กรมสรรพากรลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอัตรา 3% เหลืออัตรา 1.5% ตามมาตรการเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึง 30 ก.ย. 2563
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเรื่อง มาตรการดูแล และเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรง และทางอ้อม ระยะที่ 1 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมาตรการลดอัตราภาษี ณ ที่จ่าย ก็เป็นหนึ่งในมาตรที่กำหนด ทั้งนี้มาตรการภาษี ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ
1. มาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ
โดยลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอัตรา 3% เหลืออัตรา 1.5% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึง 30 ก.ย. 2563 และลดเหลือ 2% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามข้อกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 ถึง 1 ธ.ค. 2564 เฉพาะที่จ่ายผ่านระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax)
2. มาตรการภาษีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ
โดยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมที่เข้าร่วมมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัส และมีการจัดทำบัญชีเดียว สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับรายจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เม.ย. ถึง 31 ธ.ค. 2563
3. มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสฯ
โดยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างของเดือน เมษายน 2563 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ให้แก่ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และได้รับค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยต้องคงการจ้างงานในช่วงดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่า จำนวนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ณ วันสุดท้ายของเดือนธันวาคม 2562
4. มาตรการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ
โดยพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกที่ดี กรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ทางอินเทอร์เน็ตจะได้รับคืนภายใน 15 วัน และกรณียื่นแบบ ภ.พ. 30 ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาจะได้รับคืนภายใน 45 วัน
ที่มา : Link
รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/16128