รายได้สิ่งที่นักบัญชีไม่ควรมองข้าม

รายได้สิ่งที่นักบัญชีไม่ควรมองข้าม

          เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีในแต่ละปีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องมีการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ในการคำนวณกำไรสุทธิต้องใช้เกณฑ์สิทธิ ซึ่งการคำนวณรายได้และรายจ่ายโดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังไม่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ดังนั้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องนำรายได้มาหักรายจ่ายเพื่อคำนวณหากำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญของภาษีเงินได้นิติบุคคลจะประกอบไปด้วย

  1. รายได้
  2. รายจ่าย
  3. กำไร หรือ ขาดทุนสุทธิ

        ปัญหาของรายได้และรายจ่ายนั้นหัวใจสำคัญจะอยู่ที่ระบบเอกสารหลักฐานประกอบการลงรายการบัญชี สมุดบัญชีขั้นต้น สมุดบัญชีแยกประเภทงบการเงินและรายงานผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีที่จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แยกการพิจารณาได้ดังนี้

 รายได้ (Revenue)

        รายได้(Revenue)หมายถึงจำนวนเงินสด ลูกหนี้ สินทรัพย์ สิทธิ หรือผลตอบแทนอื่นที่ได้มาจากการประกอบกิจการโดยปกติของกิจการก่อนหักรายจ่ายใดๆจากการขายสินค้าหรือให้บริการและจากการให้ใช้สินทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดรายได้ในลักษณะของดอกเบี้ย ค่าสิทธิ์ และเงินปันผล จำนวนรายได้จะกำหนดจากจำนวนเงินที่กิจการคิดเอาจากลูกค้า สำหรับสินค้าที่ขายหรือให้บริการที่ได้ให้หรือจำนวนเงินที่คิดจากลูกค้าและผลตอบแทนที่เกิดจากการให้ใช้สินทรัพย์แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงจำนวนที่เรียกเก็บหรือรับแทนบุคคลอื่น ปัญหาเกิดขึ้นว่าเมื่อไรจึงจะถือว่าขั้นตอนการขายได้บรรลุผลสำเร็จและถือว่ารายได้เกิดขึ้นแล้วหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ

  1. การขายสินค้า

1.1ผู้ขายได้โอนความเสี่ยงและผลประโยชน์ที่มีนัยสำคัญในการเป็นเจ้าของสินค้าไปให้แก่ผู้ซื้อแล้ว กระบวนการขายที่มีนัยสำคัญได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วและผู้ขายมิได้มีส่วนในด้านการจัดการและไม่มีสิทธิควบคุม หรือใช้สินค้าที่โอนไปในฐานะที่เจ้าของโดยปกติวิสัยจะพึงมีอีกต่อไป

1.2 ปราศจากความไม่แน่นอนอันมีนัยสำคัญเกี่ยวกับ

 - จำนวนผลประโยชน์ตอบแทนที่จะได้รับจากการขายสินค้านั้น

 - จำนวนต้นทุนที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นแล้ว หรือจะเกิดขึ้นในการผลิต หรือซื้อสินค้านั้น

 - จำนวนสินค้าที่ผู้ซื้อจะส่งคืน

 2. การให้บริการ

2.1 จำนวนผลประโยชน์ตอบแทนที่จะได้รับการให้บริการ 

2.2 จำนวนต้นทุนที่เกี่ยวข้องซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว หรือที่จะเกิดขึ้นในการให้บริการ

 3. การให้ผู้อื่นใช้ทรัพย์สินของกิจการ

3.1 ดอกเบี้ย รับรู้รายได้ตามสัดส่วนของระยะเวลา

3.2 ค่าลิขสิทธิ์ รับรู้รายได้ตามเกณฑ์ที่พึงจะได้รับตามข้อตกลง

3.3 เงินปันผลจากการลงทุน รับรู้รายได้เมื่อสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล เกิดขึ้นแล้ว

 รายได้จากการประกอบธุรกิจจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. รายได้จากการดำเนินงาน (OPERATING REVENUES)  หมายถึงรายได้ที่เกิดจากการขายสินค้า หรือการให้บริการตามปกติของธุรกิจ โดยถือเป็นรายได้ที่เกิดจากประกอบกิจการ โดยตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้มีการจัดตั้งกิจการขึ้นเพื่อการดำเนินธุรกิจจะเรียกว่า“รายได้หลัก”เช่น รายได้จากการขายสินค้า รายได้จากการผลิตสินค้าออกจำหน่าย รายได้ในการให้บริการ

 2. รายได้อื่น (NON OPERATING REVENUES)   หมายถึงรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินตามปกติของธุรกิจแต่เป็นรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการซึ่งเกิดจากผลพลอยได้จากการดำเนินงานทางอ้อม เช่น กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ค่าเช่ารับเงินปันผลรับ กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

 รายได้ตามประมวลรัษฎากร

          การเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี ผู้มีเงินได้ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องมีการยื่นแบบและชำระภาษี(ถ้ามี) ภายใน 150 วันเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีและจะต้องยื่นเสียภาษีกลางปีภายใน 2 เดือนนับจากสิ้นเดือนกลางปีของแต่รอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 67 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยการนำรายได้หักด้วยรายจ่ายเพื่อคำนวณหากำไรหรือขาดทุนสุทธิ ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ อะไรคือเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ซึ่งตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรเรียกเงินได้ที่ต้องเสียภาษีดังกล่าวว่า“เงินได้พึงประเมิน (Assessable Income)”

          "เงินได้พึงประเมิน (Assessable Income)" หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง  ๆ ตามมาตรา 40 และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ ด้วย

บทความโดย www.dst.co.th

 

 1857
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์