มาตรการ 3 steps พาคนไทยพ้นวิกฤตโควิด 19

มาตรการ 3 steps พาคนไทยพ้นวิกฤตโควิด 19

มาตรการ 3 steps พาคนไทยพ้นวิกฤตโควิด 19

        จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย x กระทรวงแรงงาน วิกฤตโควิด 19 มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจโดยเฉพาะในส่วนของรายย่อย และกลุ่มที่มีสายป่านสั้น ต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจในอดีตที่เริ่มจากภาคการเงินขนาดใหญ่ มาตรการภาครัฐจึงพุ่งการช่วยเหลือไปยังคนที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด ในวันนี้จะขอทบทวนมาตรการต้านวิกฤตบางส่วนในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็น 3 steps : เยียวยา สร้างรายได้ เร่งเครื่องยนต์

Step ที่ 1 : เยียวยา

        มาตรการชุดแรกปูพรมเยียวยาคนไทยในช่วงล็อกดาวน์ไตรมาสสองปี 63

        โดยครอบคลุมถึง.. แรงงานในระบบประกันสังคม ผ่านการเพิ่มเงินชดเชยทั้งในกรณี ว่างงาน ถูกให้หยุดงานจากเหตุสุดวิสัย หรือถูกให้หยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 โดย กองทุนประกันสังคมได้ช่วยเยียวยาแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบกว่า 2 ล้านราย ณ มิ.ย. 63 และ คนไทยนอกระบบประกันสังคม ที่ภาครัฐดำเนินการให้ลงทะเบียนรับความช่วยเหลือตามโครงการเราไม่ทิ้งกัน 15 ล้านราย และเกษตรกร 8 ล้านราย

Step ที่ 2 : สร้างรายได้

        มาตรการชุดถัดมาฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์

        โดยมุ่ง.. เพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนอุดหนุนพ่อค้าแม่ค้า ผ่านการขยายเงินช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และช้อปดีมีคืน รวมถึงโครงการยอดนิยมในช่วงหลัง คือ ม.33 เรารักกัน คนละครึ่ง และ เราชนะ ซึ่งเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้ฐานรากกลับมากระเตื้องขึ้นบ้าง

        สร้างงานแล้วกว่า 7 แสนอัตรา ณ ม.ค. 64 ทั้งในส่วนของงานภาครัฐเกือบหกแสนอัตรา และงานภาคเอกชนกว่าแสนอัตรา ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการ Co-payment จ่ายเงินเดือนคนละครึ่งระหว่างนายจ้างและรัฐบาลกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ โดยระยะถัดไปจะขยายขอบเขตไปสู่แรงงานกลุ่มอื่นมากขึ้น

Step ที่ 3 : เร่งเครื่องยนต์

        มาตรการจำเป็นที่ต้องทำต่อ คือ สนับสนุนธุรกิจที่มีกำลังจ้างงานสูงให้เป็นหัวรถจักรลากจูงธุรกิจรายย่อยให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่

        โดยสนับสนุน.. การจ้างงานในธุรกิจที่มีกำลังจ้างงานสูงทั้งที่ได้รับ และไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 เพื่อดูดซับคนว่างงาน และสร้างแรงส่งเศรษฐกิจต่อเนื่อง การยกระดับ/ปรับทักษะแรงงานในธุรกิจที่มีพื้นฐานดีแต่สะดุดชั่วคราว เพื่อรองรับการฟื้นตัวหลังโควิด 19 และการรักษาการจ้างงานและการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจใหม่ในกลุ่มธุรกิจอ่อนแอเพื่อลดข้อจำกัดในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

        เมื่อมองไปข้างหน้า เราคงไม่ได้หวังแค่เพียงประคับประคองให้คนไทยอยู่รอด แต่ต้องทำให้อยู่ได้ดีท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การต่อยอดใช้ประโยชน์จากความร่วมมือของรัฐและเอกชนทั้งรายใหญ่และรายย่อยเป็นฐานสำคัญให้เศรษฐกิจไทยก้าวกระโดดไปข้างหน้าให้ข้ามผ่านทั้งวิกฤตโควิด 19 และความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคต

แหล่งที่มา : Link

 606
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์