จัดงานสัมมนาออนไลน์ ONEAM Investment Forum 2021

จัดงานสัมมนาออนไลน์ ONEAM Investment Forum 2021


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด จัดงานสัมมนาออนไลน์ ONEAM Investment  Forum  2021  “Reframe the future in a pandemic World and Beyond” โดย ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบัน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษหัวข้อ “Thailand  Outlook 2021  in a pandemic World and Beyond”

      ดร. กฤษฎ์เลิศ กล่าวว่า หากมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังเป็นปีที่น่าเป็นห่วง โดยปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้มาจากความสามารถในการดึงนักท่องเที่ยวกลับเข้าประเทศจากการเปิดเมืองและการได้รับวัคซีนของประชาชน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังมีความไม่แน่นอน

      ขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงที่ประสบปัญหาวิกฤตจาการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่นเดียวกัน โดยวิกฤตที่แต่ละประเทศกำลังเผชิญคล้ายกับอาการของโรค COVID-19 คือ แต่ประเทศได้รับผลกระทบที่มีความรุนแรงที่แตกต่างกัน มีผู้ป่วยหลายรายที่หายจากโรคแล้วกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติขณะที่บางรายยังมีแผลเป็นจากโรค

      ดังนั้นสำหรับเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน  เมื่อวิกฤตผ่านพ้นไปอาจมีแผลเป็นทางเศรษฐกิจต่อไปอีกสักระยะโดยแผลเป็นเหล่านั้นจะอยู่นานหรือไม่ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยต้องเผชิญกับ 5 แผลเป็นทางเศรษฐกิจจากผลของการระบาดของ COVID-19 ได้แก่

การอยู่ในภาวะหนี้สูง


ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ และหนี้รัฐบาล เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงที่วิกฤตที่มีความรุนแรง ภาคธุรกิจจึงต้องมีการหากระแสเงินสดมาเพิ่มสภาพคล่องทำให้มีการสั่งสมหนี้ ดังนั้นหลังจากนี้แม้ธุรกิจจะอยู่รอดแต่เป็นการอยู่รอดแบบเต็มไปด้วยหนี้ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการกู้เงินในอนาคตไม่ดีเท่าที่ควรรวมทั้งการหาเงินทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพในอนาคตมีขีดจำกัด
สำหรับภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบจากการที่รายได้หายไปจากการว่างงานจึงต้องมีการลดการบริโภค การออมได้รับผลกระทบซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินระยะยาว และอาจมีต้องการกู้เงินเพิ่มเติมรวมถึงการกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งจะทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบรุนแรงขึ้น

การลงทุนที่ลดต่ำลง
หลังจากวิกฤตในครั้งนี้ทำให้ธุรกิจต่างๆลดการลงทุน แต่สิ่งสำคัญคือการลงทุนของภาคครัวเรือนโดยเฉพาะการลงทุนในทุนมนุษย์ (Human Capital)เช่น การที่นักเรียนต้องเรียนออนไลน์เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก โดยงานวิจัยจำนวนมากบอกว่าการเรียนรู้ในช่วงปฐมวัยมีความสำคัญมาก ซึ่งการที่เด็กไม่สามารถเรียนได้อย่างเต็มที่จะมีผลต่อทักษะความคิดในระยะยาวและจะส่งผลต่อรายได้ของเด็กและครอบครัวในระยะยาวเช่นกัน

ความเสื่อมมูลค่าของทุน
การที่ธุรกิจมีความชะงักต้องลดการผลิตหรือปิดกิจการ ทำให้ทุนต่างๆของธุรกิจเสื่อมค่าลง เช่น เครื่องจักร สิ่งก่อสร้าง อย่างไรก็ตามการเสื่อมสภาพของทุนทางกายภาพยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าการเสื่อมสภาพของทุนมนุษย์ โดยแรงงานต่างๆ มีทักษะที่เฉพาะเจาะจงกับบริษัทนั้นๆ แต่การปิดกิจการอาจทำให้ทักษะเหล่านั้นหายไป ดังนั้นเมื่อกลับไปทำงานต้องมีการRe-Skill หรือหากไปทำงานกับบริษัทใหม่ต้องมีการ Up-Skill เพิ่มมากขึ้นขณะที่ทุนองค์กร (Organization Capital) เช่น ความสัมพันธ์ของคนในองค์กร ความสัมพันธ์กับลูกค้า เป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทสามารถทำกำไรได้ แต่การปิดกิจการทำให้ความสัมพันธ์เหล่านี้หายไปและภาคธุรกิจจำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่ซึ่งอาจต้องใช้เวลา

การครอบครองกิจการแบบควบกิจการ
หลังจากวิกฤตในครั้งนี้บางธุรกิจที่ในภาวะปกติมีผลประกอบการดีแต่ขาดสภาพคล่องในภาวะวิกฤต จึงอาจจำเป็นต้องมีการขายกิจการ ซึ่งกิจการที่โดนซื้อมักโดนซื้อไปในราคาถูก การควบรวบธุรกิจส่งผลให้มีการกระจุกตัวของธุรกิจ ซึ่งในอนาคตจะเสี่ยงต่อการการแข่งขันของภาคธุรกิจที่ลดลงและผลิตภาพโดยรวมของประเทศ

ความเหลื่อมล้ำ
ซึ่งเกิดจากการที่วิกฤตเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อแต่ละภาคธุรกิจและครัวเรือนไม่เท่ากัน ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากคือกลุ่มที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจSMEs และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือมีสายป่านที่ยาว สามารถเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยีได้ง่ายกว่า ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างธุรกิจต่างๆและระหว่างครัวเรือนต่างๆ ที่สูงขึ้น

ดร. กฤษฎ์เลิศ กล่าวว่า ดังนั้นเพื่อไม่ให้วิกฤตในครั้งนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว จึงจำเป็นต้องลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ โดยทำได้ 2 แนวทาง ได้แก่ 1. มาตรการสาธารณะสุขต้องควบคุมการระบาดของ COVID-19 ให้ได้ 

มาตรการทางเศรษฐกิจต้องทำทั้ง 3 ช่วง คือ (1) การเยียวยา เช่น รักษาการจ้างงาน (2) การฟื้นฟู เช่น ทำให้ธุรกิจเปิดกิจการได้อย่างรวดเร็ว และ (3) การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจหลังการระบาดของCOVID-19 จะไม่เหมือนเดิม มีกำลังแรงงานส่วนเกินในบางธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีการโยกย้ายแรงงานส่วนเกินไปยังธุรกิจที่มีแนวโน้มสดใส ซึ่งหากทำได้แผลเป็นทางเศรษฐกิจก็จะบรรเทาลง

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ เหล่านี้มีข้อจำกัดที่สำคัญจากทรัพยากรของรัฐและความไม่แน่นอนของวิกฤตซึ่งไม่ทราบว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ส่งผลให้การวางแผนมีความลำบาก นอกจากนี้การเยียวยาของภาครัฐต้องอยู่บนพื้นฐานของการไม่สร้างแรงจูงใจที่ผิดให้แก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่มุ่งรอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐโดยไม่เร่งปรับตัวเองสำหรับโลกหลังวิกฤตอีกด้วย

ที่มา : Link
รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612

 1009
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์