กฎหมายทวงหนี้ที่เจ้าหนี้ และลูกหนี้ควรทราบ

กฎหมายทวงหนี้ที่เจ้าหนี้ และลูกหนี้ควรทราบ

เห็นกันอยู่บ่อยๆ กับความน่ากลัวในการทวงหนี้ผ่านทางสื่อโทรทัศน์ ตามหนังสือพิมพ์ หรือการแชร์ผ่านโลกโซเชี่ยลที่มักจะเน้นความโหด การทำร้ายร่างกายไปจนถึงการข่มขู่ แม้จะเห็นกันแบบนี้ แต่คนที่จำใจต้องกู้หนี้ยืมสินก็ต้องเสี่ยงดวงกันสักตั้ง โชคดีเจอเจ้าหนี้สายใจอ่อน ก็จ่ายหนี้กันแบบไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป แต่หากโชคร้ายเจอเจ้าหนี้เขี้ยวลากดินที่มาพร้อมความโหด ก็เสี่ยงที่จะเสียทรัพย์ และเสียชีวิตกันได้เลยทีเดียว แต่เราจะกล่าวถึงแค่ความเสียเปรียบของลูกหนี้เพียงอย่างเดียวก็หาใช่ เนื่องจากหลายปัญหาที่ทำให้เจ้าหนี้ต้องจัดการด้วยความรุนแรง ก็เพราะพฤติกรรมของลูกหนี้บางคนที่เข้ามากู้แล้วหนีหาย ตามตัวไม่เคยเจอ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ให้กู้ยืมตามมา ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นกฎหมายทวงหนี้ ที่ช่วยให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ใครที่กำลังตัดสินใจอยากกู้หนี้ยืมสิน อาจจะต้องหาข้อมูลกฎหมายเหล่านี้มาศึกษากันสักหน่อย ส่วนเจ้าหนี้ก็ต้องท่องจำให้ขึ้นใจเอาไว้เช่นกัน เพื่อช่วยให้ตัวเองทวงหนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่โดนหมายเรียกขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะทำสิ่งที่เกินกว่าเหตุจนกลายเป็นฝ่ายผิดตามมานั่นเอง

ข้อควรรู้ในการทวงหนี้แบบไม่ผิดกฎหมาย

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวไปข้างต้น ปัญหาที่พบทั้งในลูกหนี้และเจ้าหนี้ก็คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นได้กับทั้งสองฝ่าย ดังนั้นกฎหมายทวงหนี้จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างสมดุลและขอบเขตที่เหมาะสม การทวงหนี้สมัยนี้สำหรับคนปล่อยกู้ จึงควรรู้กฎหมายให้มากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกฟ้องร้องจากลูกหนี้หัวหมอ โดยสิ่งที่เจ้าหนี้ต้องรู้ในกฎหมายทวงหนี้ก็คือ

  1. เจ้าหนี้หรือผู้ที่ปล่อยให้กู้เงิน ทั้งแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ไปจนถึงกลุ่มบริษัทรับทวงหนี้หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ไปทวงหนี้ คือ “ผู้ทวงถามหนี้” ที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายนี้ด้วยกันทั้งสิ้น การทวงหนี้จึงต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม แม้จะเจอกับลูกหนี้ที่เขี้ยวสุดๆ ก็ตามที
  2. ระยะเวลาในการติดต่อทวงหนี้ หากเป็นการติดต่อกับบุคคลโดยตรง หรือผ่านสื่อโทรศัพท์ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปกรณ์ทั้งหลายแหล่ที่สามารถเข้าถึงตัวลูกหนี้ได้ ให้ติดต่อแค่ในช่วงเวลาวันจันทร์-ศุกร์ และต้องเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 8.00 น.-20.00 น. กรณีวันหยุดราชการก็สามารถทวงหนี้ได้เช่นกัน เพียงแค่ว่าต้องทวงในช่วงเวลา 8.00 น.-18.00 น. เท่านั้น และจำนวนครั้งในการติดต่อก็มีข้อกำหนดตามความเหมาะสม หรือที่คณะกรรมการเป็นผู้ระบุเอาไว้
  3. การติดตามทวงหนี้ จะต้องทวงถามต่อลูกหนี้โดยตรง ห้ามไม่ให้ติดต่อกับคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ มิเช่นนั้นก็เท่ากับว่าผิดกฎหมายทวงหนี้ มีสิทธิโดนเล่นกลับจากฝ่ายลูกหนี้เอาได้ แต่หากต้องการสอบถามคนอื่นเพื่อตามหาลูกหนี้ ให้ติดต่อเพียงเพื่อขอข้อมูลเท่านั้น ซึ่งต้องบอกชื่อและนามสกุล พร้อมจุดประสงค์ให้แก่บุคคลที่ต้องการถามทราบด้วย โดยต้องเก็บความลับความเป็นหนี้ของลูกหนี้เอาไว้

วางแผนก่อนเป็นหนี้ กฎหมายทวงหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรู้

ในส่วนของลูกหนี้ที่ต้องรู้เกี่ยวกับกฎหมายทวงหนี้ ก็คือตัวช่วยป้องกันตัวเองจากอันตราย แต่ไม่ใช่เพื่อการเบี้ยวหนี้ หรือหนีหนี้ไม่ยอมจ่าย เนื่องจากตัวกฎหมายช่วยเหลือทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน โดยลูกหนี้จะสามารถฟ้องร้องได้หากพบว่าผู้ทวงหนี้เข้ามาทวงหนี้ด้วยความไม่สุภาพ มีท่าทีข่มขู่ ดูหมิ่น ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย หรือการพบว่ามีการเปิดเผยความเป็นหนี้ให้กับผู้อื่นรู้ ซึ่งเป็นคนนอก ไม่ใช่พ่อแม่หรือคนในครอบครัว

ไปจนถึงการทวงหนี้ผ่านไปรษณีย์ โทรสาร หรือข้อความที่ชัดแจ้ง และการทวงหนี้แบบที่ทำให้เข้าใจผิด เช่น การแจ้งว่าถูกยึดทรัพย์ การแจ้งโดยปลอมแปลงเอกสารให้เหมือนคำสั่งของศาล เป็นต้น ถือว่าเป็นการทวงหนี้แบบเกินขอบเขต ลูกหนี้มีสิทธิ์ฟ้องร้องตามกฎหมายทวงหนี้แน่นอนว่าผู้ทวงหนี้ในกลุ่มนี้จะต้องเจอกับโทษจำคุกและค่าปรับตามกฎหมายกำหนด

หากโดนทวงหนี้แบบไม่เป็นธรรม ต้องทำอย่างไร?

แม้จะมีข้อกฎหมายการทวงหนี้ช่วยป้องกันทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ แต่บางครั้งลูกหนี้ก็มักจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรมเกินขอบเขต โดยหลักๆ ที่เรามักเห็นเป็นตัวอย่างก็คือการทวงด้วยวิธีสกปรก ไม่ว่าจะความรุนแรง หรือการใช้วาจาข่มขู่ จนทำให้ลูกหนี้เกิดความเดือดร้อน

เมื่อพบว่าตัวเองกำลังถูกเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ สามารถนำเรื่องไปฟ้องร้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ซึ่งบทลงโทษจะแตกต่างกันออกไป โดยรวมแล้วจะมีโทษจำคุกเจ้าหนี้กลุ่มนี้ตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ลูกหนี้ที่ดีจะเห็นว่าข้อกฎหมายออกมาเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของลูกหนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ ไม่ให้ถูกข่มขู่หรืออยู่ในอันตราย แต่หากเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่มีประวัติการจ่ายหนี้ไม่ดี มีพฤติกรรมหนีหนี้ ในครั้งต่อๆ ไป การกู้ยืมจะทำได้ยากขึ้น กลายเป็นเสียเครดิต ติดแบล็คลิสต์ตามมา

จะเห็นได้ว่าแม้กฎหมายทวงหนี้จะเอื้ออำนวยต่อลูกหนี้เพื่อป้องกันอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สิน แต่หากการจ่ายหนี้แบบไม่ตรงตามกำหนด มีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจแล้วล่ะก็ เจ้าหนี้ก็สามารถทำการฟ้องกลับได้เช่นเดียวกัน ซึ่งข้อกฎหมายเหล่านี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องรู้ ใครที่อยู่ในวงการเงินๆ ทองๆ เช่นนี้ ก็ควรศึกษาข้อมูล และใช้ข้อกฎหมายให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อตัวเองจะได้ไม่ถูกฟ้องร้องตามมาในภายหลัง เป็นหนี้ก็ต้องใช้ ส่วนการทวงหนี้ก็อย่ารุนแรงจนเกินขอบเขตไป ก็จะช่วยให้ทุกอย่างราบรื่น วินวินก็ทั้งคู่ก็เป็นได้

บทความโดย : https://wealthcare.krungthai-axa.co.th

 3143
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์