“หากท่านต้องการออมเงิน หรือลงทุนแบบเสี่ยงน้อย”
“หากท่านต้องการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น”
“หากท่านต้องการมีเงินไว้เลี้ยงเมียน้อยในยามเกษียณ” (กรณีนี้อาจจะตายก่อนที่จะเกษียณ)
ผมขอเสนอ..... “กองทุนตราสารหนี้”.....
ผมเชื่อว่าพอพูดถึงกองทุนตราสารหนี้แล้ว น่าจะเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนไม่ค่อยถนัด หรือไม่ค่อยรู้เรื่อง
หรือแม้กระทั่งไม่รู้จักก็มี แต่ผู้อ่านรู้หรือไม่ว่า ? การลงทุนในกองตราสารหนี้นั้นมีประโยชน์มากมายมหาศาลเลยนะครับ
ดังนั้นวันนี้จะขอแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับกองทุนตราสารหนี้กันนะครัชชช
ก่อนอื่นให้แยกคำก่อนนะครับ คือ กองทุน กับ ตราสารหนี้ (ถ้าเอามารวมกันมันจะดูยากทันที)
งั้นเรามารู้จักตราสารหนี้กันก่อนเลยนะครับ ในผู้อ่านลองนึกภาพนะครับว่า
ถ้าผมต้องการเปิดธุรกิจ หรือขยายกิจการ
แหล่งเงินทุนนั้นจะหาได้จากที่ไหน ?
แน่นอนว่าหลาย ๆ คนคงตอบว่าก็ที่ ธนาคาร ไง
จริง ๆ แล้วการกู้เงินธนาคารก็เป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ดอกเบี้ยค่อนข้างจะแพง
ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ก็อาจจะใช้วิธีการกู้เงินมาจากนักลงทุนโดยตรงแทนครับ
ซึ่งแน่นอนว่า นักลงทุนย่อมมีสิทธิ์เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทครับ
ดังนั้นเราจึงเรียก ตราสารรับรองความเป็นเจ้าหนี้ที่ออกโดยบริษัท ฯ ที่มาขอกู้ว่า ตราสารหนี้ ไงครับ
ในทางกลับกัน ถ้าผู้กู้เป็นรัฐบาลละก็ จะเรียกว่า พันธบัตรรัฐบาล ครับ
ชื่อ ตราสารหนี้ | อายุของตราสาร | ผู้ออก |
พันธบัตรรัฐบาล | มากกว่า 1 ปี | รัฐบาล |
ตั๋วเงินคลัง | น้อยกว่า 1 ปี | รัฐบาล |
หุ้นกู้ | มากกว่า 1 ปี | เอกชน |
หุ้นกู้ระยะส้น | น้อยกว่า 1 ปี | เอกชน |
ตั๋วเงิน | น้อยกว่า 1 ปี | เอกชน |
จะเห็นได้ว่าแค่ชื่อเปลี่ยน อารมณ์ก็เปลี่ยน เพราะว่าถ้าเราเป็นเจ้าหนี้รัฐบาล
ซึ่งมีความมั่นคงสูงกว่าบริษัทแล้วละก็ ความเสี่ยงในการเบี้ยวหนี้ ก็จะมีต่ำกว่าครับ
แต่แน่นอนว่า ดอกเบี้ยที่เราจะได้รับมันก็ต้องน้อยกว่าด้วย เพราะถือว่านักลงทุนมีความเสี่ยงที่น้อยด้วย
ส่วนความเสี่ยงที่จะต้องเจอเวลาลงทุนกับ ตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน นั้นดูได้ง่าย ๆ ครับ แค่มองมุมกลับ ปรับมุมมอง ลองจินตนาการว่ามีเพื่อนมายืมเงินเรา แทนที่จะคิดว่าเราเอาเงินไปลงทุน ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงจะมีคำถามกับเพื่อนที่มายืมเงินในรูปแบบใกล้เคียงกัน เช่น
นายเป็นใคร - เปรียบเทียบได้กับ ชื่อเสียงบริษัท ขนาดของบริษัท
เอาเงินเราไปทำอะไร- เปรียบเทียบได้กับประกอบธุรกิจอะไร
ทำแล้วดีจริงหรา - เปรียบเทียบได้กับ ธุรกิจนั้นดี หรือไม่ จะขาดทุนรึเปล่า
จะคืนเมื่อไหร่- เปรียบเทียบได้กับ จะคืนเมื่อไหร่ (....จะเขียนทำไม)
มีผู้ค้ำประกันไหมเนี้ย- เปรียบเทียบได้กับ ความสามารถในการชำระหนี้ (ตราสารหนี้ที่มีการค้ำประกันมีสิทธิ์ได้เงินคืนมากกว่า ไม่มีการค้ำประกัน)
เอาเงินเราไปซื้อของต่างประเทศป่ะ- เปรียบเทียบได้กับ มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนรึเปล่า(ตราสารหนี้ที่มาจากต่างประเทศ)
“จะเห็นได้ว่าเรายังไม่ได้พูดถึง ดอกเบี้ยหรือ ผลตอบแทนที่จะได้ด้วยซ้ำๆๆๆ (นึกภาพเสียงก้อง ๆ)”
ซึ่งผมอยากให้ผู้อ่านคิดแบบนี้ทุกครั้ง ก่อนการลงทุนทุกรูปแบบ โดยดูความเสี่ยงก่อนที่จะดูผลตอบแทนที่จะได้นะครัชชช เพราะผมเป็นห่วงผู้อ่านมาก ๆ ครับ (ผู้เขียนน่ารักใช่ไหมล่ะ....)
พอเรารู้จักตราสารหนี้แล้ว ครั้งหน้าผมจะมาเล่าถึงรายละเอียดในกองทุนตราสารหนี้กันนะครัชชช----
บทความโดย: https://aommoney.com