โดยปกติแล้ว เมื่อกิจการ (ทั้งห้างฯและบริษัท) ต้องการปิดกิจการซึ่งปกติมักเกิดจาก 3 สาเหตุคือ เจ้าของอยากเลิก/ ล้มละลาย หรือ ศาลสั่ง
ซึ่งขั้นตอนการเลิก เมื่อกิจการจดทะเบียนเลิกที่กรมพัฒน์ฯ แล้วจะต้องทำงบการเงินเพื่อแสดงฐานะการเงินและ ผลประกอบการในรอบสุดท้ายถึงวันที่เลิกกิจการ ซึ่งนักบัญชี และผู้สอบบัญชี อาจต้องพิจารณาสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นพิเศษ เช่น
1. การคำนวณภาษี
กิจการที่เลิกนั้น มักมีการจัดระเบียบสินทรัพย์ และหนี้สิน เพื่อทำให้งบ ณ วันเลิกมีขนาดเล็กที่สุด และยังทำให้สรรพากรไม่มีประเด็นในกรณีที่กิจการจดทะเบียน VAT ด้วย ซึ่งการขายสินทรัพย์ มักจะเกิดแน่นอน ทางผู้ทำบัญชีและผู้สอบ จึงต้องดูผลกระทบจากการขายว่ากิจการบันทึกกำไร/ขาดทุน ถูกต้องหรือไม่ ถ้าจดVAT ต้องดูต่อว่า นำส่ง VAT แล้วหรือยัง เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อสรรพากรภายหลัง เพราะหลายๆกิจการทำการขายทิ้งออกไปแต่ไม่ได้ส่ง VAT ผลคือสรรพากรมีสิทธิที่จะ ยับยั้ง การเลิกกิจการจดกว่าจะชำระเบี้ยปรับเงินเพิ่มแล้วเสร็จ
นอกจากนี้ ในฝั่งหนี้สิน กิจการอาจมีหนี้สินค้างมานานจึงสมควรล้างทิ้งก่อน ปิดกิจการ ซึ่งผลคือ Dr. หนี้สิน Cr. รายได้อื่นๆ ..ซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณภาษีด้วยเช่นกัน
2. ลูกหนี้/เจ้าหนี้กรรมการ
หลายกิจการมี ลูกหนี้/เจ้าหนี้ เงินกู้ยืมระหว่างกรรมการและกิจการ ซึ่งควรจะล้างทิ้งไม่ว่าจะทำโดย ชำระคืน เรียกชำระ หรือยกหนี้ให้ โดยเฉพาะกิจการที่จด VAT หากปล่อยเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการค้างไว้ในงบการเงิน ณ วันเลิก ทางสรรพากรอาจประเมินเบี้ยปรับเงินเพิ่มกรณีไม่ยอมนำส่ง ภธ40 เนื่องจากดอกเบี้ยรับของกิจการ ซึ่งสรรพากร (บางท่าน) มองว่า กิจการควรได้รับชำระกัน แล้ว ณ วันเลิกกิจการ ดังนั้นต้องยื่น ภธ 40 ด้วย
3. รูปแบบการทำงบการเงิน รูปแบบของ งบการเงิน เลิกกิจการ จะแตกต่างจากกิจการทั่วๆไป คือ
นโยบายการบัญชีที่ใช้ (ที่มักจะระบุในหมายเหตุประกอบงบข้อ2) จะไม่ใช่เกณฑ์คงค้าง อีกต่อไป เพราะกิจการเลิกแล้ว จะวัดมูลค่าทุกอย่างตามที่ควรจะได้รับ และลักษณะสินทรัพย์และหนี้ ควรจัดเป็นประเภทหมุนเวียน ทั้งหมด ด้วยเช่นกัน
งบการเงินเปรียบเทียบ
งบเลิกกิจการจะไม่มีปีเปรียบเทียบ ทำเพียงรอบบัญชีที่เลิกกิจการเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติผมเคยเจอทั้ง 2 แบบ คือเจ้าหน้าที่ให้ทำงบการเงินเฉพาะปีเดียวไม่มีงบการเงินเปรียบเทียบ แต่บางท่านก็อนุโลมให้มีงบเปรียบเทียบได้อย่างปกติ ซึ่งส่วนตัวมองว่าถ้าทำงบ เปรียบเทียบกับปีก่อนอาจทำให้คนอ่านงบเข้าใจผิดได้ เพราะนโยบายบัญชีที่ใช้ต่างกัน (ไม่ใช่เกณฑ์คงค้างแล้ว)
วันที่ในงบการเงิน
ต้องระบุด้วยว่าวันที่ในงบเลิกกิจการนี้ให้ชัดเจนว่าเป็น “วันที่มีมติเลิก” หรือ “วันที่จดทะเบียนเลิก” เนื่องจากตัวกฎหมายกำหนดให้กิจการสามารถเลือกได้ว่าจะจัดทำงบการเงินตามวันที่ประชุมที่มีมติเลิก หรือ วันที่จดทะเบียนเลิกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถ้าให้ผมแนะนำเราควรเลือกวันที่จดทะเบียนเลิกครับ วันที่เลิกจะได้ตรงกับหลักฐานในหนังสือรับรองบริษัท
ผู้รับผิดชอบงบการเงิน
โดยปกติแล้ว กรรมการ จะเป็นผู้เ็ซนงบการเงิน แต่ในขั้นตอนการจดเลิกกิจการนั้น คนรับผิดชอบการทำงบจะกลายเป็น ผู้ชำระบัญชี ซึ่งอาจเป็นใครก็ได้ แล้วแต่กรรมการแต่งตั้ง ดังนั้นในงบการเงิน จะต้องระบุถึงผู้ชำระบัญชี ไม่ใช่ตำแหน่งกรรมการในการรับรองงบการเงินครับ
หน้ารายงานผู้สอบบัญชี
ในหน้ารายงานผู้สอบฯ ตามประกาศตัวอย่างของสภาวิชาชีพฯ จะให้ระบุ "ข้อมูลและเหตุการณืที่เน้น" เพื่อธิบายถึงการเลิกกิจการด้วย
ทั้งหมดนี้คงเป็นตัวอย่างคร่าวๆสำหรับสิ่งที่ต้องสังเหตุในการจัดทำงบการเงินเลิกกิจการ ดังนั้นผู้ทำ/ผู้สอบควร ดูคร่าวๆก่อนส่งงบให้ลูกค้าเพื่อลดความผิดพลาดกันด้วย