กำไร อาจไม่ใช่ เงินสด

กำไร อาจไม่ใช่ เงินสด

ผู้ประกอบการธุรกิจทุกคนคงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักคำว่า “กำไร” หรือปฏิเสธว่าทำธุรกิจแล้วไม่ต้องการ “กำไร”

แต่เราลองมาดูกันว่า “กำไร” ของธุรกิจนั้นจะถูกมองในมิติต่างๆ กันได้อย่างไร ทำไมบางคนทำธุรกิจมาโดยตลอด แต่ไม่ค่อยได้ “กำไร” หรือไม่เหลือ “กำไร” ไว้ให้กับธุรกิจหรือให้กับตัวเองไว้เลย

ทำไมบางคนขายดิบขายดี แต่ก็ยังไม่ค่อยได้ “กำไร” มากขึ้นตามยอดขาย ในทางธุรกิจแล้วการคิด “กำไร” นั้น ต้องคำนวณมาจาก “รายได้” กับ “ค่าใช้จ่าย” ที่เกิดขึ้นในธุรกิจ โดยสูตรคณิตศาสตร์ของการคำนวณหา “กำไร” ก็คือ

กำไร = รายได้-ค่าใช้จ่าย

รายได้หลักที่เกิดขึ้นในธุรกิจ ก็คือ “ยอดขาย” นั่นเอง ซึ่งอาจเป็นยอดขายจากการขายสินค้าหรือการให้บริการก็ได้

     ส่วนรายได้อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้าขายโดยตรง เช่น ดอกเบี้ยรับที่ได้จากเงินฝากในธนาคาร หรือรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ อาจไม่ถือว่าเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากการค้าขายหรือการทำธุรกิจโดยตรง และส่วนใหญ่มักจะมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับรายได้ที่เกิดจากการขายหรือการให้บริการจากธุรกิจหลัก

     รายได้จากการขายหรือการให้บริการ หรือทั้งขายทั้งให้บริการนั้น อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ รายได้ที่เป็นเงินสดและรายได้ที่ยังไม่เป็นเงินสด เช่น ในการขายสินค้าเงินเชื่อหรือขายเครดิต ที่แม้ว่าจะเกิดยอดขายขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้เก็บเงินหรือยังเก็บเงินไม่ได้ก็ตาม จะเข้าข่ายรายได้ที่ยังไม่เป็นเงินสด พูดง่ายๆ ก็คือ ขายของไปแล้ว ยังไม่ได้เงินสดกลับมา!!!

     ในด้านค่าใช้จ่ายก็เช่นกัน ธุรกิจอาจมีค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไปเป็นเงินสด หรือค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ได้จ่ายเงินออกไป เช่น ในการซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบเป็นเงินเชื่อ หรือค่าใช้จ่ายที่มีระยะเวลาเรียกเก็บ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ที่ใช้ไปแล้วและได้รับบิลมา แต่ยังมีเวลาช่วงหนึ่งสำหรับการชำระบิล

     แม้ว่าเมื่อมีการซื้อขายเกิดขึ้นจะเกิดรายได้และค่าใช้จ่ายขึ้นทันที ในการนำมาคำนวณกำไรที่ธุรกิจจะได้ แต่การขายเชื่อ ซื้อเชื่อ จะทำให้ “กำไร” ของธุรกิจไม่เท่ากับ “เงินสด” ที่ธุรกิจจะได้มา

ใครที่เคยคิดว่าค้าขายกำไรเยอะก็น่าจะมีเงินสดเหลือเยอะนั้น จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีการซื้อขายเป็นเงินสดเท่านั้น โดยเฉพาะหากสามารถขายเป็นเงินสดได้ แต่ค่าใช้จ่ายสามารถมีเครดิตได้ เงินสดในมือของธุรกิจก็จะมากกว่าตัวเลขกำไรที่เกิดขึ้น

แม้ว่าอาจจะเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะในที่สุดก็จะต้องนำเงินสดไปชำระค่าใช้จ่ายเหล่านั้นในภายหลัง สภาวะอีกอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในการค้าขายหรือในการทำธุรกิจ และจะกระทบต่อเรื่องของการบริหารกำไรและการบริหารเงินสด จะเห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้

 

สมมติธุรกิจซื้อสินค้ามาจำหน่ายจำนวน 10 ชิ้น โดยมีราคาต้นทุนที่ซื้อมาชิ้นละ 60 บาท รวมราคาต้นทุนที่ซื้อมาเท่ากับ 600 บาท เพื่อนำไปขายในราคาชิ้นละ 80 บาท โดยหวังว่าจะได้กำไรเป็นเงิน 200 บาท 

แต่ปรากฏว่าขายไปได้เพียง 2 ชิ้น!! ถามว่าธุรกิจนี้ได้กำไรหรือขาดทุนเท่าไร?

ใครที่ตอบว่า ขาดทุน 520 บาท แสดงว่าคิดกำไรหรือขาดทุนยังไม่แม่น

     ความจริงแล้วธุรกิจจะได้กำไร 20 บาท จากการขายสินค้าได้ 1 ชิ้น สินค้าอีก 9 ชิ้น ที่ยังขายไม่ได้จะไม่เข้าไปอยู่ในสูตรการคำนวณกำไรขาดทุน แต่สินค้า 9 ชิ้น ที่เหลืออยู่ ในราคาทุน 60 บาท จะเป็นสินค้าคงเหลือหรือสต็อกสินค้าของธุรกิจ ซึ่งมีมูลค่าเป็นจำนวนเงินคือ 540 บาท และยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจอยู่ หากนำไปขายได้เมื่อไรก็จะเริ่มต้นทำกำไรให้ตามแผนการสร้างกำไรที่วางไว้

     การคิดกำไรหรือขาดทุนของธุรกิจที่ถูกต้อง จะทำให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจสามารถบริหารจัดการยอดขาย ค่าใช้จ่าย กำไรขาดทุน รวมถึงการบริหารจัดการสต็อกสินค้า การบริหารลูกหนี้-เจ้าหนี้ทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างกำไรและการมีเงินสดจากการดำเนินกิจการได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

ดังนั้นการมียอดขายมากๆ แต่ก็มีลูกหนี้มากเช่นกัน ก็ไม่ทำให้มีเงินสดเหลือ การมีสินค้าคงเหลือมากๆ ก็จะเป็นแหล่งกักเงินสด ที่มักเรียกกันว่า “เงินจม” ในธุรกิจ “กำไร” อาจเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีที่นำไปทำอะไรไม่ได้

แต่ “เงินสด” สามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยได้ทันที และยังสามารถนำไปชำระหนี้ได้ตามกฎหมายอีกด้วย!!!

บทความโดย: https://cheechongruay.smartsme.co.th

 6155
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์