เงินได้พึงประเมินอะไรบ้างที่ได้รับการยกเว้นภาษี?

เงินได้พึงประเมินอะไรบ้างที่ได้รับการยกเว้นภาษี?

       การกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นไปเพื่อบรรเทาหรือลดทอนภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้บางประเภท กล่าวโดยทั่วไป การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบ่งออกเป็น 5 กรณีดังต่อไปนี้

1. การกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคล แบ่งเป็น


       1.1 การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ หรือทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ เอกอัคร ราชทูต ทูต กงสุลใหญ่ กงสุล หรือบุคคลในคณะทูต ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
       1.2 การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลหรือคณะบุคคลเฉพาะกิจตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในมาตรา 3 ซึ่งจะมีการตราพระราชกฤษฎีกาฯ ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรเป็นคราวๆ ไป

2. การกำหนดยกเว้นภาษีอากรสำหรับการกระทำกิจกรรมหรือรายได้ อาทิ

       2.1 การยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินตามที่กำหนดในมาตรา 42
       2.2 การยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) พ.ศ. 2509 ซึ่งออกตามความในมาตรา 42 (17)

3. การกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับจำนวนเงินภาษี ได้แก่

       3.1 การยกเว้นเศษของบาทในการคำนวณภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
       3.2 การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินแล้วมีจำนวนต่ำกว่าห้าบาท เป็นอันไม่ต้องเรียกเก็บตามมาตรา 48 วรรคท้าย

4. การให้เครดิตภาษี ได้แก่

       4.1 การให้เครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ตามมาตรา 47 ทวิ
       4.2 การให้เครดิตภาษีตามข้อตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ
             4.2.1 การให้เครดิตทั่วไป สำหรับจำนวนภาษีเงินได้ที่ผู้เสียภาษี ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้จ่ายให้แก่รัฐบาลต่างประเทศที่ประเทศไทยมีข้อตกลงว่าด้วยการเว้นการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน
             4.2.2 การให้ Tax Sparing แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุน

5. การกำหนดยกเว้นภาษีอากรกรณีอื่น อาทิ

       5.1 การหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 47 เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัวผู้มีเงินได้ คู่สมรสและบุตร รวมทั้งค่าลดหย่อนการศึกษาของบุตรของผู้มีเงินได้ ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต ค่าลดหย่อนเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ค่าลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และค่าลดหย่อนเงินบริจาค
       5.2 การยกเว้นเงินได้สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา จำนวนร้อยละ 100 ของค่าใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุนการศึกษาดังกล่าวตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547
       5.3 การยกเว้นเงินได้ที่มีผลเสมือนเป็นค่าลดหย่อน
       5.4 การยกเว้นเงินได้ในลักษณะเพิ่มค่าใช้จ่ายทางภาษีอากรเป็นจำนวนสองเท่าของค่าจ้าง ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างคนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพคนพิการ พ.ศ. 2550 ประกอบพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553
       5.5 การยกเว้นเงินได้ที่มีผลเป็นการเลือกเสียภาษีเงินได้กรณีต่างๆ
นอกจากนี้ ยังต้องศึกษาการกำหนดยกเว้นตามกฎหมายภาษ๊การรับมรดก เพิ่มเติมอีกด้วย

แหล่งที่มา : Link
 1307
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์