• หน้าแรก

  • BLOG myAccount Cloud

  • ถ้าดอกเบี้ยสูงขึ้น ธุรกิจไหนบ้างที่จะได้ประโยชน์ หรือธุรกิจไหนบ้างจะเสียประโยชน์?

ถ้าดอกเบี้ยสูงขึ้น ธุรกิจไหนบ้างที่จะได้ประโยชน์ หรือธุรกิจไหนบ้างจะเสียประโยชน์?

  • หน้าแรก

  • BLOG myAccount Cloud

  • ถ้าดอกเบี้ยสูงขึ้น ธุรกิจไหนบ้างที่จะได้ประโยชน์ หรือธุรกิจไหนบ้างจะเสียประโยชน์?

ถ้าดอกเบี้ยสูงขึ้น ธุรกิจไหนบ้างที่จะได้ประโยชน์ หรือธุรกิจไหนบ้างจะเสียประโยชน์?

       หนึ่งในสัญญาณที่กำลังบอกเราว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น ก็คือ Bond Yield หรือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกนิยมใช้อ้างอิงกันมากที่สุดก็คือ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เมื่อไม่นานมานี้ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ได้ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1.6% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา

       สาเหตุหลักที่อัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความกังวล ต่ออัตราเงินเฟ้อ ที่มีโอกาสจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และเมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ธนาคารกลางชะลอการอัดเงินเข้าระบบ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ล่าสุดคุณ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ก็ได้ออกมาระบุว่าจะยังคงเดินหน้าอัดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป โดยให้เหตุผลว่าระดับเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้มาก จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องหยุดการอัดฉีดเงินเข้าระบบ และยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

       แต่ตอนนี้หลายคน น่าจะเริ่มสงสัยกันแล้วว่า หากในอนาคตมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นธุรกิจไหนบ้างที่จะได้ประโยชน์ หรือธุรกิจไหนบ้างจะเสียประโยชน์ หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มสูงขึ้น

       กลุ่มธุรกิจแรกที่จะได้ประโยชน์ก็คือ กลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ นั่นก็เพราะว่า ธนาคารสามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบาย และมีช่องว่างให้ปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นตามในขนาดที่น้อยกว่าหรือช้ากว่า เรื่องดังกล่าวจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ Net Interest Margin (%NIM) เพิ่มขึ้น เมื่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ส่วนต่างที่ว่านี้จะไหลลงมาเป็นกำไรของธนาคารทันที

       นอกจากธุรกิจธนาคารแล้ว ธุรกิจประกัน ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย นั่นก็เพราะว่าธุรกิจประกัน จะนำเบี้ยประกันของเราส่วนหนึ่งเป็นกองทุนสำรอง และบริษัทจะนำเงินกองทุนสำรองนี้ไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน มาดูกันว่าบริษัทประกัน ลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน ในสินทรัพย์อะไรบ้าง?
  • ตัวอย่างการลงทุนของธุรกิจประกันชีวิต เช่น บริษัท AIA ประเทศไทย ปี 2562 ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ 9.57 แสนล้านบาท ได้แบ่งเงินลงทุนในสินทรัพย์ออกเป็น
       - ตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร และหุ้นกู้ 79%
       - ตราสารทุน หรือหุ้น 13%
       - สินทรัพย์อื่นๆ เช่น เงินฝากสถาบัน และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน 9%

       จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการลงทุนของบริษัทประกันจะเป็นสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้เป็นหลัก โดยผลตอบแทนของตราสารหนี้เหล่านี้ จะอ้างอิงตามอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและลดลง เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นเงินที่บริษัทประกันนำไปลงทุนใหม่ (reinvest) จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นรวมไปถึงเบี้ยประกันที่บริษัทรับมาใหม่ ก็จะนำเงินไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนสูงขึ้นเช่นกัน

       อย่างไรก็ตามถ้าตราสารหนี้ที่บริษัทประกันลงทุนอยู่เป็นประเภทที่ต้องตีราคาตลาด ก็จะมีโอกาสที่ตราสารหนี้เหล่านั้นจะมีมูลค่าตามราคาตลาดลดลง แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ตราสารหนี้ที่บริษัทประกันถือ จะถือจนครบกำหนดอายุ โดยไม่ได้ตีราคาตลาด คำถามต่อมาก็คือ ใครเสียประโยชน์ จากการขึ้นของอัตราดอกเบี้ย?

       ธุรกิจแรกที่จะเสียประโยชน์ ก็คือ ผู้ให้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อบัตรเครดิต ที่เก็บดอกเบี้ยสูง หรือชนเพดาน เพราะบริษัทจะไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่านี้ได้แล้ว ในขณะที่บริษัทเหล่านี้จะมีต้นทุนเป็นการกู้ยืมจากแหล่งอื่นที่สูงขึ้น เช่น หุ้นกู้ หรือตั๋วแลกเงินที่บริษัทเป็นคนออก นั่นจึงทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจกลุ่มนี้ลดลง ซึ่งจะกลับข้างกันกับธนาคารพาณิชย์

       อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ก็คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จะทำให้จำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระต่องวดของผู้พักอาศัยเพิ่มขึ้นทำให้คนที่จะกู้มาซื้อบ้านมองว่ามีภาระต้องจ่ายหนักขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ลดลงได้ นอกจากในรายกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบแล้ว การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยยังส่งผลกระทบต่อทุกบริษัท ที่มีภาระหนี้สินสูง เพราะหากบริษัทไหนยังประสบปัญหาจากวิกฤติ บริษัทเหล่านี้ก็ยังจะต้องกู้เพิ่ม ซึ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของทางบริษัทก็จะเพิ่มสูงขึ้น ท้ายที่สุ มันก็จะกดดันให้กำไรบริษัทลดลง

       ซึ่งในกรณีอย่างบริษัทซอมบี หรือบริษัทที่มีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยต่ำที่กำลังเอ็นจอยกับภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำมาตลอดหลายปีก็อาจเผชิญกับหายนะ เราสามารถสรุปได้ว่าหากมีการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนั้น จะมีกลุ่มธุรกิจที่ทั้งได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ สิ่งที่น่าจับตามองที่สุดในปีนี้ก็คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ตอนนี้ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จนหลายคนกังวลกันว่ามันจะกลายมาเป็นสัญญาณของเงินเฟ้อ

       ในความเป็นจริงแล้ว เงินเฟ้ออ่อนๆ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันแสดงให้เห็นว่ามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการลงทุน การผลิต และการจ้างงาน แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาเป็นผลมาจากการอัดฉีดเงินจนล้นระบบโดยที่ภาคเศรษฐกิจจริงยังไม่ฟื้นก็จะถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก

แหล่งที่มา : Link

 782
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์