Easy E-Receipt 2.0 ช้อปลดหย่อนภาษี เริ่ม 16 ม.ค. 2568

Easy E-Receipt 2.0 ช้อปลดหย่อนภาษี เริ่ม 16 ม.ค. 2568




ครม.เคาะมาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” ซื้อสินค้าและบริการในร้านค้าที่จดทะเบียนภาษี ร้านโอทอป วิสาหกิจชุมชน ลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท เริ่มตั้งแต่ 16 ม.ค. - 28 ก.พ. 68 คาดรัฐบาลสูญรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10,500 ล้านบาท

Easy E-Receipt (ชื่อเดิม e-Refund) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อต้นปี 2567 ในยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นมาตรการปลอบใจสำหรับคนที่ไม่เข้าเกณฑ์จะได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยซื้อสินค้าและบริการ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญคือ มีรายได้ไม่เงิน 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากทุกบัญชีรวมไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท

ล่าสุดรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ได้นำมาตรการ Easy E-Receipt กลับมาใช้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 67 ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการมาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” เพื่อสนับสนุนการบริโภคในประเทศ ส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีและการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

มาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” เป็นการกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถนำค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักรจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปหักลดหย่อนภาษีในปี 2568 ได้สูงสุด รวม 50,000 บาท

โดยแบ่งการสินค้าหรือค่าบริการทั่วไป รวมค่าซื้อสินค้าโอทอป (OTOP) และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

ทั้งนี้แต่หากเกิน 30,000 บาท ให้หักลดหย่อนสำหรับค่าซื้อสินค้า OTOP ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและกฎหมายว่า ด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท

มาตรการดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. จนถึง 28 ก.พ. 68 และจะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น

เงื่อนไขใช้ Easy E-Receipt 2.0

สำหรับเงื่อนไขในการใช้มาตรการฯ คือ ต้องสินค้าและค่าบริการทุกประเภท จากร้านผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร หากกรณีไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร 2.ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (E- book), ค่าซื้อสินค้า OTOP ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว, ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่ว่าวิสาหกิจชุมชนนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และสุดท้ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อ สวส.

สินค้า-บริการที่ใช้ไม่ได้

สินค้าและบริการที่ไม่เข้าข่ายมาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” ได้แก่

1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์

2. ค่าซื้อยาสูบ

3. ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ

4. ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และค่าซื้อเรือ

5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

6. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการ ดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด

7. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

8. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ 9. ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

9. ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยให้แก่ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

10. ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบการสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ซึ่งผู้มีเงินได้ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการนี้ต้องไม่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

อย่างไรก็ตามรัฐบาลตั้งเป้าหมายมาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” จะช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท และช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 2.3 – 3.3 และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี โดยกรมสรรพากรคาดการณ์ว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 1.4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท และจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 10,500 ล้านบาท
 80
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์