อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 4 ตุลาคม หรือวันที่ 5 ตุลาคมในเวลาประเทศไทย มัสก์ ได้กลับเปิดสวิตช์การซื้อกิจการทวิตเตอร์กลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยยืนยันตัวเลขการซื้อกิจการที่ 54.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่าการซื้อกิจการทั้งหมด 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
การตัดสินใจกลับมาสู่ดีลนี้อีกครั้งหนึ่งของมัสก์ อาจต้องกล่าวว่า เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วก็เป็นไปได้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เมื่อต้องเปิดเอกสารทั้งสองฝ่ายโดยศาลเดลาแวร์ มีความเป็นไปได้ว่า ฝ่ายของมัสก์ อยู่ในฝ่ายที่เสียเปรียบ
สิ่งที่ชวนทำให้คิดจากประเด็นนี้ก็คือว่า การที่มัสก์ ตัดสินใจกลับลำกลับมาซื้อกิจการทวิตเตอร์อีกครั้งหนึ่ง อาจเป็นเพราะว่า ฝ่ายกฎหมายของมัสก์ ได้พูดคุยกับลูกความอย่างชัดเจนว่า โอกาสของคดีนี้ มัสก์ ต่างหากที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบ มัสก์จึงลองเงี่ยหูฟัง พร้อมกับกดปุ่มเดินหน้าการซื้อกิจการอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากที่ มัสก์ กลับเข้าสู่ขั้นตอนของการซื้อกิจการทวิตเตอร์ จึงทำให้ผู้พิพากษาของศาลเดลาแวร์ เลื่อนการพิจารณาคดีของทวิตเตอร์และอีลอน มัสก์ ลงชั่วคราว เพื่อให้มัสก์ รวบรวมเงินสำหรับการซื้อกิจการทวิตเตอร์ แต่ผู้พิพากษาได้วางกรอบการเทกโอเวอร์ครั้งนี้ว่าจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 28 ตุลาคมนี้ มิเช่นนั้น การพิจารณาคดีจะดำเนินการต่อไปในเดือนพฤศจิกายน
ในกรณีนี้ ผมขอลองมองข้ามชอตไปว่า เมื่อดีลระหว่างอีลอน มัสก์ และทวิตเตอร์ จบบริบูรณ์ อะไรจะเกิดขึ้นเป็นอย่างต่อไป
ผมคิดว่า สิ่งที่มัสก์จะต้องทำ แล้วก็ต้องทำอย่างเร่งด่วนด้วย นั่นคือ การซื้อใจพนักงานทวิตเตอร์ เพราะเราต้องไม่ลืมว่า มัสก์ เป็นคนที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย การตัดสินใจของเขาในหลายครั้ง ไปจนถึงการทวีตบนทวิตเตอร์ เป็นพฤติกรรมที่ไม่อยู่ในร่องในรอยนัก ไม่ว่าอย่างไร เมื่อมัสก์ เป็นเจ้าของทวิตเตอร์ เขาต้องสร้างศรัทธาให้กับพนักงานของเขาเอง
ในเวลาเดียวกัน เมื่อมัสก์ มีความกังวลต่อบัญชีบอต-บัญชีปลอม มากถึงขนาดนั้น จนใช้มาเป็นข้ออ้างในการล้มดีลการซื้อกิจการ เมื่อถึงวันนั้นจริง การจัดการในส่วนนี้ของมัสก์ จะยังคงแสดงความกังวลเหมือนกับในวันที่เขายังไม่ได้เป็นเจ้าของทวิตเตอร์หรือไม่
พร้อมกันนี้ บุคคลภายนอกอีกจำนวนมาก ก็รอที่จะตั้งคำถามต่อมัสก์ว่า เสรีภาพในการแสดงออกที่มัสก์ เคยพูดเอาไว้ในวันที่ต้องการเทกโอเวอร์ทวิตเตอร์ มันคืออะไร แล้วทำอย่างไร เมื่อมัสก์เป็นเจ้าของทวิตเตอร์สักระยะหนึ่งแล้ว ความคืบหน้าในส่วนนี้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง
ตามด้วยในประเด็นการเปิดให้อัลกอริทึมของทวิตเตอร์ให้อยู่ในลักษณะโอเพนซอร์ส ควรมีหน้าตาในลักษณะอย่างไร ใช่การเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเลือกปรับแต่งอัลกอริทึมในลักษณะของตัวเองหรือไม่ หรือเป็นการเปิดอิสระในการใช้อัลกอริทึมของทวิตเตอร์อย่างนั้นหรือ เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่น่าสนใจทั้งสิ้น
สิ่งที่น่าสนใจประการต่อมาก็คือ เรื่องของระบบนิเวศที่อยู่รายล้อมทวิตเตอร์ในยุคของอีลอน มัสก์ ทั้งนี้ ในช่วงที่อีลอน มัสก์ กลับมาเปิดปุ่มซื้อทวิตเตอร์ เขาได้พูดถึงแพลตฟอร์ม X ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า มันคืออะไร สิ่งที่พอจะรู้มีแต่เพียงว่า แพลตฟอร์ม X ที่ว่านี้ จะเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง (ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้รู้อะไรเพิ่มเติมเหมือนเดิม)
ที่มา https://www.thairath.co.th/