Metaverse เป็นคำศัพท์แห่งอนาคตที่เราได้ยินมาอย่างต่อเนื่องเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งได้กลายเป็นที่นิยมและได้รับการพูดถึงทั่วโลก หลังจากที่ Mark Zuckerberg CEO ของ Facebook ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเดิม Facebook เป็น Meta เพื่อพาธุรกิจก้าวสู่ระยะต่อไปที่เป็นมากกว่าโซเชียลมีเดีย บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจกันว่า Metaverse คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง ต้องประกอบไปด้วยเทคโนโลยีอะไรบ้าง และเกี่ยวข้องอย่างไรกับ Cryptocurrency
Metaverse มาจากคำว่า Meta กับ Verse รวมแล้วได้ความหมายว่าเป็น “จักรวาลที่อยู่เหนือจินตนาการ” ปรากฏครั้งแรกในนวนิยาย Sci-Fi ที่มีชื่อว่า Snow Crash เป็นโลกอีกใบที่ให้ผู้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันผ่านการจำลองเป็นตัวละครต่าง ๆ (Avatar)
เมื่อกาลเวลาผ่านไป คนก็ได้เข้าถึงเทคโนโลยีและโลกอินเทอร์เน็ตพัฒนาอย่างก้าวกระโดด หลาย ๆ คนก็ได้แต่งเติมรายละเอียด Metaverse เพิ่มเติม ขอบเขตของ Metaverse จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่โลก หรือจักรวาลแห่งหนึ่ง แต่เป็นอะไรก็ได้ ที่เกิดจากเทคโนโลยีและช่วยเชื่อมต่อผู้คนให้สามารถสื่อสารและทำกิจกรรมกันได้
ตัวอย่างเช่น เกมออนไลน์ที่มีผู้เล่นสวมบทบาทเป็นตัวละครอวาตาร์ (Avatar) เหมือนที่พบในโลก OASIS ของนวนิยายเรื่อง Ready Player One หรือจะเป็นพื้นที่โลกเสมือนจริงที่ให้คนได้พบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในโปรแกรม Zoom แม้กระทั่งเป็นแพลตฟอร์ม ที่อยู่ของ community ที่คอยแบ่งปันคอนเทนต์ใหม่ ๆ ร่วมกัน อาทิ Facebook, Instagram หรือ Twitter
อย่างไรก็ตาม Metaverse ก็ยังไม่มีนิยามหนึ่งเดียวแท้จริง เพราะตอนนี้ Metaverse ยังคงเป็นแนวคิดในอุดมคติที่รอคนมาสานฝันให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ภาพรวมของ Metaverse จึงใกล้เคียงกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (World Wide Web) แห่งอนาคตที่ค่อย ๆ กลายเป็นรูปแบบ 3 มิติ มีการไหลเวียนและส่งต่อธุรกิจ ข้อมูล และเครื่องมือการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง และสามารถใช้งานพร้อมกันได้อย่างไร้รอยต่อ เหมือนเป็นการจำลองโลกทางกายภาพให้ไปอยู่ในโลกคู่ขนานรูปแบบดิจิทัล
ระบบนิเวศของ Metaverse ที่พอจินตนาการได้คงจะเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ใช้รายหนึ่งสร้างเอกสารใน Microsoft Word ส่งผ่าน Gmail ไปยังเพื่อนร่วมงานเพื่ออ่านบน iPad จะเห็นได้ว่ามีการใช้งานเทคโนโลยีหลายประเภทในเวลาใกล้เคียงกัน และมีการส่งต่อวัตถุดิจิทัลอย่างไฟล์เอกสารกันข้ามพรมแดนโดยที่วัตถุนั้นยังคงสภาพเดิมไม่ว่าจะผ่านตัวกลางใดก็ตาม
ลองย้อนเวลาไปไม่กี่ปีก่อนหน้า เราคงไม่เห็นว่า Metaverse จะเกิดขึ้นได้ เพราะการใช้ชีวิตของเรายังต้องอาศัยการเดินทาง และต้อง สื่อสารกับคนตัวเป็น ๆ แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้เร่งพัฒนาให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตให้เข้ามาอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างฉับพลัน การรักษาระยะห่างทางสังคมได้ส่งผลให้คนนับล้านต้องทำงานจากที่บ้าน และทำกิจกรรมผ่านทางไกล จึงทำให้เกิดการผุดขึ้นของแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นดอกเห็ด อาทิ Zoom, Slack หรือ Microsoft Teams
จากความแปลกใหม่สู่ความเคยชิน ในวินาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนเริ่มคุ้นเคยกับการจำลองตัวเองในฐานะตัวละครหนึ่ง (Avatar) เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนในโลกดิจิทัลได้อย่างไร้พรมแดน เราใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลและเกมออนไลน์จนกลายเป็นพฤติกรรมหลัก จนทำให้จากแนวคิด Metaverse เริ่มก่อตัวเป็นรูปร่างและได้รับความสนใจ
ยิ่งไปกว่านั้น การมาของสกุลเงินดิจิทัล Cryptocurrency และสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ได้สร้างการรับรู้ให้กับคนว่าแท้จริงแล้ว เราสามารถซื้อ-ขายสินค้าและบริการด้วยเงินสมมติในโลกดิจิทัลได้ อีกทั้งสามารถครอบครอง ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ภาพจำลองทางดิจิทัลที่ไม่สามารถจับต้องได้เลย ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะ การแสดง หรือคลิปคอนเสิร์ตออนไลน์ก็ตาม ครั้นพอคนเริ่มยอมรับ Cryptocurrency กันอย่างแพร่หลาย ทำให้กิจกรรมทางดิจิทัลเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้และมีอยู่จริงมากขึ้น
อย่างที่ทราบกันดีว่า Metaverse ไม่ใช่เพียงแค่โลกเสมือนจริง (Virtual Reality) ที่เปิดให้คนสื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่ก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่ได้เชื่อมต่อผู้คนระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงไปสู่โลกดิจิทัล โดยอาศัยการใช้เทคโนโลยีหลายประเภท เพื่อทำกิจกรรมใดก็ได้พร้อม ๆ กัน คำศัพท์ที่ปรากฏอยู่ดังต่อไปนี้มีส่วนประกอบสร้าง Metaverse ให้สมจริงและจับต้องได้มากขึ้น
Assisted Reality เทคโนโลยีผู้ช่วยที่อำนวยความสะดวกให้ผู้คนสามารถดูหน้าจอและโต้ตอบกับหน้าจอได้โดยไม่ต้องใช้มือ (hands-free) ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้คือ แว่นตาอัจฉริยะ ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย ให้ผู้ใช้สื่อสารและสั่งการผ่านเสียงก็จะได้ข้อมูลขึ้นสู่สายตาทันที
Augmented Reality (AR) เทคโนโลยีโลกเสมือนที่สามารถปรากฏอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ส่วนใหญ่ธุรกิจค้าปลีกจะใช้เทคโนโลยี AR เพื่อให้ลูกค้าสามารถทดสอบนำสินค้าในโลกออนไลน์ไปจำลองในโลกจริง ตัวอย่างเช่น IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ระดับโลก ได้ผลิตแอปพลิเคชัน เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองนำรูปเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเทคโนโลยี AR ไปทดลองวางในห้องตนเองได้
Meatspace คำที่ใช้เรียกโลกทางกายภาพ หรือโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่เป็นส่วนใหญ่
Multiverse หรือ จักรวาลโลกคู่ขนาน ใช้เรียกแพลตฟอร์ม หรือ Community ในโลกดิจิทัลที่ทำงานอิสระจากกันและกัน ตัวอย่างเช่น Facebook, Minecraft, Instagram, Roblox, Fortnite, Discord โดยตามทฤษฎีแล้ว Metaverse สามารถดึง Multiverse เหล่านี้มาทำงานอยู่ในที่เดียวได้
NFT หรือ Non-Fungible Tokens เป็นเสมือนเครื่องยืนยันว่าใครก็ตามสามารถครอบครอง ซื้อ หรือ ขาย และสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่ปรากฏอยู่ในโลกดิจิทัลเท่านั้น โดยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนคอยกำกับความเป็นเจ้าของและป้องกันการขโมย ตัวอย่างของ NFT ได้แก่ ผลงานศิลปะ บัตรกีฬา ของสะสม โดย NFT สามารถซื้อขายได้โดยสกุลเงินดิจิทัล Cryptocurrency
Virtual Reality หรือ ประสบการณ์เสมือนจริง เป็นการใช้อุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงผู้ใช้งานกับโลกดิจิทัล ตัวอย่างเช่น การที่ผู้คนในในนวนิยายเรื่อง Ready Player One ใช้ชุดแว่น Virtual Reality เพื่อเดินทางสู่โลกแห่งเกม
หลังจากที่ได้ศึกษาแนวคิดของ Metaverse และเห็นการเกิดขึ้นมาของเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกผู้ใช้งานให้สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้พรมแดน หลายคนอาจเอะใจแล้วไม่น้อยว่า เราอาจจะอยู่ในโลก Metaverse แล้วก็เป็นได้
ประโยคข้างต้นมีความจริงอยู่ส่วนหนึ่งตรงที่ขณะนี้ เราสามารถทำกิจกรรม มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในโลกดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม Metaverse ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เพราะยังขาดองค์ประกอบสำคัญที่ว่า เทคโนโลยี หรือการไหลเวียนส่งต่อข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะต้องทำงานได้พร้อมกันและมีเสถียรภาพ
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้คนนับล้านยังห่างไกลจากแนวคิดของ Metaverse อยู่มาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงและใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริงได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้ง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอินเทอร์เน็ตที่เร็วและความหน่วงต่ำเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีหลายประเภทได้ นอกจากนี้ โลกออนไลน์ที่เราอาศัยอยู่ยังไม่สามารถจัดการสตรีมข้อมูลหลายร้อยรายการพร้อมกัน เพราะคลาวด์ยังไม่รองรับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่มหึมาได้
จะเห็นได้ว่าต่อให้มีการผลิตเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์แนวคิด Metaverse มากเท่าไร การเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตยังเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างภาพของ Metaverse ให้มีอยู่จริง หากในอนาคตคนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ สามารถเชื่อมต่อโลกอินเทอร์เน็ตได้ด้วยความเร็วสูงกว่าระดับ 6G เราอาจเห็นโลกทั้งใบของ Metaverse กับตาตนเองก็เป็นได้
By Kultida Techsauce
ที่มาบทความ