การทำลายสินค้า ปัญหา และผลกระทบทางบัญชีในทางปฏิบัติ

การทำลายสินค้า ปัญหา และผลกระทบทางบัญชีในทางปฏิบัติ

           การทำลาย คือ การทำให้สินค้าไม่มีอยู่ หรือไม่อยู่ในสภาพที่เป็นสินค้า อาจทำโดยการเผา การทุบ การบด การตัดเป็นชิ้น ๆ เทหรือฝัง กลบ เป็นต้น แต่ถ้าสินค้ายังมีตัวตนเป็นสินค้าให้เห็นไม่ถือเป็นการทำลาย เช่น การนำสินค้าชำรุดไปบริจาคหรือมอบให้หน่วยงาน จึงไม่ถือว่าเป็นการทำลาย ดังนั้น ทำลายจึงต้องทำให้หมดไปจริงๆ 

          ในการปฏิบัติทางบัญชีเมื่อมีการทำลายสินค้าเกิดขึ้นเอกสารที่จะมาเกี่ยวข้องกับการบันทึกบัญชีจึงเป็นเอกสารที่เกิดขึ้นภายในหน่วยงานหรือองค์กรที่มีการขออนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณาการทำลายสินค้า โดยระบุถึงสาเหตุของการทำลาย ราคาทุนของสินค้าที่มีการทำลาย รวมไปถึงวิธีการทำลาย วันเวลาสถานที่ เพื่อใช้ประกอบการบันทึกรายการทางบัญชี 

         เนื่องจากการทำลายสินค้าไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้จะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ถือเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 โดยผลของการทำลายสินค้าจะทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนฯ มีสิทธินำมูลค่าต้นทุนของสินค้าที่ถูกทำลายมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ทำลายได้ และนอกจากนี้ สำหรับภาษีซื้อที่เกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวก็ไม่มีผลตามกฎหมายที่จะทำให้ภาษีซื้อต้องห้าม หมายความว่าภาษีซื้ออันเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ก็ไม่มีกฎหมายกำหนดว่าให้เป็นภาษีซื้อต้องห้าม เมื่อได้มีการทำลายสินค้าในภายหลังสรุปก็คือ ขอเครดิตภาษีซื้อแล้วก็แล้วไป (ต้องดูว่าเป็นสินค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย)

บทความโดย: https://www.prosoftibiz.com

 1567
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์