‘หุ่นยนต์’ ผู้ช่วย หรือศัตรูหลังโควิด?

‘หุ่นยนต์’ ผู้ช่วย หรือศัตรูหลังโควิด?

        เมื่อถึงคราวที่การติดต่อระหว่างมนุษย์จำเป็นต้องทำให้น้อยที่สุด ผลพวงจากวิกฤติไวรัสโคโรนาระบาด หุ่นยนต์จึงสามารถช่วยชีวิตและช่วยงานในโรงงานได้ แต่เมื่อวิกฤติสิ้นสุด หุ่นยนต์จะเป็นตัวกระตุ้นให้มนุษย์ต้องตกงานหรือไม่ นี่คือปัญหาคาใจ

        หุ่นยนต์ถูกนำไปใช้งานในหลายรูปแบบ เช่น แขนกลหยิบเบียร์ในบาร์แห่งหนึ่งที่เมืองเซวิญาของสเปน เครื่องจ่ายเจลล้างมือรูปทรงคล้ายสุนัขในห้างสรรพสินค้า ของกรุงเทพ คูลเลอร์ติดล้อคอยส่งของชำในวอชิงตัน หุ่นยนต์ตรวจไข้ที่โรงพยาบาลเบลเยียม ในช่วงที่นานาประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ผู้คนถูกสกัดให้อยู่แต่ในบ้าน หุ่นยนต์จึงเข้าไปทำงานใหม่ๆ มากมาย

        ซิริล คับบารา ผู้ร่วมก่อตั้งชาร์กส โรโบติกส์ สตาร์ทอัพสัญชาติฝรั่งเศส กล่าวว่า ในเวลาที่เกิดภัยคุกคามต่อมนุษย์ ต้องใช้หุ่นยนต์ เช่น หุ่นยนต์โคลอสซัสของบริษัท ช่วยปกป้องมหาวิหารนอเตรอดามในกรุงปารีสไว้ ขณะเปลวเพลิงเผาผลาญหลังคาเมื่อปี 2562 จากนั้นถูกปรับไปใช้ขนย้ายตะกั่วที่ปนเปื้อนในวิหาร

“เมื่อ 4-5 ปีก่อน ตอนเราเอาโคลอสซัสไปนำเสนอ มีแต่คนหัวเราะเยาะ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงบอกว่า หุ่นพวกนี้จะมาแย่งงานเรา” คับบาราเล่าประสบการณ์ แต่นับจากนั้น โคลอสซัสก็ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ได้เข้าร่วมบริการในหน่วยงานดับเพลิงของทั้งปารีสและมาร์เซย “ยิ่งเราก้าวหน้า คนที่เคยต่อต้านก็หายไป” คับบารายืนยัน

        ไม่ใช่งานด้านสุขอนามัยและการแพทย์เท่านั้นที่หุ่นยนต์ทำได้ดี “วิกฤตินี้ชี้ให้เห็นว่า คุณมีศักยภาพที่จะดำเนินกิจกรรมต่อไปแม้เกิดวิกฤติด้านสุขภาพหรืออื่นๆ ผู้ผลิตหลายรายบอกกับเราว่า หุ่นยนต์ช่วยให้พวกเขาดำเนินการต่อไปได้ ถ้าไม่มีหุ่นยนต์ พวกเขาคงนิ่งสนิท” ผู้ร่วมก่อตั้งชาร์กส โรโบติกส์ กล่าวเสริม

        ขณะที่เจ้าของกิจการชอบหุ่นยนต์ เพราะช่วยให้เขาดำเนินการต่อเนื่อง คนงานอาจมองว่า หุ่นยนต์อาจทำให้พวกตนต้องตกงาน ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ตามข้อมูลของมาร์ก มูโร นักวิจัยจาก สถาบันบรูกกิงส์ “งานวิจัยล่าสุดชี้ว่า เป็นไปได้ว่าเมื่อเศรษฐกิจถดถอยดิ่งลึก การนำระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานยิ่งพุ่งขึ้นมาก” นักวิจัยระบุในรายงานของอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต

        สอดคล้องกับความเห็นของ คาร์ล เฟรย์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ด “คนที่บอกว่าระบบอัตโนมัติไม่ได้มาแย่งงานในภาคการผลิต บอกได้เลยว่า พวกเขาคิดผิด” เขายกกรณีจีน ประเทศที่ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เฉพาะปี 2561 ปีเดียวติดตั้งถึง 650,000 ตัว ระหว่างปี 2556-2560 งานในภาคการผลิต หายไป 12.5 ล้านอัตรา

        ในขณะเดียวกันผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยไออีในสเปน ชี้ว่าระหว่างวิกฤติไวรัสโคโรนาความกลัวหุ่นยนต์ (โรโบโฟเบีย) เพิ่มขึ้นมาก ก่อนเกิดโรคระบาดชาวจีนเพียง 27% เท่านั้นที่สนับสนุนให้จำกัดการใช้ระบบอัตโนมัติ ขณะนี้ตัวเลขเพิ่มเป็นสองเท่า มาอยู่ที่ 54% ชาวจีนตอนนี้เป็นรองก็เฉพาะชาวฝรั่งเศสที่ต่อต้านระบบอัตโนมัติมากที่สุด 59%

        ผลการศึกษายังพบด้วยว่า ความเป็นปรปักษ์กับหุ่นยนต์สัมพันธ์กับอายุและการศึกษา คนอายุน้อยและการศึกษาน้อย ส่วนใหญ่รังเกียจหุ่นยนต์ “ที่ผ่านมา เทคโนโลยีเคยสร้างงานจำนวนมาก แต่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นน้อยในโลกดิจิทัล” เฟรย์กล่าว พร้อมยกตัวอย่างผู้ผลิตอย่างเจเนอรัล อิเล็กทริก ที่ยังว่าจ้างแรงงานจำนวนมากทั้งๆ ที่ใช้ระบบอัตโนมัติแล้ว “บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทุกวันนี้นอกจากอะเมซอนแล้ว ก็ไม่ได้สร้างงานมากนัก”

        ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เมื่อปัญญาประดิษฐ์ก้าวหน้ารวดเร็วมาก พนักงานคอปกขาวก็ยิ่งเสี่ยงตกงานเพราะระบบอัตโนมัติมากขึ้น มูโรกล่าวว่า อาจไม่มีพนักงานกลุ่มใดต้านทานความเสี่ยงนี้ไปได้ตลอด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ระบบอัตโนมัติชั้นสูงกับการว่างงานต่ำจะไปด้วยกันไม่ได้ สิงคโปร์และเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ใช้หุ่นยนต์สูง เมื่อเทียบกับขนาดของกำลังแรงงานและขณะนี้อัตราการว่างงานยังต่ำ กระนั้นเฟรย์ไม่วายเตือนว่า ตอนนี้เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นทุกขณะว่า เมื่อไวรัสโคโรนาหมดลง หุ่นยนต์จะมาแย่งงานคน แต่เขาก็สงสัยว่าการต่อต้านระบบอัตโนมัติทั่วโลกอาจลดน้อยลง เพราะการตกงานอาจเป็นปรากฏการณ์ในท้องถิ่น และมีแนวโน้มเกิดขึ้นในภูมิภาคที่ไม่มีการจ้างงานในภาคการผลิตมานานแล้ว

ที่มา : Link

รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612

 811
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์