6 แผนการเงินที่ควรทำ

6 แผนการเงินที่ควรทำ

คุณรึเปล่า ที่เมื่อต้นปีหมายมั่นปั้นมือว่าปีนี้อยากจะมี "แผนการเงินส่วนตัว" แต่ผ่านพ้นไปครึ่งปีแล้ว ทุกอย่างยังเป็นวุ้นอยู่เลย....ไม่เป็นไร ยังเหลืออีกตั้งครึ่งปี ยังไม่สายเกินไปหรอก ถ้าคุณจะลงมือจัดทำแผนการเงินส่วนตัวอย่างจริงจัง หลายคนยังมีข้ออ้างเดิมๆ ว่าไม่มีเวลา แต่ก็มีอีกไม่น้อยเหมือนกันที่อาจจะเก้ ๆ กังๆ เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นลงมือจากตรงไหนดี

 

***********

เส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงินจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากคุณยังใช้ชีวิตแบบปล่อยปละละเลย ขาดแผนการเงิน (FINANCIAL PLAN) ที่จะช่วยเป็นสะพานสานฝันให้คุณ เพราะแผนการเงินจะเป็นตัวกำหนดทิศทาง และตัดสินใจทางการเงิน เพื่อให้คุณสามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินอย่างที่คุณต้องการ ยิ่งเริ่มต้นวางแผนการเงินเร็วมากเท่าไหร่ และตามติดด้วยความมีวินัย ความสม่ำเสมอ คนๆ นั้นก็เข้าใกล้อิสรภาพทางการเงินเข้าไปทุกที ดังนั้นถ้าหากไม่อยากให้ตัวเองลำบากตอนแก่ รีบลงมือวางแผนการเงินของตัวเองซะ จัดระเบียบการใช้เงินที่ได้รับมาแต่ละเดือนให้ดี อย่าใช้ให้มากกว่าหามาได้เท่านี้ก็น่าจะทำให้มีเงินทองกองอยู่รอบตัวได้ไม่ยากนัก

การวางแผนการเงินที่ดีนั่นหมายถึง การเริ่มต้นคิดว่า เราควรจะมีเงินใช้จ่ายไปตลอดชีวิต อย่างมีความสุข โดยเป็นเรื่องไม่ยากเลย และไม่ต้องการเวลาในการคิดมากนัก แต่สิ่งที่ต้องการ คือ "วินัยการใช้จ่าย" "ความอดทน" และ "เป้าหมายของการมีชีวิตที่ดี" เพียงแค่ 3 สิ่งนี้ก็ทำให้เราก้าวสู่การเริ่มวางแผนการเงินได้แล้ว  แต่ก่อนที่จะลงรายละเอียดไปทำแผนการเงินในแง่มุมต่างๆ ลอง "กำหนดเป้าหมายทางการเงิน" ของตัวเองก่อน เพราะแผนการเงินที่ดีต้องมีเป้าหมายที่วัดผลได้ เช่น "อยากปลดเปลื้องหนี้สินที่อีนุงตุงนังให้พ้นจากชีวิต" "อยากสบายช่วงบั้นปลายชีวิต" "อยากส่งลูกเรียนหนังสือในต่างประเทศ" "อยากลงทุนทำธุรกิจเล็กๆ สักอย่าง" "อยากเก็บเงินไว้เดินทางรอบโลก" เหล่านี้คือเป้าหมายทางการเงินที่แต่ละคนมีความแตกต่างกัน

@แผนการออม......ไม่ว่าคุณจะมีเป้าหมายอะไรก็ช่าง แต่เป้าหมายของคุณอาจเป็นหมันก็ได้ ถ้าคุณขาดเงินออม เพราะเงินออมช่วยสานฝันทุกอย่างให้เป็นจริงได้ ก่อนอื่นศึกษาช่องทางการออมให้รอบด้านที่มากกว่าการฝากแบงก์ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร สลาก สหกรณ์ แล้ว "เลือกช่องทางออมที่เหมาะสม" กับตัวคุณเอง ตั้งโจทย์ด้วยว่าคุณต้องการผลตอบแทนสักเท่าไหร่ เพราะผลตอบแทนที่สูงย่อมมาพร้อมความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเสมอ แต่เมื่อไหร่ที่เริ่มควักกระเป๋าออมไปแล้ว ก็ต้องรักษาวินัยไว้อย่างเหนียวแน่น อย่าปล่อยให้กิเลส และความอยาก มาทำลายแผนทางการออมของคุณให้ล้มลงไม่เป็นท่า หลังจากเริ่มลงมือออมได้ไม่เท่าไหร่   ข้อสำคัญต้องออมอย่างพอเหมาะพอดี และสอดรับกับเงื่อนไขทางการเงินของคุณ แล้วคุณจะรู้สึกว่าการออมไม่เป็นภาระ และออมได้อย่างสม่ำเสมอ เช่นคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนมีรายได้เดือนละ 2 หมื่นบาท มีเป้าหมายอยากเก็บเงินไว้เปิดร้านกาแฟเล็กๆ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ประมาณ 1แสนบาท แต่ไหนจะต้องผ่อนบ้าน และจัดสรรเงินเป็นค่าใช้จ่ายประจำเดือน แบบนี้ถ้าจะออมเดือนละ 20% หรือเดือนละ 4 พันบาทก็ถือว่าไม่มากเกินไป คุณใช้เวลาออมประมาณ 2 ปี ก็น่าจะมีทุนเปิดร้านกาแฟได้

@แผนการลงทุน.....เพราะการจะเดินสู่อิสรภาพทางการเงินได้แค่ออมเงินอย่างเดียวคงถึงช้าน่าดู ทางที่ดีควรจะมองหาการลงทุนในช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น กองทุนประเภทต่างๆ อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ ไม่ว่าแผนการลงทุนของคุณจะเป็นอย่างไร ต้องไม่ลืมกฎ "การกระจายความเสี่ยง" อย่างเด็ดขาด และเช่นเดียวกับการออมคือเลือกลงทุนในช่องทางที่มีความเสี่ยงในระดับที่คุณรับได้ แล้วศึกษาข้อดีข้อเสียของการลงทุนนั้นอย่างรอบด้าน ไม่เพียงเท่านั้น แต่แผนการลงทุนในแต่ละปีอาจจะถูกปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ และตัวแปรในช่วงนั้นๆ ฉะนั้นปีก่อนคุณอาจจะให้น้ำหนักในหุ้น แต่ปีนี้คุณอาจจะเปลี่ยนให้น้ำหนักทองคำหรือตราสารหนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคอยปรับให้เหมาะกับสถานการณ์การลงทุน  จริงอยู่ที่คุณควรจะจัดสรรการลงทุนให้มีทั้งแบบระยะสั้น และระยะยาว แต่หลักของการลงทุนที่จะทำให้เงินของคุณงอกเงยอย่างยั่งยืน คือ การลงทุนระยะยาว ฉะนั้นถ้าไม่อยากเผชิญหน้ากับความผันผวนที่เกิดขึ้นในระยะสั้น คุณก็ควรมุ่งลงทุนระยะยาวจะดีกว่า

"จดรายละเอียดการลงทุนทุกอย่างทุกช่องทางตั้งแต่ต้นปีว่า ลงทุนอะไรเท่าไหร่ พอกลางปีมาดูผลตอบแทนว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ถ้าไม่ค่อยเข้าที จะได้ปรับพอร์ตทัน แล้วปลายปีค่อยมาดูอีกทีว่าเฉลี่ยทั้งปีได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ อะไรได้ต่ำกว่าเป้าหมายอะไรได้เกินกว่าเป้าหมาย"

@แผนการบริหารหนี้.....ในยุคที่หนี้กลายเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33ติดตัวหลายคน หนึ่งในภารกิจของหลายคนที่จำเป็นต้องทำคือ แผนการบริหารหนี้ เพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้สินให้พ้นตัว   แต่ใช่ว่าการสะสางหนี้จะทำกันได้ง่ายๆ เพราะหลายคนไม่ได้มีแค่หนี้ที่กู้ซื้อบ้านอย่างเดียว แต่ยังมีหนี้บัตรเครดิต ผ่อนรถ หนี้จากกู้เงินด่วน และหนี้นอกระบบผสมผสานปนเปกันให้วุ่นไปหมด นั่นเป็นเหตุที่คุณควรจะทำแผนการบริหารหนี้อย่างชัดเจน  เพราะทั้งแผนการออม และแผนการลงทุนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าคุณยังไม่กำจัดหนี้ให้พ้นตัว  แผนการบริหารหนี้ทำอย่างไรดี เริ่มจากเราต้องรู้เท่าทันหนี้ก่อน ว่าปัจจุบันเรามีหนี้ทุกประเภทรวมทั้งหมดเท่าไหร่ เมื่อตั้งใจจะสะสางหนี้ก้อนเดิม ก็ต้องหยุดสร้างหนี้ก้อนใหม่หรืออย่าสร้างหนี้เพิ่ม มาซ้ำเติมตัวเองอีก สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องรู้จักใช้จ่ายให้เป็น ควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เปลี่ยนนิสัยใช้จ่ายจากเดิมที่ชอบใช้จ่ายเกินตัวก็ระมัดระวังการใช้จ่ายให้มากขึ้น

เอาล่ะเตรียมพร้อมกันแล้ว คราวนี้ก็มุ่งมั่นกำจัดหนี้เก่า มาถึงตรงนี้ ถ้าหนี้ก้อนใหญ่คุณอาจจะต้องตั้งสติให้มั่น หาวิธีปลดหนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป จัดลำดับความสำคัญของหนี้ที่ต้องเร่งชำระก่อนหลัง เช่น ถ้าเป็นหนี้นอกระบบเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็อาจจะต้องหาทางกู้ในระบบออกไปปลดหนี้นอกระบบก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้น้อยลง จากนั้นค่อยมาผ่อนชำระกับสถาบันการเงิน

@แผนบริหารความเสี่ยง..... โลกทุกวันนี้เอาแน่เอานอนอะไรไม่ค่อยได้ ความเสี่ยง เรื่องราวไม่คาดฝัน และอุบัติเหตุชีวิตอาจมาเคาะประตูบ้านเมื่อไหร่ก็ไม่รู้    ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่มีใครสามารถป้องกันความเสี่ยงทุกๆ อย่างที่เราต้องเผชิญในชีวิตได้ แต่เรามีหนทางที่เราสามารถป้องกันความเสี่ยงทางการเงินได้ ซึ่งความเสี่ยงทางการเงินที่สำคัญๆ นั้นเกิดจากการเกิดอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย และความตาย ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นจะสร้างความสูญเสียทางการเงินเป็นอย่างมาก   ทางที่ดีคุณควรวางแผนบริหารความเสี่ยงเอาไว้ด้วย ด้วยการทำประกันชีวิต เพื่อไม่สร้างภาระให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง หรือสร้างความเสี่ยงทางการเงินให้กับครอบครัว แต่ก่อนอื่นคงต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการทำประกัน ว่าควรทำในวงเงินที่เหมาะสม ไม่มากไป ไม่น้อยไป จนกลายเป็นภาระ

"ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ" กลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง เป็นอีกคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการ "ทำประกัน" อันดับแรกเขาจะดูว่ามีภาระอะไรบ้าง เช่นต้องสะสมเงินเป็นค่าเล่าเรียนของลูก อีกจุดคือ เรื่องความเสี่ยง อะไรที่มีภาระค้างอยู่ เขาจะทำประกันให้ครอบคลุมภาระไว้ทั้งหมด เช่น ถ้าต้องผ่อนบ้าน ก็ต้องทำประกันให้ครอบคลุมหนี้บ้านทั้งหมด ถ้าเป็นอะไรไป ต้องไม่เดือดร้อนคนข้างหลัง หนี้ทุกอย่างจะถูกคัฟเวอร์ไว้แล้ว

@แผนเกษียณ.... ด้วยเทคโนโลยี และความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในอนาคต อายุเฉลี่ยของคนไทยก็จะยืนยาวขึ้นไปอีก นั่นทำให้เราๆ ท่านๆ นิ่งเฉยไม่ได้แต่ต้องวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ รับมือกับช่วงชีวิตที่ยาวขึ้น ที่จะต้องใช้เงินมากขึ้น  โดยธรรมชาติของชีวิตในช่วงนี้ จะไม่มีรายได้ประจำที่เคยได้รับ สุขภาพร่างกายก็เริ่มถดถอยลง สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณต้องมีเงินจำนวนมากไว้ใช้จ่ายตอนแก่ ผู้ใหญ่หลายคนที่มีเงินไม่พอใช้ในช่วงชีวิตหลังเกษียณ สาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนที่จะมีเงินเพื่อเตรียมไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลในยามแก่ชราหรือในยามที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

มีหลากหลายช่องทางที่ช่วยคุณออมเงินเพื่อเก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณ เช่นการลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันแบบสะสมทรัพย์ หรือสะสมพวกอสังหาริมทรัพย์และทองคำเอาไว้ก็ได้

@วางแผนภาษีอากร...ถ้าในแต่ละปีคุณต้องจ่ายภาษีเป็นเงินก้อนโต การวางแผนภาษีอากร น่าจะเป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คุณควรจัดทำ

ปัจจุบันมีหลากหลายช่องทางที่ช่วยคุณประหยัดภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นประกัน เงินผ่อนบ้าน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนRMF และกองทุน LTF เป็นต้น หากวางแผนดีๆ ในแต่ละปีคุณจะพบว่าช่วยคุณประหยัดภาษีได้เยอะเลยทีเดียว

ปัจจุบันมีผู้มีรายได้จำนวนมาก วางแผนลดภาษีอย่างชาญฉลาด หลังจากที่พบว่าส่วนใหญ่เสียภาษียุบยับเกินเหตุอันควรเพียงเพราะไม่ได้ศึกษาล่วงหน้า ทั้งๆ ที่รัฐเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิตามกฎหมายอย่างเต็มที่ แต่ถือว่าน่าเสียดายสำหรับอีกหลายคน ที่แม้จะมุ่งมั่นกับการออมการลงทุน ภายใต้กลยุทธ์ทุกรูปแบบ แต่กลับมองข้ามปัจจัยที่มีผลกระทบโดยตรงนั่นคือ การเสียภาษี

เหล่านี้เป็นแผนการเงินที่คุณควรลงมือทำ เพราะรายละเอียดเหล่านี้นี่แหละ ที่ถ้าคุณใส่ใจกับมัน อิสรภาพทางการเงิน และเส้นทางสดใสก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

http://www.smednc.com

 1869
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์