมื่นบาทต่อคน แบ่งเป็นสินเชื่อนอกภาคการเกษตรมีปริมาณการให้สินเชื่อสูงสุดรวมกว่า 1.08 ล้านล้านบาท คิดเป็น 92% ของยอดเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น โดยมีหนี้สินเฉลี่ย 2.1 แสนบาทต่อคน ขณะที่ยอดการให้สินเชื่อในภาคการเกษตร มีเพียง 9.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 8% ของยอดสินเชื่อรวมทั้งสิ้น และมีหนี้สินเฉลี่ย 1.4 หมื่นบาทต่อคน
 
          2) รับฝากเงิน ธุรกิจขยายตัวร้อยละ 0.63 ชะลอลงจากไตรมาสที่แล้ว ที่ขยายตัวร้อยละ 7.41 เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ซึ่งขยายตัวมากกว่าธุรกิจสินเชื่อ ในรอบปีมียอดเงินรับฝากคิดเป็นมูลค่ากว่า 6.8 แสนล้านบาท หรือคิดเฉลี่ยเดือนละ 5.5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็นยอดเงินรับฝากนอกภาคการเกษตร มีปริมาณสูงสุดเท่ากับ 6.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 89% ของยอดเงินรับฝากทั้งสิ้น โดยมีเงินออมเฉลี่ย 1.2 แสนบาทต่อคน ส่วนภาคการเกษตร มียอดเงินรับฝากเพียง 7.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 10% และมีเงินออมเฉลี่ย 1.1 หมื่นบาทต่อคน
 
         3) จัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจหดตัวร้อยละ 4.01 เทียบกับไตรมาสที่แล้ว หดตัวที่ร้อยละ 4.79 มียอดมูลค่าการจัดหาสินค้ามาจำหน่ายรวมกว่า 7.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเฉลี่ยเดือนละ 6.4 พันล้านบาทต่อเดือน โดยภาคการเกษตร มียอดการจัดหาสินค้ามาจำหน่ายสูงสุดกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 86% ของยอดเงินจัดหาสินค้ามาจำหน่ายทั้งระบบ ขณะที่นอกภาคการเกษตรมีจำนวน 1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 12%
 
         4) รวบรวมผลิตผล/แปรรูป ธุรกิจหดตัวร้อยละ 1.71 ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ที่ขยายตัวร้อยละ 0.34 มีมูลค่าการรวบรวมผลิตผล/แปรรูปทั้งสิ้น 9.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเฉลี่ยเดือนละ 7.7 พันล้านบาท โดยภาคการเกษตรมีปริมาณการรวบรวมผลิตผล/แปรรูปสูงสุด 8.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 90% ของยอดเงินรวบรวมผลิตผล/แปรรูปทั้งระบบ และนอกภาคการเกษตรมีจำนวนกว่า 3.9 พันล้านบาท คิดเป็น 4%
 
         5) การให้บริการและส่งเสริมการเกษตร ธุรกิจหดตัวร้อยละ 4.22 ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ที่ขยายตัวร้อยละ 1.33 มีมูลค่ารวมกว่า 1.8 พันล้านบาท หรือคิดเฉลี่ยเดือนละ 150 ล้านบาท โดยนอกภาคการเกษตรมีปริมาณการให้บริการสูงสุดเท่ากับ 1.1 พันล้านบาท คิดเป็น 61% ของยอดเงินให้บริการทั้งระบบ ขณะที่ภาคการเกษตร มีจำนวนเท่ากับ 707 ล้านบาท คิดเป็น 38%
 
         บทสรุป ภาวะเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยไตรมาสที่ 3/2558 โดยภาพรวมเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 2 มีกำไรทุกกลุ่มทั้งภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร โดยมียอดกำไรรวมทั้งสิ้น 68,694 ล้านบาท นอกภาคการเกษตรทำกำไรสูงสุด 6.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 95 % ของกำไรสุทธิทั้งระบบ (เกษตร 3,466 ลบ., ประมง 4.8 ลบ., นิคม 84.5 ลบ. ร้านค้า 193 ลบ., บริการ 96 ลบ., ออมทรัพย์ 66,578 ลบ., เครดิตยูเนี่ยน -1,856 ลบ., กลุ่มเกษตรกร 126.4 ลบ.) รายได้หดตัว 1.38% จากไตรมาสที่แล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายหดตัวลงเช่นเดียวกัน 1.32 % โดยหนี้สินเฉลี่ยต่อคนขยายตัว 0.50 % จากไตรมาสที่แล้ว หรือเฉลี่ย 1.31 แสนบาทต่อคน ขณะที่เงินออมเฉลี่ยขยายตัว 0.43% จากไตรมาสที่แล้ว หรือเฉลี่ย 1.46 แสนบาทต่อคน
 
          สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยในภาพรวมทั้งปี 2558 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ดังนั้น ภาคสหกรณ์ไทยต้องเตรียมความพร้อมหามาตรการต่าง ๆ ในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าสหกรณ์ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจภายในประเทศ การเมือง รวมทั้ง สถานการณ์ภัยแล้ง และภัยธรรมชาติต่าง ๆ ช่วงปลายปี 2558 ประกอบกับการชะลอตัวของการบริโภคของภาคสหกรณ์ไทย และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวช้า ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจภาคสหกรณ์ไทย 
ที่มา: กลุ่มวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ,พ.ศ.2558
 682
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์