ยืดเยื้อกันมาพักใหญ่สำหรับการผลักดัน ” ภาษีที่ดิน ” จนล่าสุด (วันที่ 12 มีนาคม 2562) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศให้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 บังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว โดยจะเริ่มมีผลจัดเก็บภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ดังนั้น จึงได้สรุปสาระสำคัญของกฎหมายนี้ มาให้ดูกันว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง แล้วเราเข้าข่ายต้องเสียภาษีที่ดินด้วยหรือไม่
ที่ดินแต่ละประเภท เสียภาษีเท่าไหร่
อัตราการเก็บ ภาษีที่ดิน ใหม่ จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ได้แก่ เกษตรกรรม, ที่อยู่อาศัย, พาณิชยกรรม และที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยคิดอัตราภาษีเป็นรูปแบบขั้นบันไดเพิ่มขึ้นตามมูลค่า ดังนี้
1.เกษตรกรรม เพดานภาษีสูงสุด 15%
สำหรับการใช้ที่ดินเพื่อทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่ประกาศกำหนด
– มูลค่า 0-75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.01%
– มูลค่า 75-100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03%
– มูลค่า 100-500 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05%
– มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.07%
– มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.10%
ยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดา สำหรับมูลค่าที่ดิน 50 ล้านบาทแรก พร้อมทั้งยกเว้นการจัดเก็บภาษีกับบุคคลธรรมดาใน 3 ปีแรกที่กฎหมายบังคับใช้
2.ที่พักอาศัย เพดานภาษีสูงสุด 3%
กรณีบ้านหลังหลัก โดยบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
– มูลค่าไม่ถึง 25 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03%
– มูลค่า 25-50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05%
– มูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.10%
กรณีบ้านหลังหลัก โดยบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
– มูลค่าไม่ถึง 40 ล้านบาท อัตราภาษี 0.02%
– มูลค่า 40-65 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03%
– มูลค่า 65-90 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05%
– มูลค่า 90 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.10%
กรณีบ้านหลังอื่น ๆ
– มูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.02%
– มูลค่า 50-75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03%
– มูลค่า 75-100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05%
– มูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.10%
กรณีบ้านหลังหลักที่เป็นเจ้าของบ้านและเจ้าของที่ดิน (เจ้าของบ้านอาศัยอยู่เอง) ได้รับการยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก ส่วนกรณีเป็นเจ้าของเฉพาะบ้านอย่างเดียว (บ้านเจ้าของอยู่เองบนที่ดินเช่า) จะได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาทแรก
3.กลุ่มพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม เพดานภาษีสูงสุด 2%
– มูลค่า 0-50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.3%
– มูลค่า 50-200 ล้านบาท อัตราภาษี 0.4%
– มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.5%
– มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.6%
– มูลค่าเกิน 5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.7%
4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ เพดานภาษีสูงสุด 1.2% แต่จะเพิ่มเพดานเป็น 3% เมื่อปล่อยรกร้างว่างเปล่า ติดต่อกัน 3 ปี
หมายถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควร หรือถูกปล่อยทิ้งไว้ว่างเปล่า
– มูลค่า 0-50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.3%
– มูลค่า 50-200 ล้านบาท อัตราภาษี 0.4%
– มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.5%
– มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.6%
– มูลค่าเกิน 5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.7%
นอกจากนี้ หากปล่อยรกร้าง เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน จะถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก 0.3% ในปีที่ 4 และถูกเก็บเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก ๆ 3 ปี หากยังไม่ได้มีการนำมาทำประโยชน์ แต่สูงสุดไม่เกิน 3%
วิธีคำนวณภาษีที่ดิน
การคิด ภาษีที่ดิน แต่ละประเภทจะใช้มูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินจากกรมธนารักษ์ โดยจะมีการปรับตามรอบบัญชีประเมินราคาทุก 4 ปี ซึ่งแยกวิธีคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายออกเป็น ดังนี้
ที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง
ภาระภาษี = มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี
โดยมูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน
มีทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภาระภาษี = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี
โดยมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) – ค่าเสื่อมราคา
ห้องชุด
ภาระภาษี = มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี
โดยมูลค่าห้องชุด = ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.)
ที่มา: Kapook