ภาวะเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยไตรมาสที่ 4/2557 (27 มี.ค. 2558)

ภาวะเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยไตรมาสที่ 4/2557 (27 มี.ค. 2558)

โดย วัลดี แก้วพรหม
 
          "เศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยไตรมาสที่ 4/2557 ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.58% จากไตรมาสที่แล้ว มีปริมาณธุรกิจโดยรวม 1.96 ล้านล้านบาท สร้างรายได้และทำกำไรทั่วประเทศกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กำไรขยายตัว 4.56% สมาชิกมีการก่อหนี้สินเฉลี่ยลดลง และชะลอการออมเงิน คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีหน้า น่าจะดีขึ้นและขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5-1.5”
 
          จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามการใช้จ่ายเงินของภาครัฐในโครงการ ต่าง ๆ และนโยบายที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้และลดค่าครองชีพให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศให้ขยายตัว ด้านการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบจากความไม่แน่นอนในการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ รวมทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น สภาพดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย ตลอดจนภาวะหนี้ครัวเรือนค่อยข้างสูง ส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนชะลอตัวลง
          สำหรับเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยไตรมาสที่ 4/2557
ธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.58% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2557 เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ปัจจัยสำคัญมาจากอุปสงค์ด้านเงินฝากและด้านสินเชื่อ รวมถึงการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคการผลิตและบริการ จากข้อมูลรวบรวม (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557) ธุรกิจภาคสหกรณ์ไทยทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 11,107 แห่ง โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด (32.60%) แยกเป็นธุรกิจกลุ่มสหกรณ์ในภาคการเกษตร 3,830 แห่ง และธุรกิจกลุ่มสหกรณ์นอกภาคการเกษตร 3,116 แห่ง และธุรกิจกลุ่มเกษตรกร 4,161 แห่ง โดยมีสมาชิกผู้รับบริการรวมทั้งสิ้น 12.30 ล้านคน คิดเป็น 18.98% ของประชากรไทยทั้งประเทศ โดยมีทุนดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 2.36 ล้านล้านบาท แต่ละกลุ่ม มีดังนี้
          1. กลุ่มสหกรณ์ในภาคการเกษตร ธุรกิจหดตัวร้อยละ 0.34 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว ที่หดตัว ร้อยละ 0.99 ปัจจัยมาจากธุรกิจให้กู้ยืมเงิน (สินเชื่อ) ที่ขยายตัวร้อยละ 0.72 มีปริมาณธุรกิจโดยรวม 324,231 ล้านบาท โดยธุรกิจรวบรวม/แปรรูปผลิตผลมีปริมาณสูงสุดจำนวน 89,113 ล้านบาท (27.49%) หรือเฉลี่ยคนละ 13,308 บาท รองลงมาธุรกิจสินเชื่อ (26.68%) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (23.38%) ธุรกิจรับฝากเงิน (22.28%) และธุรกิจให้บริการและส่งเสริมการเกษตร (0.17%) ตามลำดับ ธุรกิจสร้างรายได้รวมทั้งสิ้น 189,957 ล้านบาท สูงสุดของภาคสหกรณ์ไทย มีค่าใช้จ่ายรวม 185,459 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97.63 ของรายได้รวมทั้งสิ้น และมีกำไรสุทธิรวม 4,498 ล้านบาท ส่งผลให้สมาชิกมีเงินออมเฉลี่ยคนละ 15,582 บาท (ขยายตัว 2.11 %) ขณะที่หนี้สินเฉลี่ยคนละ 21,662 บาท (ขยายตัว 2.42%) โดยหนี้สินเฉลี่ยคิดเป็น 1.39 เท่าของเงินออมเฉลี่ย
 
         2. กลุ่มสหกรณ์นอกภาคการเกษตร ธุรกิจขยายตัวร้อยละ 0.77 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ที่หดตัวร้อยละ 0.07 ปัจจัยมาจากธุรกิจด้านการรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 6.22 มีปริมาณธุรกิจรวม 1.63 ล้านล้านบาท โดยธุรกิจสินเชื่อมีปริมาณสูงสุด 1.10 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 67.15) หรือเฉลี่ยคนละ 218,084 บาท รองลงมาคือ ธุรกิจรับฝากเงิน (32.06%) และอื่นๆ (0.79%) ตามลำดับ ธุรกิจสร้างรายได้รวมทั้งสิ้น 140,355 ล้านบาท มากเป็นอันดับสองรองจากกลุ่มธุรกิจสหกรณ์ในภาคการเกษตร มีค่าใช้จ่ายรวม 90,146 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.23 ของรายได้รวมทั้งสิ้น ทำกำไรสุทธิมียอดสูงสุดในภาคสหกรณ์ไทย 50,209 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 91.57 ของกำไรสุทธิรวมทั้งระบบ สมาชิกมีเงินออมเฉลี่ยคนละ 283,174 บาท (ขยายตัว 3.86 %) ส่วนหนี้สินเฉลี่ยคนละ 319,014 บาท (ขยายตัว 3.40 %) โดยหนี้สินเฉลี่ยคิดเป็น 1.13 เท่าของเงินออมเฉลี่ย
 
          3. กลุ่มเกษตรกร ธุรกิจหดตัวร้อยละ 0.94 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ที่หดตัวร้อยละ 4.70 เป็นผลมาจากด้านการรวบรวม/แปรรูปผลิตผลที่ขยายตัวร้อยละ 0.76 มีปริมาณธุรกิจรวมทั้งสิ้น 10,170 ล้านบาท พบว่า ธุรกิจรวบรวม/แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรมีปริมาณสูงสุดจำนวน 7,007 ล้านบาท (67.74%) หรือคิดเฉลี่ยคนละ 12,253 บาท รองลงมาคือ ธุรกิจสินเชื่อ (17.92%) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (11.39%) และอื่นๆ (2.95%) ตามลำดับ สร้างรายได้รวมทั้งสิ้น 8,954 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 8,828 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิรวม 126 ล้านบาท ส่งผลให้สมาชิกมีเงินออมเฉลี่ยคนละ 1,773 บาท (ขยายตัว 0.04%) และมีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 3,640 บาท (ขยายตัว 2.21 %) โดยหนี้สินเฉลี่ย คิดเป็น 2.05 เท่าของเงินออมเฉลี่ย ค่อนข้างสูง
 
          สำหรับธุรกิจลงทุนของภาคสหกรณ์ไทย การลงทุนในธุรกิจที่สำคัญของภาคสหกรณ์ไทย 5 ธุรกิจ เพื่อให้บริการแก่สมาชิก ประกอบด้วย 1) ธุรกิจรับฝากเงิน 2) ธุรกิจให้เงินกู้ยืม(สินเชื่อ) 3) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย 4) ธุรกิจรวบรวม/แปรรูปผลิตผล และ5) ธุรกิจการให้บริการอื่นๆ คิดเป็นปริมาณธุรกิจรวมทั้งสิ้น 1.97 ล้านล้านบาท พบว่า ธุรกิจโดยรวมขยายตัว 0.58% จากไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากธุรกิจการรับฝากเงินขยายตัวเพิ่มขึ้น และ ธุรกิจรวบรวม/แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเริ่มฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย โดยธุรกิจการให้เงินกู้ยืม (สินเชื่อ) มีปริมาณสูงสุด 1.18 ล้านล้านบาท (หดตัว 1.44%) ของปริมาณธุรกิจรวมทั้งสิ้นของภาคสหกรณ์ไทย จำแนกตามธุรกิจมีดังนี้

          1) ให้เงินกู้ยืม (สินเชื่อ) หดตัวร้อยละ 1.44 ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ที่ขยายตัวร้อยละ 0.07 นับเป็น ธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญมากต่อการดำรงชีพของมวลสมาชิกสหกรณ์มีสมาชิกใช้บริการค่อนข้างสูงถึง 60.23% ของปริมาณธุรกิจรวมทั้งสิ้น มีการให้สินเชื่อรวมทั้งสิ้น 1.18 ล้านล้านบาทต่อปี เฉลี่ยตกเดือนละ 98,808 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเฉลี่ยคนละ 96,399 บาท แยกเป็นสินเชื่อ กลุ่มนอกภาคการเกษตรมีปริมาณการให้สินเชื่อสูงสุดเท่ากับ 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 93% ของยอดเงินให้สินเชื่อรวมทั้งสิ้น โดยสมาชิกมีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 319,014 บาท สำหรับกลุ่มในภาคการเกษตร มีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 21,662 บาท ส่วนกลุ่มเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 3,640 บาท
         2) รับฝากเงิน ขยายตัวร้อยละ 5.28 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ที่หดตัวร้อยละ 0.49 เป็นธุรกิจที่มี ความสำคัญไ2น้อยไปกว่ากัน ซึ่งขยายตัวมากกว่าธุรกิจสินเชื่อ ในรอบปีมียอดเงินรับฝากคิดเป็นมูลค่ารวม 596,440 ล้านบาท หรือคิดเฉลี่ยรับฝากเงินเดือนละ 49,703 ล้านบาทต่อเดือน แยกเป็นยอดเงินรับฝากนอกภาคการเกษตร มีปริมาณสูงสุดเท่ากับ 523,954 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87.84% ของยอดเงินรับฝากรวมทั้งสิ้น สมาชิกมีเงินออมเฉลี่ย คนละ 283,174 บาท ส่วนสมาชิกกลุ่มภาคการเกษตร มีเงินออมเฉลี่ยคนละ 15,582 บาท 
          3) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย หดตัวร้อยละ 0.12 ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ที่ขยายตัวร้อยละ 2.02 มีปริมาณการจัดหาสินค้ามาจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 87,190 ล้านบาท หรือคิดเฉลี่ยตกเดือนละ 7,265 ล้านบาทต่อเดือน โดยในภาคการเกษตร มียอดการจัดหาสินค้ามาจำหน่ายสูงสุดเท่ากับ 75,818 ล้านบาท คิดเป็น 86.96% ของยอดเงินจัดหาสินค้ามาจำหน่ายทั้งระบบ ขณะที่นอกภาคการเกษตรมีจำนวนเท่ากับ 10,269 ล้านบาท คิดเป็น 11.78% 
          4) ธุรกิจรวบรวม/แปรรูปผลิตผล หดตัวร้อยละ 1.19 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ที่หดตัวร้อยละ 4.55 เป็นผลมาจากการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรและมาตรการสินเชื่อต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยมีปริมาณการรวบรวม/แปรรูปทั้งสิ้น 97,689 ล้านบาท หรือคิดเฉลี่ยตกเดือนละ 8,140 ล้านบาทต่อเดือน พบว่า ในภาคการเกษตรมีปริมาณการรวบรวม/แปรรูปผลิตผลสูงสุดเท่ากับ 89,113 ล้านบาท คิดเป็น 91.22% ของยอดเงินรวบรวม/แปรรูปผลิตผลทั้งระบบ และนอกภาคการเกษตรมีจำนวนเท่ากับ 1,569 ล้านบาท คิดเป็น 1.61% 
          5) ธุรกิจการให้บริการและส่งเสริมการเกษตร หดตัวร้อยละ 0.48 เท่ากับไตรมาสที่แล้ว มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 1,654 ล้านบาท หรือคิดเฉลี่ยตกเดือนละ 137 ล้านบาท โดยนอกภาคเกษตรมีปริมาณการให้บริการสูงสุดเท่ากับ 1,073 ล้านบาท คิดเป็น 64.87% ของยอดเงินให้บริการทั้งระบบ ขณะที่ในภาคการเกษตรมีจำนวนเท่ากับ 552 ล้านบาท คิดเป็น 33.37%
 
          ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4/2557 พบว่า สามารถทำกำไรได้ทุกกลุ่มทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร กำไรขยายตัว 4.56 % เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ที่หดตัว 0.50 % โดยมียอดกำไรรวมทั้งสิ้น 54,833 ล้านบาท นอกภาคการเกษตรทำกำไรสูงสุด 50,209 ล้านบาท คิดเป็น 91.57% ของกำไรสุทธิทั้งระบบ มีรายได้ขยายตัว 1.74% จากไตรมาส ที่แล้ว มากกว่าค่าใช้จ่ายที่ขยายตัว 1.21% ส่งผลให้กำไรขยายตัว 4.56% จากไตรมาสที่แล้ว
 
         บทสรุป ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยไตรมาสที่ 4 สุดท้ายของปี 2557 ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น สามารถสร้างรายได้ และทำกำไรทั้งในกลุ่มภาคการเกษตรและกลุ่มนอกภาคการเกษตร สำหรับหนี้สินเฉลี่ยของสมาชิกกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรมีการก่อหนี้ขยายตัว 2.41 % มากกว่าการขยายตัวของการออมเงิน 2.11 % ขณะที่กลุ่มสหกรณ์นอกภาคการเกษตรมีการออมเงินเฉลี่ยขยายตัว 3.86 % มากกว่าการขยายตัวของหนี้สินเฉลี่ย 3.40 % และกลุ่มเกษตรกรมีการออมเงินเฉลี่ยขยายตัว 4.21 % มากกว่าการขยายตัวของหนี้สินเฉลี่ย 2.21 %
 
         สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยปีหน้า 2558 คาดว่าจะขยายตัวจากปี 2557 อยู่ในช่วง ร้อยละ 0.5-1.5 โดยสหกรณ์ควรหามาตรการในการลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อเพิ่มกำไร และสะสมเงินสำรองให้เพิ่มขึ้น ตลอดจนการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เติบโตได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี การดำเนินมาตรการในการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรและสินเชื่อต่าง ๆ ของภาครัฐที่ผ่านมา และการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับการดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุนการผลิตภาคเกษตร และผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนให้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 

ที่มา: กลุ่มวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ,พ.ศ.2557

 853
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์