รายงานการเงินเป็นเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันของผู้ใช้ ดังนั้น จึงอาจจำแนกการบัญชีตามวัตถุประสงค์ของการใช้ข้อมูลได้เป็น 2 ลักษณะคือ การบัญชีการเงิน (Financial Accounting) และการบัญชีเพื่อการจัดการ (Managerial Accounting) ดังนี้
1. การบัญชีการเงิน เป็นการบัญชีที่มีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอรายงานข้อมูลทางการบัญชีเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกองค์กร ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ลูกจ้าง ผู้ให้กู้ ผู้ขายสินค้าและเจ้าหนี้อื่น ลูกค้า รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการ และสาธารณชน ข้อมูลทางการบัญชีจะรวบรวมจากหลักฐานที่เกิดขึ้นในอดีตที่สามารถตรวจสอบได้และจัดทำในรูปของรายงานการเงินรวมของทั้งองค์กรที่เป็นไปตามหลักการบัญชีที่ยอมรับทั่วไป ได้แก่ งบกำไรขาดทุน งบแสดงฐานะการเงิน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น งบกระแสเงินสด หมายเหตุประกอบ งบการเงิน เป็นต้น โดยเน้นข้อมูลที่ถูกต้องและมีระยะเวลาการเปิดเผยงบการเงินที่เป็นไปตามกฎ ระเบียบและข้อบังคับตามกฎหมาย
2. การบัญชีเพื่อการจัดการ เป็นการบัญชีที่นำเสนอข้อมูลทางการบัญชีต่อฝ่ายจัดการหรือผู้บริหารเพื่อประโยชน์ในการวางแผน ควบคุม ประเมินผลการดำเนินงานและการตัดสินใจ ของผู้บริหารทุกระดับ ข้อมูลทางการบัญชีจะรวบรวมทั้งจากหลักฐานที่เกิดขึ้นในอดีตและข้อมูลประมาณการสำหรับอนาคตที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ในการใช้ข้อมูลของผู้บริหาร รายงานทางการเงินอาจเสนอแยกตามหน่วยงานย่อยก็ได้ โดยจะให้ความสำคัญที่ความเกี่ยวข้องของข้อมูลที่จะใช้วิเคราะห์ในการตัดสินใจและความทันเวลา ส่วนระยะเวลาการจัดทำรายงานการเงินจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริหาร
โดยทั่วไปข้อมูลทางการบัญชีที่นำเสนอในลักษณะของการบัญชีการเงินและการบัญชีเพื่อการจัดการต่างก็ได้มาจากเอกสารหลักฐานทางการเงินชุดเดียวกันและได้จากระบบสารสนเทศทางบัญชีระบบเดียวกัน แต่มีข้อแตกต่างกันหลายประการ สรุปได้ดังนี้
ข้อแตกต่างระหว่างการบัญชีการเงินและการบัญชีเพื่อการจัดการ
ข้อแตกต่าง |
การบัญชีการเงิน |
การบัญชีเพื่อการจัดการ |
1. ผู้ใช้ข้อมูล |
ผู้ใช้ภายนอกองค์กรได้แก่ ผู้ถือหุ้น ผู้ให้กู้ ผู้ลงทุน หน่วยงานราชการ เป็นต้น |
ผู้ใช้ภายในองค์กร ผู้บริหาร |
2. ลักษณะของข้อมูลที่นำเสนอ |
เป็นข้อมูลทางการเงินที่อยู่ในรูป ของข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น กำไรสุทธิ ต้นทุนการผลิตของสินค้า ยอดขาย ค่าใช้จ่ายในการขายและค่าใช้จ่ายในการบริหาร เป็นต้น |
เป็นทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูล ที่ไม่เกี่ยวกับการเงินซึ่งอยู่ในรูปของข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น ความคิดเห็นของนักบัญชี คุณภาพของสินค้า เป็นต้น |
3. กฎเกณฑ์การจัดทำงบการเงิน |
กฎเกณฑ์การจัดทำงบการเงินเป็นมาตรฐานสากล จัดทำตามมาตรฐานการบัญชี เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป |
ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้ข้อมูลของผู้บริหาร |
4. เวลาที่ได้ข้อมูล |
เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต และได้จากหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้ |
บางส่วนเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต บางส่วนเป็นข้อมูลประมาณการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่มีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของผู้บริหาร |
5. ลักษณะที่ให้ความ สำคัญ |
ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง เชื่อถือได้ และการตรวจสอบได้ของข้อมูล |
ให้ความสำคัญกับความเกี่ยวข้องข้อมูลและความทันเวลาในการนำเสนองบการเงิน |
6. รูปแบบรายงานทางการเงินที่นำเสนอ |
เสนอเป็นภาพรวมทั้งองค์กร |
อาจเสนอรายงานการเงินแยกตามส่วนงานหรือหน่วยงานย่อยก็ได้ เพื่อประโยชน์ในการประเมินผลการทำงานและการจูงใจพนักงาน |
7. ระยะเวลานำเสนอรายงาน |
ตามงวดระยะเวลาบัญชี |
ยืดหยุ่นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริหาร เช่น จัดทำรายงานต้นทุนการผลิตเฉพาะแผนกผลิตที่หนึ่ง สัปดาห์ละครั้ง เป็นต้น |
บทความโดย : https://sites.google.com