ความแตกต่างของ 3 ประเภท ‘ผู้สอบบัญชี’

ความแตกต่างของ 3 ประเภท ‘ผู้สอบบัญชี’

ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ผู้สอบบัญชีตลาดทุน  ทั้ง 3 ประเภทของผู้สอบบัญชีนี้เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร เชิญติดตามได้เลยครับ 

หลายคนอาจจะเคยสงสัยหรือสับสนว่า จะเลือกผู้สอบบัญชีเพื่อรับรองงบการเงินประจำปีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประเภทไหนดี? เพราะผู้สอบบัญชีที่สามารถรับรองงบการเงินบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้มีหลายแบบ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักประเภทของผู้สอบบัญชีที่สามารถให้บริการได้ มีดังนี้

1.ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA : Tax auditor)

เป็นบุคคลที่ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรจากอธิบดีกรมสรรพากรตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.98/2544

การรองรับงบการเงิน  :  สามารถตรวจสอบและรับรองบัญชีเฉพาะห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็กที่มีทุนจดทะเบียนหรือทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม และรายได้รวมในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท

 

2.ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั่วไป (CPA : Certified Public Accountant)

เป็นบุคคลที่ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชี ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพ พ.ศ.2547

การรองรับงบการเงิน  : สามารถตรวจสอบและรับรองบัญชีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร  หรือเข้าใจง่ายๆ คือ สามารถรับรองได้ทุกประเภทนิติบุคคล ยกเว้นงบการเงินที่ต้องใช้ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. รับรองงบการเงินเท่านั้น

 

3.ผู้สอบบัญชีตลาดทุน (List of Auditors Approved by the office of SEC)

หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เราคุ้นหูกันคือ ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. (List of Auditors Approved by the office of SEC)

การรองรับงบการเงิน  :  สามารถตรวจสอบและรับรองบัญชีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรคือรับรองได้ทุกประเภทนิติบุคคล รวมถึงงบการเงินดังต่อไปนี้ที่ต้องใช้ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. รับรองงบการเงินเท่านั้น

  • บริษัทที่อยู่ในตลาดทุน หรือบริษัทที่ขอยื่นเข้าจดทะเบียนในตลาดทุน (IPO) โดยตลาดทุนคือศูนย์กลาง หรือแหล่งพบปะของผู้มีเงินออมหรือผู้ที่ต้องการลงทุน กับผู้ที่ต้องการเงินทุน เช่น เจ้าของธุรกิจ หรือผู้ประกอบการที่มองหาเงินทุนระยะยาวเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจหรือต่อยอดธุรกิจ โดยมีการออกสินค้าเป็นหลักทรัพย์ขายให้แก่ประชาชนเพื่อถือครองไว้และถือว่าเป็นพันธสัญญาต่อกัน โดยสินค้าเหล่านั้นก็มีทั้งหุ้นสามัญ หุ้นกู้ พันธบัตร และกองทุนรวมต่าง ๆ เป็นต้น
  • งบการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ยกเว้นกองทุนที่มีสมาชิกไม่เกิน 100 คน และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยพิจารณา ณ วันสิ้นเดือนก่อนวันที่แต่งตั้งผู้สอบบัญชี และผู้สอบบัญชีนั้น (CPA) ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสมาชิกให้ใช้ผู้สอบบัญชีทั่วไปได้)
  • งบการเงินของกองทุนรวม ที่จัดการโดยผู้จัดการกองทุน
  • บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควรเลือกผู้สอบบัญชีให้เหมาะสมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และที่สำคัญต้องเลือกผู้สอบบัญชีที่มีคุณสมบัติในการปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชี และสามารถให้คำแนะนำกระบวนการในการจัดทำบัญชีที่ถูกต้องให้แก่กิจการได้ และมีประสิทธิภาพเพื่อลดความเสี่ยงจากการจัดทำบัญชีที่ไม่ถูกต้อง และลดข้อผิดพลาดในการจัดทำงบการเงินของบริษัทได้ครับ

บทความโดย : www.dharmniti.co.th

 2670
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์