รู้จักงบดุล

รู้จักงบดุล

          งบดุล (Balance Sheet) หมายถึง งบแสดงฐานะทางการเงินของธุรกิจ ณ วันใดวันหนึ่งตามหลักการบัญชีที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งจะแสดงให้ทราบว่ามีสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของเจ้าของ จำนวนเท่าใด รายละเอียดการแสดงสินทรัพย์ในงบดุลจะเรียงตามสภาพคล่อง โดยเงินสดจะมีสภาพคล่องสูงที่สุดเพราะสามารถจ่ายชำระหนี้ได้เร็วกว่าสินทรัพย์อื่น

          กฎหมายบังคับว่าจะต้องจัดทำงบดุลขึ้นมาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เมื่อสิ้นสุดปีการเงิน (ปีการเงินของแต่ละกิจการอาจไม่ตรงกับปีปฏิทินก็ได้ เช่น ปีการเงินอาจเริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคม สิ้นสุด 28 กุมภาพันธ์ ในขณะที่ปีปฏิทินเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม สิ้นสุด 31 ธันวาคม ของทุกปี) ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลสามารถประเมินและจัดเก็บภาษีได้ อย่างไรก็ตาม กิจการบางแห่งอาจจะจัดทำงบดุลเพื่อแสดงฐานะการเงินทุกวันสิ้นเดือนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้รายงานของกิจการนั้น ๆ

          งบดุลของกิจการใดก็จะแสดงเฉพาะฐานะทางการเงินของกิจการนั้น ไม่เกี่ยวกับฐานะทางการเงินของผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งผู้เป็นเจ้าของอาจจะมีสินทรัพย์ส่วนตัว เช่น เงินฝากธนาคาร บ้าน รถยนต์ หรือสินทรัพย์อื่น ๆ แต่สินทรัพย์ดังกล่าวถือเป็นสินทรัพย์ส่วนตัว อันนี้เป็นหลักข้อสมมติฐานหรือแนวคิดของการรายงานที่ถือว่า กิจการแยกต่างหากจากผู้เป็นเจ้าของ (The business entity)

          งบดุลจะแสดงการใช้เงินทุนของบริษัทเพื่อสรรหาทรัพยากรที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ สามารถเขียนเป็นสมการง่าย ๆ ดังนี้

  • สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของกิจการ(ทุน) หรือ
  • กิจกรรมลงทุน = กิจกรรมจัดหาเงินทุน

          ประเภทของงบดุล งบดุลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. งบดุลแบบบัญชี (Accounting Form) งบดุลแบบบัญชีจะใช้ฟอร์มที่มีลักษณะคล้ายตัว T แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ทางด้านซ้ายมือจะแสดงรายการของสินทรัพย์ ส่วนด้านขวามือจะแสดงรายการของหนี้สินและส่วนของเจ้าของ ขั้นตอนในการจัดทำงบดุลแบบบัญชี มีดังนี้

     ขั้นที่ 1 เขียนหัวงบดุล 3 บรรทัด ประกอบด้วย

          บรรทัดที่ 1 เขียนชื่อกิจการ

          บรรทัดที่ 2 เขียนคำว่า “งบดุล”

          บรรทัดที่ 3 เขียนวัน เดือน ปี ที่จัดทำงบดุล

     ขั้นที่ 2 ทางด้านซ้ายมือให้เขียนรายละเอียดของสินทรัพย์แสดงรายการต่าง ๆ ของสินทรัพย์ที่กิจการมีอยู่

     ขั้นที่ 3 ทางด้านขวามือให้เขียนรายละเอียดของหนี้สินและส่วนของเจ้าของที่กิจการมีอยู่

     ขั้นที่ 4 รวมยอดทั้ง 2 ด้านให้เท่ากันและอยู่ในระดับเดียวกัน

2. งบดุลแบบรายงาน (Report Form) ขั้นตอนในการจัดทำงบดุลแบบรายงาน มีดังนี้

     ขั้นที่ 1 เขียนหัวงบดุล 3 บรรทัด คือ บรรทัดที่ 1 เขียนชื่อกิจการ บรรทัดที่ 2 เขียนคำว่า “งบดุล” บรรทัดที่ 3 เขียนวัน เดือน ปี ที่จัดทำงบดุล

     ขั้นที่ 2 คือตอนบน ให้เขียนคำว่า “สินทรัพย์” และเขียนรายละเอียดต่าง ๆ ของสินทรัพย์ที่กิจการมีอยู่แล้วรวมยอดทั้งหมดของสินทรัพย์

     ขั้นที่ 3 เขียนคำว่า “หนี้สินและส่วนของเจ้าของ” ต่อจากสินทรัพย์ให้แสดงรายการที่เป็นหนี้สินก่อนและตามด้วยรายการที่เป็นส่วนของเจ้าของ แล้วรวมยอดทั้งหมดของหนี้สินและส่วนของเจ้าของซึ่งจะมียอดเท่ากับสินทรัพย์

          ประโยชน์ของงบดุล คือ ทำให้ทราบฐานะการเงินของบุคคลหรือกิจการค้าว่ามีจำนวนเท่าใด และยังทำให้ทราบว่าจำนวนเงินสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ ( ทุน ) มีจำนวนเท่าใด

          สมการบัญชี (Accounting Equation) สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

          โครงสร้างของงบดุลโดยทั่วไปจะแยกแสดงรายการต่าง ๆ ดังนี้

  • สินทรัพย์ จะแสดงรายการเรียงลำดับจากสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสุดไปยังสภาพคล่องต่ำสุด
  • หนี้สิน จะแสดงรายการเรียงลำดับจากหนี้สินที่ครบกำหนดชำระคืนก่อนไปยังหนี้สินระยะยาว
  • ส่วนของผู้ถือหุ้น จะแสดงรายการเรียงลำดับจากทุนเรือนหุ้น ส่วนเกินมูลค่าหุ้น และ กำไรสะสม

          1. สินทรัพย์ หมายถึง ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ เป็นทรัพยากรในอดีตซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต

1.1 สินทรัพย์หมุนเวียน หมายถึง เงินสดหรือสินทรัพย์อื่นที่กิจการคาดว่าจะขายหรือใช้ไปในรอบระยะเวลาการดำเนินงานของกิจการ สินทรัพย์หมุนเวียนมีรายละเอียดในแต่ละรายการดังนี้

  • เงินสดและเงินฝากธนาคาร
  • หลักทรัพย์ในความต้องการยองต้องการของตลาด
  • ลูกหนี้
  • สินค้าคงเหลือ
  • สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น ๆ

1.2 สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

  • เงินลงทุนระยะยาว
  • เงินลงทุนในบริษัทร่วม
  • ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์
  • สินทรัพย์ไม่มีตัวตน

          2. หนี้สิน คือ ภาระผูกพันเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งทำให้กิจการสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์ แบ่งได้ 2 ประเภทคือ หนี้สินหมุนเวียนและหนี้สินไม่หมุนเวียน

  1. หนี้สินหมุนเวียน เป็นหนี้สิ้นที่จะต้องชำระภายในเวลา 12 เดือน นับจากวันที่ในงบดุล
  2. หนี้สินไม่หมุนเวียน เป็นหนี้สินที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระหนี้เกินกว่า 12 เดือน นับจากวันที่ในงบดุล

          ส่วนของผู้ถือหุ้น คือ เงินทุนที่เป็นส่วนของเจ้าของโดยในกรณีที่มีการเลิกกิจการและมีการชำระบัญชีผู้ถือหุ้นจะมีสิทธิในการเรียกร้องในทรัพย์สินภายหลังที่บริษัทจ่ายชำระหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดของบริษัท แล้วประกอบด้วย 2 รายการคือ ทุนที่นำมาลงเองและกำไรสะสม

บทความโดย: https://th.jobsdb.com

 3301
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์