เพิ่มศักยภาพ 'การส่งออก' ด้วยสิทธิ ‘ภาษีศุลกากร’

เพิ่มศักยภาพ 'การส่งออก' ด้วยสิทธิ ‘ภาษีศุลกากร’

        ส่อง 3 สิทธิพิเศษทางศุลกากร โอกาสของผู้ส่งออกไทย ในการเพิ่มและขยายช่องทางการส่งออกสินค้าสู่ต่างประเทศ หลังต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 มานานหลายเดือน พร้อมเปิดวิธีการใช้สิทธิพิเศษทางศุลกากร

        สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก การส่งออกของไทยก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย แต่ผู้ส่งออกไทยยังมีช่องทางที่จะเพิ่มและขยายการส่งออกได้ คือใช้ “สิทธิพิเศษทางศุลกากร” ที่จะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าประเทศปลายทาง

สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ผู้ส่งออกจะสามารถใช้ได้ คือ

        - สิทธิพิเศษตามโครงการ GSP (Generalized System of Preferences) เป็นการที่ประเทศพัฒนาแล้วให้สิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าให้ประเทศกำลังพัฒนาตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่สิทธิ GSP ที่ไทยได้รับคงจะถูกตัดสิทธิหมดไปในไม่ช้า เมื่อไทยส่งออกสินค้าทั้งปริมาณและมูลค่าเกินเพดานหรือมีเหตุตามเงื่อนไขที่ประเทศผู้ให้สิทธิกำหนดไว้ ผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่เคยพึ่งพาแต่สิทธิ GSP จำเป็นต้องเริ่มปรับตัวเตรียมไว้ในกรณีที่ไทยอาจถูกตัดสิทธิทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด

        - สิทธิพิเศษตามโครงการ GSTP (Agreement on The Global System of Trade Preferences Among Developing countries) เป็นสิทธิพิเศษที่มีการตกลงแลกเปลี่ยนกันระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนา

        - สิทธิพิเศษตามความตกลงเขตการค้าเสรี ที่ประเทศไทยเป็นภาคีตามที่ทำความตกลงไว้กับประเทศหรือกลุ่มประเทศ โดยจะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับรายการสินค้าตามที่ตกลงกัน ปัจจุบันที่มีผลบังคับใช้แล้วมี 13 ความตกลง คือความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA), ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP)

        เขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA ), ความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA), ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง, ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย, ความตกลงหุ้นส่วนใกล้ชิดยิ่งไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEPT), ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA), ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเปรู (TPCEP ), ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี และความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย

วิธีการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร

        ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกต้องผลิตสินค้าให้ถูกต้องตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ตามโครงการ GSP หรือความตกลงเขตการค้าเสรีนั้น และจะต้องยื่นขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากกรมการค้าต่างประเทศเพื่อใช้ประกอบพิธีการนำเข้าในประเทศนำเข้า ตัวอย่างดังนี้

หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า FORM A

        สำหรับการใช้สิทธิพิเศษ GSP เว้นแต่ในกรณีการส่งสินค้าเพื่อใช้สิทธิ GSP ของสหรัฐ ไม่ต้องยื่นขอและใช้หนังสือรับรอง FORM A ผู้นำเข้าสามารถร้องขอใช้สิทธิ GSP และรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง แต่ผู้ส่งออกต้องเก็บหลักฐานเอกสารข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าไว้อย่างน้อย 5 ปี เพื่อเตรียมไว้ในกรณีที่ศุลกากรสหรัฐจะตรวจสอบถิ่นกำเนิดของสินค้าที่ถูกต้อง, หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า FORM GSTP ในการใช้สิทธิตามโครงการ GSTP,

หนังสือรับรอง FORM D

        สำหรับการส่งออกใช้สิทธิตามความตกลง AFTA, หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า FORM FTA สำหรับการใช้สิทธิ ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หรือความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย, การใช้สิทธิตามความตกลงหุ้นส่วนใกล้ชิดยิ่งไทย-นิวซีแลนด์ ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกไทยหรือบุคคลในประเทศที่สามที่ได้รับมอบอำนาจ สามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าบนเอกสาร Invoice ได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดของทางราชการ เป็นต้น

  • ความก้าวหน้าในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า

        การออกหนังสือรับรอง FORM D. FORM JTEPA. FORM FTA ไทยออสเตรเลีย FORM AK. FORM AANZ. FORM AJ กรมการค้าต่างประเทศให้บริการออกหนังสือรับรองด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ระบบ ESS (Eletronic Signature and Seal) ด้วย นอกจากนี้อาเซียนยังได้นำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองมาใช้แทนการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า FORM D ด้วย 

        ผู้ส่งออกที่จะรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศ และปฏิบัติตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องการขึ้นทะเบียนและการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน พ.ศ.2563 ลงวันที่ 3 ก.ย.2563

        การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกมาก ผู้ออกจึงควรรีบไปขึ้นทะเบียน ซึ่งหากเป็นผู้ส่งออกทั่วไปที่ยังไม่ใช้ระบบดิจิทัล ต้องไปยื่นคำร้องขอที่เป็นเอกสารที่กรมการค้าต่างประเทศตามวิธีการแบบดั้งเดิม ส่วนผู้ส่งออกที่ปรับตัวมาใช้ระบบดิจิทัลและมีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) ก็จะได้รับความสะดวกอีกขั้นหนึ่ง โดยสามารถขึ้นทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ไม่ต้องพิมพ์คำขอไปยื่นที่กรมการค้าต่างประเทศ

ที่มา : Link
รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612
 885
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์