Cash Cycle เรื่องวงจรเงินที่นักลงทุนต้องสนใจ

Cash Cycle เรื่องวงจรเงินที่นักลงทุนต้องสนใจ

     เงินสดถือเป็นหัวใจหนึ่งในสามดวงของกิจการ กิจการที่ขาดทุนอาจจะยืดเยื้อเวลาล้มละลายได้นานหลายสิบปี หากกิจการนั้นยังมีเงินหมุนอยู่ แต่ถ้ากิจการไม่มีเงินสดแล้ว กิจการอาจล่มสลายภายในหนึ่งเดือนก็เป็นได้ เพราะไม่มีเงินจ่ายเจ้าหนี้ ไม่มีเงินจ่ายพนักงาน

ดังนั้นการวิเคราะห์เงินสดจึงเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องสนใจ และวงจรเงินสดก็เป็นตัวเลขหนึ่งที่นักลงทุนควรรู้จัก

วงจรเงินสด หรือ Cash Cycle (CC) คือ จำนวนวันที่กิจการจะได้รับเงินสดจากการดำเนินงาน เช่น ถ้าเป็นโรงงานผลิตสินค้าก็นับตั้งแต่วันแรกที่สั่งวัตถุดิบเข้ามาจนถึงวันที่ได้เงินสดจากลูกค้าว่าเป็นกี่วัน

Cash Cycle = Inventory Conversion Period (ICP) + Receivable Conversion Period (RCP) – Payable Conversion Period (PCP)

โดยนักลงทุนสามารถดูค่า CC ได้จากตลาดหลักทรัพย์โดยตรงโดยกดที่ข้อมูลบริษัทจดทะเบียน >>> สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน

ถ้า CC มีค่า 60 วันแปลว่ากิจการใช้เวลาตั้งแต่เริ่มทำงานไป 60 วันถึงจะได้เงินกลับมาจากการทำงานหนึ่งรอบกระบวนการ กิจการไหนได้ให้เครดิตลูกค้ายาว CC จะยาว บริษัทไหนได้เครดิตเจ้าหนี้ยาว CC จะสั้น และบริษัทไหนบริหารคลังสินค้าดี CC จะสั้นเช่นกัน

ในการวิเคราะห์ไม่มี CC ที่เหมาะสมว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมที่ขายส่งเป็นหลัก เช่น ชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง CC มักจะยาว ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ลูกค้ารายย่อยเยอะ เช่น ค้าปลีก โรงพยาบาล สื่อสาร โรงแรม ร้านอาหาร CC มักจะสั้น

สำหรับผม การวิเคราะห์ CC ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่ถ้าค่าต่ำว่า 90 วันก็ถือว่าหมุนเวียนเงินได้ดี ถ้าติดลบด้วยถือว่าสวยงามมาก แต่ถ้าเกิน 90 วันไปอาจต้องระวังว่าโอกาสเงินสดจะขาดมือง่ายถ้าธุรกิจสะดุด บริษัทแบบนี้ควรมีสถานะทางการเงินที่ดีเพื่อลดความเสี่ยง

CC บอกถึงเงินลงทุนในอนาคตได้บางส่วน เนื่องจากบริษัทที่ CC ยาวจำเป็นต้องใส่เงินลงไปในกิจการก่อนเพื่อไปหมุนทำธุรกิจ ทำให้ยิ่งขยายกิจการ กระแสเงินสดจะลดลง เมื่อวิเคราะห์มูลค่าแบบ DCF อาจต้องคำนึงถึงปัจจัยตรงนี้ประกอบด้วยค่อนข้างสำคัญ

สิ่งสำคัญที่สุดคือ CC ควรมีค่าใกล้เคียงเดิมหรือลดลง หากกิจการไหน CC สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีเหตุผลที่สมควรก็ต้องระวังไว้ว่าเหตุใดเงินจึงไหลเข้ากิจการช้าลง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากการเก็บหนี้ไม่ได้ ซึ่งอาจจะมาจากธุรกิจมีปัญหา หรือเกิดพฤติธรรมไม่โปร่งใสในบริษัทก็เป็นได้

บทความโดย: https://www.finnomena.com

 1101
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์