ธุรกิจหลักทรัพย์เติบโต สวนวิกฤติ

ธุรกิจหลักทรัพย์เติบโต สวนวิกฤติ

        การระบาดของ Covid-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทย อย่างไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเฉพาะธุรกิจการบิน โรงแรม ร้านอาหาร และภาคการผลิตต่างๆ แต่ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ กลับมีธุรกิจหนึ่งที่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่กลับได้ประโยชน์นั่นคือ ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

มาทำความรู้จักว่า ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ คืออะไร?

        เวลาที่เราทำการซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์นั้น จะมีคนกลางทำหน้าที่จับคู่คำสั่งซื้อขายให้แก่เราซึ่งคนกลางที่ว่าก็คือ บริษัทหลักทรัพย์หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า Broker ในปัจจุบัน บริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยมีจำนวนทั้งหมด 50 แห่ง แน่นอนว่าด้วยจำนวนบริษัทในอุตสาหกรรมเท่านี้ ทำให้อาจบอกได้ว่า ธุรกิจนี้มีการแข่งขันกันพอสมควร
       
        อย่างไรก็ตาม บริษัทใดที่ต้องการจะเข้ามาเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นั้น จำเป็นต้องมีใบอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จากกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ดูเหมือนว่า การเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมก็มีความยากในระดับหนึ่ง

ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่ที่บริษัทหลักทรัพย์มีนั้นประกอบไปด้วย
       
        1. รายได้จากค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์
       
        2. รายได้จากการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน
       
        3. รายได้การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
       
        4. รายได้จากค่านายหน้าจากการซื้อขายตราสารอนุพันธ์
       
        5. รายได้อื่น เช่น ค่าธรรมเนียมการให้กู้ยืมเงินหรือหลักทรัพย์เพื่อมาลงทุน รวมทั้งค่าธรรมเนียมการซื้อขายกองทุนรวม
       
        อย่างไรก็ตาม รายได้หลักของบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ยังเป็นค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ พอเรื่องเป็นแบบนี้ นั่นหมายความว่า ถ้ามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ยิ่งมากเท่าไร รายได้ค่าธรรมเนียมนายหน้าของบริษัทหลักทรัพย์ก็จะมากขึ้นเท่านั้น มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปี 2562 จำนวน 52,468 ล้านบาท / มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปี 2563 จำนวน 66,900 ล้านบาท / มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับเพิ่มขึ้นมาประมาณ 28% และนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ในปี 2563 นั้น มีถึง 7 วันที่มูลค่าการซื้อขายต่อวันนั้นมากกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่นับแต่ต้นปี เศรษฐกิจไทยเจอความท้าทายมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดของ Covid-19 รายได้ที่ขาดหายไปจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ การปิดสถานที่และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จนทำให้ GDP ในไตรมาสที่ 1 ติดลบ และคาดว่าจะติดลบอย่างหนักในไตรมาสที่ 2 แต่การซื้อขายหลักทรัพย์ในปัจจุบันกลับคึกคัก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการเทขายหลักทรัพย์ในช่วงวิกฤติ แต่เมื่อวิกฤติมีแนวโน้มดีขึ้น นักลงทุนก็ต่างพากันมาซื้อหลักทรัพย์อีกครั้ง ดังนั้นในช่วงตลาดผันผวน ย่อมทำให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์คึกคักขึ้นมา
       
        อีกประการหนึ่งก็คือ ปัจจุบันนักลงทุนไม่มีทางเลือกที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ มากนัก อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% ส่งผลให้เงินฝาก และตราสารหนี้ กำลังให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าในอดีต อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 1.3% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของไทยเฉลี่ยแล้วยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1.0% ต่อปี พอเรื่องเป็นแบบนี้ นักลงทุนจำนวนไม่น้อยจึงมองว่า การนำเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์น่าจะได้ผลตอบแทนดีกว่า การซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือนำเงินไปฝากธนาคาร เมื่อรวมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้สะดวกมากขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น โดยจำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

        - เดือนมิถุนายน 2562 จำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ 2.6 ล้านบัญชี

        - เดือนมิถุนายน 2563 จำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ 3.2 ล้านบัญชี
       
        ซึ่งการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผลประกอบการของบริษัทหลักทรัพย์เติบโตขึ้น ลองมาดูผลประกอบการบริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุด 1 ใน 3 ในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

       6 เดือนปี 2562 รายได้ 1,136 ล้านบาท กำไร 49 ล้านบาท

       6 เดือนปี 2563 รายได้ 1,442 ล้านบาท กำไร 242 ล้านบาท

       ซึ่งรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นสาเหตุหลักนั้นเกิดจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และที่ลืมไม่ได้คือ การที่บริษัทหลักทรัพย์เหล่านี้เป็นตัวกลางในการจับคู่ซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่นักลงทุน ดังนั้น ตัวกลางเหล่านี้จะได้ค่าธรรมเนียมทุกครั้งไม่ว่าเราจะซื้อหรือขายหุ้นตัวไหน และไม่ว่าเราจะกำไรหรือขาดทุน เรื่องนี้ดูไปก็คล้ายๆ กับเรื่องยุคตื่นทองในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่คนจำนวนมากแห่กันไปขุดทองตามที่ต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าทองคำนั้นมีให้ขุดจริง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะขุดทองได้ ในตอนนั้น ถึงแม้ว่าเราที่ไม่ได้ไปขุดทองเอง แต่เป็นเพียงแค่คนขายอุปกรณ์ขุดทอง เราก็จะได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ต่างอะไรจาก ธุรกิจหลักทรัพย์ในตอนนี้

หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

ที่มา : Link
รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612
 940
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์