ว่องไว ยืดหยุ่น คาดการณ์เก่ง คุณสมบัติ 'ผู้นำ' ทศวรรษใหม่

ว่องไว ยืดหยุ่น คาดการณ์เก่ง คุณสมบัติ 'ผู้นำ' ทศวรรษใหม่

        เวลานี้อีโบล่ากำลังเริ่มเล่นงานบางประเทศในทวีปแอฟริกา ทั้งๆ ที่โควิด-19 ยังไม่ได้บอกลา เพราะโลกเราและโรคเราเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สัปดาห์นี้ดิฉันจึงอยากชวนคุยเรี่องการพัฒนาบุคลากรระดับผู้นำขององค์กรทั้งหลาย เพื่อสร้างความพร้อมให้พวกเขาสามารถฝ่าสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและบริหารวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิผล มีสติ มีขวัญกำลังใจและที่จะเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดี

        ซึ่งคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการที่ผู้นำหลังยุคโควิด-19 พึงมีคือ ว่องไว (agile) ยืดหยุ่น (resilient) และคาดการณ์เก่ง (forcasting skill)

        นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกได้ฟันธงชัดเจนแล้วว่า เศรษฐกิจจะถดถอยไปอีกอย่างน้อยสองสามปี ทั้งนี้สถาบันต่างๆ คือ สภาเศรษฐกิจโลก (WEF-World Economic Forum) บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเบนแอนด์คอมปานีและเมอร์เซอร์ วารสารสโลน มาเนจเมนต์รีวิว แห่งเอ็มไอที (MIT-Massachusetts Institute of Technology) และนิตยสารฟาสต์คอมปานี ได้ชี้แนะในทิศทางเดียวกันว่า ผู้นำและบุคลากรยุคหลังโควิด-19 จะต้องเป็นผู้ที่ agile และ resilient จึงจะเอาตัวรอดจากความไม่แน่นอนและวิกฤติได้ดี

        เบนแอนด์คอมปานีได้กล่าวถึงคุณสมบัติอีกประการหนึ่งก็คือ prediction หรือความสามารถในการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดิฉันจะให้น้ำหนักในการคุยเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

***ว่องไวและยืดหยุ่นควรมาคู่กัน แนวคิดเรื่อง agile ได้เข้ามาแพร่หลายในบ้านเราได้สองสามปีแล้ว แต่ยังไม่มีองค์กรใดออกมายืนยันว่าทำ agile ได้สำเร็จแล้ว มีแต่ว่ากำลังทำอยู่ และก็ยังไม่เพียงพอในการผจญกับวิกฤติ ต้องมี resilience หรือความยืดหยุ่นที่เมื่อเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจทำให้ช็อคเสียศูนย์ แต่ถ้ามีความยืดหยุ่นจะทำให้ตั้งสติ ปรับใจ ปรับตัว ลุกขึ้นมาสู้ใหม่ได้ จากนั้นจึงใช้ความไวลงมือปฏิบัติต่อไป

        ความสามารถในการคาดการณ์ หรือพยากรณ์ (Forecasting Skill) ความสามารถในการประมวลวิเคราะห์ข้อมูลและเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปได้ของอนาคต ขอใช้คำว่า forecasting skill แทน prediction skill เพราะทางวิชาการใช้คำว่า forecasting มากกว่า

        นอกจากนี้แบบจำลองของการคาดการณ์ หรือพยากรณ์ (Forecasting Model) ยังเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคณิตศาสตร์และสถิติที่เป็นตัวเลขที่จับต้องได้ ในโลกที่มีความหลากหลาย มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า การผลิตสินค้าหรือบริการออกมาแล้ว มาพบว่าไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ความผิดพลาดเช่นนี้ป้องกันได้หากมีการทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติ วิถีชีวิตและความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมายจากปัจจุบันถึงอนาคต

        ซึ่งจากการศึกษาจะทำให้องค์กรมีการคาดคะเนหรือคาดการณ์ความต้องการในอนาคตของลูกค้าได้แม่นยำขึ้น ถ้าไม่รู้จักนำตัวเลขสถิติต่างๆ ในอดีตมาใช้ในการเตรียมแผนงาน ก็จะเห็นว่าเมื่อใดที่ฝนตก บางท้องที่ก็ยังคงมีน้ำท่วมหนักเป็นเวลานานและเป็นประจำทุกปี แสดงว่าไม่ค่อยได้เรียนรู้บทเรียนจากในอดีตเพื่อนำมาคาดการณ์และเตรียมการเลย

        ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาความสามารถในการคาดการณ์ ที่ไม่ใช่การนั่งเทียน แต่เป็นเรื่องของข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลทางคณิตศาสตร์และสถิติเป็นหลัก ทั้งนี้ผู้นำที่ไม่ชอบหรือไม่เก่งตัวเลข ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถพัฒนาทักษะด้านนี้ได้ จริงอยู่ที่ผู้นำที่ได้เรียนศาสตร์ด้านการตัดสินใจ (Decision Science) และสถิติศาสตร์จะได้เปรียบในเรื่องการใช้โมเดลต่างๆ ของการตัดสินใจและสถิติมาช่วยในการคาดการณ์ธุรกิจ 

        จำได้ว่าเคยอ่านประวัติชีวิตของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ในเวลาที่ท่านเพิ่งมาเริ่มธุรกิจเลี้ยงไก่ ด้วยความที่ท่านชอบอ่านหนังสือ ก็เลยได้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ บำรุงไก่จากต่างประเทศมากมายและได้นำความรู้นั้นมาใช้ในการพัฒนาการเลี้ยงไก่โดยที่ท่านไม่ได้เป็นนักสัตวศาสตร์

        เท่าที่ศึกษาประวัติของผู้นำธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ทุกท่านขยันเรียนรู้ ทั้งเรียนด้วยตนเองและจ้างคนมาให้คำปรึกษา ผู้ที่จะคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำ คือผู้ที่มีข้อมูลมากและมีข้อมูลที่มีคุณภาพจากแหล่งต่างๆ จากนั้นก็มีความสามารถของตนเองและทีมงานในการประมวลวิเคราะห์ข้อมูลจนมองเห็นทิศทาง การฝึกให้มีความสามารถในการคาดการณ์ต้องอาศัยประสบการณ์ร่วมด้วย 

        ถ้าประสบการณ์ไม่พอก็อาศัยมืออาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาช่วยวิเคราะห์ ความสามารถในการคาดการณ์เป็นทักษะสำคัญที่ผู้นำในทศวรรษต่อไปพึงรีบสร้างเพื่อจะสามารถมองเห็นโอกาสธุรกิจก่อนคู่แข่งขัน สร้างแผนไว้รับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ทันโดยเจ็บตัวน้อยที่สุด

ที่มา : Link

รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612

 902
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์