ความรู้เรื่องบัญชีต้นทุนเพื่อการบริหาร

ความรู้เรื่องบัญชีต้นทุนเพื่อการบริหาร

      บัญชีต้นทุน(Cost accounting) มีความแตกต่างกับบัญชีการเงิน (Financial accounting) ในรูปแบบของการใช้งานแต่ทั้งสองบัญชีจะถูกจัดทำขึ้นจากสมุห์บัญชี หรือนักบัญชีที่มีความรู้เรื่องบัญชีต้นทุน เพื่อนำไปเป็นบัญชีบริหาร (Managerial accounting) โดยทั่วไปบัญชีต้นทุนจะถูกจัดทำขึ้นในธุรกิจประเภทอุตสาหกรรมการผลิตเพราะมีความจำเป็นที่ต้องแยกแยะต้นทุนให้ชัดเจนมากกว่าธุรกิจประเภทอื่น แต่สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่เกือบจะทุกประเภทจะมีการจัดทำบัญชีต้นทุนเพื่อใช้ในการบริหารโดยให้ความสำคัญเท่ากับบัญชีการเงินที่เป็นบัญชีในการจัดทำงบการเงินเพื่อเสนอให้กับบุคคลภายนอกด้วย

   บัญชีต้นทุนใช้หลักการบัญชีที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านต้นทุนแล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อให้เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารใช้วางแผนและควบคุมต้นทุนการผลิต การจัดทำบัญชีต้นทุนจะเก็บและรวบรวมข้อมูลในอดีตอย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาคำนวณหาต้นทุนของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของกิจการ นอกจากนั้นยังใช้ในการประมาณมูลค่าของสินค้าคงเหลือที่ประกอบไปด้วยวัตถุดิบ งานระหว่างทำและสินค้าสำเร็จรูปด้วย

วัตถุประสงค์ของการจัดทำบัญชีต้นทุน (Cost accounting)

   1. ใช้ในการคำนวณต้นทุนสินค้าที่ขายในแต่ละงวดหรือในแต่ละเดือนเพื่อวัดผลการดำเนินงานว่ามีกำไรหรือขาดทุนเท่าใด

   2. ใช้ในการคำนวณมูลค่าของสินค้าคงเหลือของกิจการ เช่นวัตถุดิบ งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ เพื่อแสดงในงบแสดงฐานะทางการเงินของกิจการ

   3. ใช้ในการเปรียบเทียบตัวเลขจริงและงบประมาณที่ตั้งไว้ เพื่อให้ผู้บริหารนำไปวางแผนและควบคุมต้นทุนของกิจการได้ เมื่อมีผลต่างเกิดขึ้นผู้บริหารก็จะหาแนวทางแก้ไขได้ทันการณ์อีกด้วย

   4. เพื่อใช้ในการตัดสินใจด้านการตลาด เช่นการตั้งราคา การลดราคาสินค้าบางรายการ หรือจัดรายการส่งเสริมการขายสินค้าที่กำลังล้าสมัยด้วย

   5. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหาที่ส่งผลกระทบกับกิจการ เพื่อให้ผู้บริหารจะได้นำตัวเลขต้นทุนของสินค้ามาใช้ในการตัดสินใจว่าจะปิดโรงงาน จะจ้างคนอื่นผลิตแทน หรือจะร่วมประมูลงาน

ความแตกต่างระหว่างบัญชีต้นทุนและบัญชีการเงิน

ลำดับ รายการ บัญชีต้นทุน บัญชีการเงิน
1 หลักเกณฑ์การจัดทำ -อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี
-ใช้วิธีแยกประเภทต้นทุนตามที่นักบัญชีต้นทุนเห็นสมควร
-ต้องทำตามหลักการและมาตรฐานของบัญชีที่มีผู้ตรวจสอบรับอนุญาตเท่านั้น
2 ผู้ใช้ข้อมูลบัญชี -ผู้บริหารและเจ้าของกิจการ
-ผู้จัดการฝ่ายที่เกี่ยวข้องเช่น ฝ่ายผลิต ฝ่ายบัญชี
-บุคคลทั่วไปทั้งบุคคลภายนอกที่ต้องการใช้งบการเงินของกิจการเช่นเจ้าหนี้ ลูกหนี้
-บุคคลภายในกิจการทั้งผู้ถือหุ้น ผู้บริหารและพนักงาน
3. จุดประสงค์การจัดทำ -เพื่อใช้ในการบริหาร
-เพื่อวางแผนการผลิตและจัดซื้อวัตถุดิบ
-เพื่อลดต้นทุนการผลิต
-เพื่อวัดผลดำเนินงานว่ามีกำไรหรือขาดทุน
-เพื่อเสนอให้กับกระทรวงพาณิชย์และกรมสรรพากร -เพื่อใช้ในการบริหารธุรกิจ
-เพื่อแสดงฐานะของกิจการและผลดำเนินงาน
-เพื่อหาแหล่งเงินทุน
4. งวดเวลาในการจัดทำ -เป็นรายวันเพื่อวางแผนผลิต
-เป็นรายเดือนเพื่อบริหารงานและวางแผนบริหาร
-เป็นรายปีเพื่อหามูลค่าสินค้าคงเหลือและวัดผลดำเนินการ -ปิดงบกำไรขาดทุนทุกสิ้นเดือน
-ปิดงบการเงินทุกสิ้นงวดบัญชี (ปีละหนึ่งครั้งสำหรับธุรกิจขนาดกลางและย่อม)
5. หน่วยที่ใช้ในการวัดค่า -เป็นหน่วยการผลิตต่อวันหรือต่อรอบ - เป็นจำนวนเงินต่อหน่วย -ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริหาร -เป็นจำนวนเงินเท่านั้น

 

   การจัดทำบัญชีต้นทุนของกิจการจึงเป็นส่วนหนึ่งของบัญชีบริหาร (Managerial accounting) ซึ่งบัญชีบริหารจะใช้ทั้งบัญชีทางการเงินและบัญชีต้นทุนมาร่วมกันในการวางแผน ควบคุม ประเมินและวัดผลการดำเนินงานขององค์กรและหน่วยงานต่างๆในองค์กร การทำบัญชีต้นทุนจำเป็นที่ผู้บริหารต้องให้ทางบัญชีและฝ่ายผลิตร่วมกันเก็บข้อมูลด้านต้นทุนอย่างจริงจังเพื่อได้ต้นทุนที่แท้จริงในการคำนวณได้ การจัดทำบัญชีต้นทุนอาจจะดูยุ่งยากและมีความละเอียดมากสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างนักบัญชีต้นทุนมาจัดทำ แต่ในระยะยาวแล้วการจัดทำบัญชีต้นทุนจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการตั้งราคาขาย ร่วมงานประมูล จัดส่งเสริมการขาย ร่วมทั้งจัดงานลดราคาประจำปีเพราะการทราบถึงต้นทุนที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์จะทำให้กิจการสามารถวางแผนสร้างกำไรที่มากขึ้นมากกว่าการเสียเงินจ้างนักบัญชีต้นทุนและยังคุ้มค่ากับการเสียเวลาในการเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำต้นทุนผลิตภัณฑ์อีกด้วย

บทความโดย : https://bsc.dip.go.th

 11039
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์