ตอบคำถาม 'เศรษฐกิจโลก' ถดถอย กับตกต่ำ แตกต่างกันอย่างไร?

ตอบคำถาม 'เศรษฐกิจโลก' ถดถอย กับตกต่ำ แตกต่างกันอย่างไร?

        นอกเหนือจากการหดตัวของเศรษฐกิจ ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันก็คือมีการว่างงานในระดับที่สูงต่อเนื่องตลอดช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ คือ อัตราการว่างงานสูงเกิน 10% ราคาสินค้าปรับลดลงต่อเนื่อง คือ เกิดภาวะเงินฝืดพร้อมกันไปด้วย ธุรกิจต้องปิดตัวลงมากจนกระทบฐานะของธนาคารพาณิชย์ มีธนาคารจำนวนมากต้องปิดกิจการ ทำให้ผู้ฝากเงินกับธนาคารเหล่านี้เสียหาย และจำนวนคนยากจนเพิ่มสูงขึ้น

        ที่สำคัญ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและกระทบไปทั่วโลก ผ่านการลดลงของการค้าระหว่างประเทศ และการดึงกลับของเงินลงทุนต่างประเทศ ทำให้หลายประเทศถูกกระทบในลักษณะเดียวกัน ช่วงปี 1930s ที่เกิดปัญหาขึ้น เศรษฐกิจไทยช่วงนั้นก็ถูกกระทบ ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลง กระทบการส่งออกและรายได้ของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลต้องแก้ปัญหาด้วยการลดเงินเดือนข้าราชการและเพิ่มภาษี เพื่อให้มีรายได้พอที่จะใช้จ่าย ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจ

        ต่อคำถามว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเปลี่ยนไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงได้อย่างไร ในเรื่องนี้ ถ้าเราดูสิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจสหรัฐ ช่วงปี 1929 และปีต่อๆ มา จะเห็นว่า ปัญหาเริ่มจากการปรับลดรุนแรงของตลาดหุ้น เมื่อเดือน ต.ค. 1929 ถือเป็นจุดเริ่มต้น หรือตัว Trigger สถานการณ์ที่นำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการว่างงาน แต่หลังจากนั้นมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามากระทบ ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอมากขึ้นจนเกิดเป็นเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง

        ซึ่งปัจจัยที่เข้ามากระทบที่สำคัญในช่วงนั้น ที่นักเศรษฐศาสตร์พูดกันมากคือ การดำเนินนโยบายของรัฐที่แทนจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว กลับทำให้เศรษฐกิจยิ่งอ่อนแอจนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง เช่น การตั้งกำแพงภาษี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่กระทบการส่งออก การประหยัด ลดการใช้จ่าย และขึ้นภาษีของภาครัฐ เพื่อดูแลฐานะการคลังของประเทศ ที่ทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศยิ่งชะลอ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งมีผลต่อความต้องการใช้จ่ายในประเทศ เหล่านี้คือตัวอย่างของนโยบายในช่วงนั้นที่มีผลซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจ

        กลับมาดูเหตุการณ์ปัจจุบัน การปรับลดของตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นหลังการระบาดของไข้หวัดโควิด ยังไม่ลึกมากเมื่อเทียบกับปี 1929 และหลังจากนั้น นโยบายของภาคทางการก็เข้าไปช่วยเหลือเพื่อฟื้นเศรษฐกิจเต็มที่ ตรงข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 1929 คือมีการลดอัตราดอกเบี้ยและอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด ทำให้ตลาดหุ้นที่ปรับลดลงสามารถประคองตัวได้ ไม่ปรับลดต่อเนื่อง

        ด้านการคลัง เกือบทุกประเทศกู้เงินเพื่อนำมาฟื้นเศรษฐกิจ เฉลี่ยประมาณ 8-10% ของรายได้ประชาชาติ และยกเว้นกรณีสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ การปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรเพื่อปกป้องการผลิตภายในประเทศยังไม่เกิดขึ้น และคงไม่เกิดขึ้นเป็นการทั่วไป ด้วยนโยบายเหล่านี้ เศรษฐกิจโลกน่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายในแง่การฟื้นตัว เทียบกับที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1929 - 30 แสดงว่า ผู้ทำนโยบายได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากเหตุการณ์ในอดีต และพยายามหลีกเลี่ยงนโยบายที่อาจซ้ำเติมเศรษฐกิจ

        ต่อคำถามว่า นอกเหนือจากนโยบายแล้วจะมีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ที่ถ้าเกิดขึ้นสามารถมีพลังทำให้ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกขณะนี้จะแย่ลงจนมีความเสี่ยงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงอาจเกิดขึ้น

        ในประเด็นนี้ ต้องยอมรับว่าตอบยากมาก แต่ถ้าจะต้องให้คำตอบคิดว่ามี เรื่องที่ควรระมัดระวังและตั้งการ์ดสูงเพื่อลดความเสี่ยง แม้ในบางเรื่องโอกาสเกิดขึ้นจะน้อย แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะโลกขณะนี้เป็นโลกของความไม่แน่นอน

        1.วิกฤติการเงิน ซึ่งทุกครั้งจะเกิดจากความเป็นหนี้ที่มีมากเกินไป จนเศรษฐกิจที่ชะลอลงทำให้การชำระหนี้มีปัญหา เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้างจนกระทบเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ กลายเป็นวิกฤติการเงิน หนี้ในที่นี้หมายถึง หนี้ภาครัฐ หนี้บริษัทเอกชน และหนี้ครัวเรือน ดังนั้น ประเทศใดมีหนี้สูงในทั้งสามประเภทต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

        2.การกลับมาระบาดรอบ 2 รอบ 3 ของไวรัสโควิด ในขนาดที่ทางการจำเป็นต้องแก้ปัญหาการระบาดด้วยการปิดเมืองอีก ทำให้เศรษฐกิจถูกกระทบมาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงักกระทบความสามารถในการหารายได้ และการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ครัวเรือน และภาครัฐ แต่ผลกระทบลักษณะนี้อาจเป็นผลกระทบของโรคระบาดอื่น ที่ไม่ใช่โควิดก็ได้ หรือ เป็นผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ที่กระทบหลายประเทศพร้อมกัน ที่ทำให้การผลิตในระบบเศรษฐกิจโลกถูกกระทบ

        3.สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่บานปลายเป็นสงครามเย็น หรือประทุขึ้นเป็นข้อพิพาธที่รุนแรงเฉพาะจุด เฉพาะพื้นที่ ทำให้สถานการณ์ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงในภูมิศาสตร์ การเมืองโลกตึงเครียด สร้างความไม่แน่นอน กระทบกิจกรรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

ที่มา : Link

รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612

 1233
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์