ที่ยังสงสัยก็คือ แล้วธนาคารกลางของนานาประเทศจะกำกับดูแล Facebook, อาลีบาบา, เทนเซนต์ ฯลฯ เหมือนที่กำกับดูแลบรรดาธนาคารต่างๆ ในทุกวันนี้หรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อ Facebook เขาจะใช้ The Libra Association ไปทำหน้าที่เสมือนหนึ่งธนาคารกลางเสียเองอย่างนั้น
ช่วงนี้ในโลกการเงินดิจิตัลไม่มีอะไรร้อนแรงไปกว่า Libra เพราะ Libra จะเป็นเงินตราสกุลดิจิทัลของ Facebook หรือ Facebook Coin ที่จะมีสมาชิกนามกระเดื่องร่วมก่อตั้ง เช่น Facebook, Mastercard, Visa, Uber, Lyft, Vodafone, Stripe, Booking Holdings, Coinbase, Anchorage, eBay, Paypal, Spotify เป็นต้น โดยจะอยู่ใต้การควบคุมดูแลขององค์กรไม่แสวงหากำไร The Libra Association ซึ่งจะตั้งขึ้นที่เจนีวา ทำหน้าที่เสมือนธนาคารกลาง กำกับดูแลและผลิต Libra
เมื่ออยู่ๆ ก็จะมีเงินตราล่องหนที่เราจับต้องหรือนับใส่กระป๋าไม่ได้ แต่นำไปจับจ่ายใช้สอย ใช้หนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแบงก์ชาติประเทศต่างๆ แบบนี้ หลายคนคงมึนงง แต่เท่าที่ทราบ Facebook มีเป้าหมายจะทำให้ Libra เป็นสกุลเงินตราของโลก โดยอาจจะเป็นสกุลเงินล่องหน จับต้องไม่ได้ แต่เห็นยอดผ่านมือถือหรือ Hardware อื่นๆ และ Libra อาจจะอิงมูลค่าของ Libra Coin ไปกับ "สินทรัพย์อ้างอิง" ที่มีอยู่จริง ซึ่งน่าจะเป็น "ตะกร้าเงิน" (Basket of Currencies) ที่ประกอบด้วยเงินสกุลต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น USD, EUR, Yen, ปอนด์, ฟรังก์สวิส, หยวน เป็นต้น
เมื่ออ้างอิงกับตะกร้าเงินที่คนเชื่อถือ เจ้า Libra จึงน่าจะไม่ผันผวนมาก จะมีมูลค่าค่อนข้างคงที่ ต่างจาก หรือเงินคริปโตสกุลอื่นและ Bitcoin คนที่ต้องการใช้เงิน Libra จะต้องนำเงินปกติของตนไปแลก Libra ผ่านช่องทางที่ The Libra Association กำหนด โดยดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัทลูกของ Facebook ที่ชื่อ Callibra ให้เป็นที่เก็บเงิน หรือเสมือนหนึ่งเป็นบัญชีเงินฝาก สำหรับไว้ใช้ซื้อสินค้า บริการ หรือโอนเงินไปให้คนอื่น ทั้งนี้ เขาจะเริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการในไตรมาสแรกของปี 2563 … อีกไม่ถึงปี !
นี่คือการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจการเงินของ Facebook ที่ต่อยอดแพลตฟอร์มของตนเองที่มีผู้ใช้งานถึงเดือนละ 2 หมื่นล้านคน ให้เพิ่มช่องทางธุรกิจด้วยการเป็นตลาดที่ให้บริการชำระเงิน นอกจากนี้ เราอาจจะเห็นนายจ้างจ่ายเงินเดือนเป็น Libra เข้าบัญชีให้เราก็ได้ และหากเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย โอกาสที่เราจะเห็น จะจับต้องเหรียญ หรือธนบัตรต่างๆ ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะอาลีบาบากับเทนเซนต์เขาทำไปแล้ว โดยคนหลายร้อยล้านคนที่ใช้บริการชำระเงินด้วยเงินหยวนหรือเงินสกุลอื่นๆ ผ่านแอปพลิเคชั่นของเขา
แต่จะเป็นเรื่องใหญ่เพราะ Facebook กำลังสร้าง Libra ให้เป็นเงินสกุลใหม่ บางคนถามว่า “เมื่อมีเงินล่องหนเกิดขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ แล้วจะเอาธนาคารของฉันไปไว้ที่ไหน” แน่นอน ธนาคารเขาปรับตัวให้รองรับกับโลกใหม่ไว้แล้ว โดยใช้เทคโนโลยีและ Platform ของธนาคารให้ลูกค้าใช้ซื้อ ขาย โอนเงิน ชำระเงิน ได้สะดวก แถมยังฟรี หรือมีค่าบริการราคาถูก ในแง่ลูกค้าจึงยังไม่เห็นความต่างกับบริการ Libra ของ Facebook
แต่เชื่อว่าต่อไป Facebook กับ Libra Coin จะพัฒนาไปจนถึงการให้สินเชื่อ และให้บริการซื้อขายกองทุนรวม จนกลายเป็นคู่แข่งของสถาบันการเงินที่มีอิทธิพลระดับโลก ที่ยังสงสัยก็คือ แล้วธนาคารกลางของนานาประเทศจะกำกับดูแล Facebook, อาลีบาบา, เทนเซนต์ ฯลฯ เหมือนที่กำกับดูแลบรรดาธนาคารต่างๆ ในทุกวันนี้หรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อ Facebook เขาจะใช้ The Libra Association ไปทำหน้าที่เสมือนหนึ่งธนาคารกลางเสียเองอย่างนั้น
นอกจากนี้ ยังสงสัยด้วยว่า แล้วต่อไปเงินกระดาษอย่างเงินบาท เงินปอนด์ เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินเยน เงินหยวน ฯลฯ จะมีจุดจบอย่างไร หากคริปโตเคอเรนซีหรือเงินล่องหนอย่าง Libra หรืออื่นๆ สามารถเข้าแทนที่เงินกระดาษได้เต็มตัวจนกลายไปเป็นเงินสกุลกลางของโลกไปในที่สุด
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ พฤติกรรมของผู้บริโภค กับโลกการเงินในอีก 5-10 ปีข้างหน้าคงจะเปลี่ยนไปจนจำโฉมหน้าไม่ได้เลย