ส่อง 11 ตัวชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ขึ้นมา ที่จะสะท้อนชีวิตประชาชนในประเทศสมาชิกในอนาคต โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไป อะไรคือรากฐานของความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคตไทยบ้าง?
หลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีการถกเถียงกันมากขึ้นจนเป็นวาระระดับโลกเกี่ยวกับตัวชี้วัดความก้าวหน้าของประเทศ ซึ่งตัวชี้วัดอย่าง GDP ที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ดูจะมีข้อบกพร่องและทำให้เรามองข้ามหลายอย่างที่นำไปสู่ชีวิตที่ดีและสมดุลไป
OECD ได้ริเริ่มเสนอตัวชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ของชีวิตประชาชนในประเทศสมาชิกและจัดทำรายงานการวัดความเป็นอยู่ของชีวิต ด้วยตัวชี้วัดที่สำคัญถึง 11 มิติที่ครอบคลุมและน่าสนใจ ได้แก่
รายได้และความมั่งคั่ง, ที่อยู่อาศัย, การทำงานและคุณภาพของงานที่ทำ, ความปลอดภัย, สุขภาพ, ความรู้และทักษะ, คุณภาพสิ่งแวดล้อม, คุณภาพชีวิต, ความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน, การเชื่อมต่อทางสังคม (Social Connections), และการมีส่วนร่วมของพลเมือง (Civic Engagement)
รายงานฉบับล่าสุดในปี 2020 นี้พบว่าประเทศที่มีทุนทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มักจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เช่น รายได้และความมั่งคั่ง ที่อยู่อาศัย มีการทำงานและคุณภาพงานที่ดี รวมถึงความรู้และทักษะที่ดี คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ความเป็นอยู่ที่ดีและความปลอดภัย นอกจากนี้ความสำเร็จทั้งในทุนมนุษย์และทุนทางสังคมมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงคุณภาพชีวิตทุกด้าน เช่น สมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน การเชื่อมต่อสังคม และการมีส่วนร่วมของพลเมือง
หากคิดในมุมรายบุคคลแล้วแน่นอนว่า ใครๆ ก็อยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในระดับประเทศ ย่อมมีความแตกต่างเกิดขึ้นเสมอๆ ซึ่งความไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำที่พบมักเกิดขึ้น ใน 3 ด้าน ได้แก่
1) ความเหลื่อมล้ำในแนวนอน (Horizontal inequalities) หมายถึง ช่องว่างระหว่างกลุ่มประชากร เช่น ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่
2) ความเหลื่อมล้ำในแนวตั้ง (Vertical inequalities) ได้แก่ ช่องว่างระหว่างผู้ที่อยู่ด้านบนและผู้ที่อยู่ด้านล่างของระดับความสำเร็จในแต่ละมิติ เช่นรายได้ของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุด 20% เมื่อเทียบกับคนที่ยากจนที่สุด 20%
3) การกีดกัน (deprivations) เช่น สัดส่วนของประชากรที่อยู่ต่ำกว่าระดับความสำเร็จที่กำหนด เช่น ระดับทักษะหรือสุขภาพขั้นต่ำ
ดังนั้น แต่ละประเทศจึงจึงมีวาระใหญ่ที่สำคัญ 2 ด้านคือ การสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนใน 11 มิติ พร้อมๆกับ การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนลงใน 3 ด้าน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายในอนาคตเป็นอย่างมาก โจทย์นี้เป็นวาระสำคัญสำหรับประเทศไทยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ยิ่งฉายภาพให้เห็นชัดว่า คนที่หาเช้ากินค่ำ คนมีทุนน้อยกว่า เงินออมน้อย ธุรกิจรายย่อยธุรกิจที่มีสายป่านสั้น เครือข่ายพันธมิตรน้อย ได้รับผลกระทบรุนแรง การจะประคองตัวให้ยังพอมีรายได้ในยามวิกฤตนี้เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เรื่องการจะมีชีวิตที่สมดุล คำนึงสุขภาพคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในภาวะเช่นนี้คงไม่ต้องพูดถึง
แต่ในยามวิกฤตเช่นนี้ก็ทำให้เรายิ่งต้องทบทวน และยิ่งต้องคิดว่าเราจะลงทุนอะไร เพื่อให้อนาคตดีกว่าปัจจุบัน หากเรากำลังคิดถึงอนาคต คำถามสำคัญคือ เราจะสร้างอนาคตที่ดีได้อย่างไร? รากฐานของความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคต (Future Well-Being) ขึ้นอยู่กับทุนที่เรามี ทุนที่เราลงทุนในวันนี้ ซึ่งจะผลิดอกออกผลในอนาคต ทุนที่เราต้องให้ความสำคัญเพื่อสร้างอนาคตที่ดี จะประกอบด้วยทุน 4 ประเภท คือ
(1) ทุนทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วยสินทรัพย์ที่มนุษย์สร้างขึ้นและการเงิน
(2) ทุนทางธรรมชาติ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์ รวมถึงระบบนิเวศ เช่นมหาสมุทร ป่าไม้ ดินและบรรยากาศ
(3) ทุนมนุษย์ อันเป็นทุนทางปัญญาที่สำคัญ ซึ่งทุนมนุษย์นี้รวมถึงทักษะ สุขภาพในอนาคต และ
(4) ทุนทางสังคม หมายถึง การเชื่อมโยงของบุคคลเป็นเครือข่ายทางสังคมบนพื้นฐานความเชื่อถือ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน (trust) มีมาตรฐานในการทำงานร่วมกันบรรทัดฐานทางสังคม ค่านิยมร่วมกัน ข้อตกลงเชิงสถาบันที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ
สำหรับประเทศไทย ณ เวลานี้ การลงทุนในทุนมนุษย์และทุนทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ทุนมนุษย์สามารถเพิ่มพูนได้ด้วยการศึกษา การยกระดับทักษะ การฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร การสร้างโอกาสทางการศึกษาส่งผลกระทบสำคัญต่อการแก้ปัญหาความยากจน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างศักยภาพในการสร้างรายได้ในอนาคต ส่วนทุนทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศเช่นกัน ประเทศต้องสั่งสมและต่อยอดทุนทางสังคม หันกลับมาเสริมสร้างบทบาทครอบครัว ชุมชน สื่อ การรวมตัวของคนที่มีคุณภาพเพื่อสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ วัฒนธรรมที่ดีงาม
ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าโลกที่จะเปลี่ยนไปหลังยุคโควิด ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เอไอ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาตัวชี้วัดชีวิต 11 มิติเพื่อเสริมตัวชี้วัด GDP รวมถึงการลงทุนพัฒนาทุนของประเทศไทยทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะทุนมนุษย์และทุนทางสังคมจึงเป็นวาระสำคัญอย่างมาก
การยกระดับศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัยและเสริมความแข็งแกร่งในทุนทางสังคม รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลแห่งชีวิตเป็นหัวใจที่สำคัญของยุทธศาสตร์แห่งอนาคต โดยทุกฝ่ายควรร่วมกันทบทวนอดีตและปัจจุบัน พร้อมกันผนึกพลังเพื่อสร้างสรรค์อนาคตที่ดีให้กับคนไทยทุกคน