อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ "ยื่นภาษี" ภายในระยะเวลาดังกล่าว จะต้องดำเนินการ "ยื่นภาษีย้อนหลัง" ทั้งนี้ เมื่อเลยกำหนดการ "ยื่นภาษี" ประจำแต่ละปีภาษีแล้ว จะไม่สามารถ "ยื่นภาษีออนไลน์" ได้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่ไม่ได้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 จะต้องยื่นภาษีย้อนหลังที่กรมสรรพากรพื้นที่ต่างๆ เท่านั้น
ดังนั้น หากรู้ตัวว่ายังไม่ได้ยื่นภาษี ควรจะรีบติดต่อกรมสรรพากรในพื้นที่ต่างๆ และเตรียมเอกสารที่จำเป็นในการยื่นภาษี เช่น แบบ ฟอร์ม ภ.ง.ด. 91 หรือ ภ.ง.ด. 90 รวมถึงเอกสารที่ต้องใช้สําหรับการยื่น ภาษีให้เรียบร้อย เพราะหลายๆ ครั้งการยื่นภาษีไม่ได้จบแค่ยื่นฟอร์มหรือส่งแบบยื่นภาษีเท่านั้น ในบางครั้งเจ้าหน้าที่สรรพากรอาจเรียกหาเอกสารเพิ่มเติมด้วย ดังนั้น ก่อนจะไปยื่นภาษีที่สรรพากรท้องที่ เอกสารทุกอย่างจะต้องพร้อม ไม่ว่าจะเป็น
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- หนังสือรับรองการจ่ายเงินปันผล
- เอกสารที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ (ของตัวเองหรือของพ่อแม่)
- หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ
- เอกสารยืนยันสิทธิ์ค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบล.ย 03)
- การชําระดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน
- เอกสารการซื้อกองทุน LTF RMF เพื่อลดหย่อนภาษี
- หากไม่เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้ให้พร้อม จะยิ่งทำให้เสียเวลาในการยื่นภาษีและล่าช้าออกไปอีก
นอกจากจะต้องยื่นภาษีย้อนหลังแล้ว ในกรณียื่นภาษีช้าเกินกำหนดเวลา จะต้องเสียค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
1. บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 หรือยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
2. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ช้ากว่ากำหนด หากเป็นกรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ถือว่ามิได้ยื่นแบบ ต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
3. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา
3.1 กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
3.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระค่าปรับตามข้อ 1 เพียงอย่างเดียว
4. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ
4.1 กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
4.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ
5. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี หากมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา จะหมดสิทธิ์การผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ