ผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor)

ผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor)

1. สภาพแวดล้อมในการทำงาน

สถานที่ทำงาน

สถานที่ทำงานของผู้ตรวจสอบบัญชี สามารถแบ่งออกเป็น 2 สถานที่หลักๆ คือ 

  1. ออฟฟิศ ออฟฟิศแต่ละที่จะมีลักษณะใกล้เคียงกันขึ้นอยู่กับขนาด  ถ้าเป็นออฟฟิศที่มีขนาดใหญ่จะแบ่งโซนในการทำงานอย่างชัดเจน   ทีมที่ต้องทำงานร่วมกันจะทำงานอยู่ในโซนเดียวกันเพื่อให้ง่ายต่อการติดต่อประสานงานกันในเรื่องของข้อมูลและวิธีการดำเนินงาน มีคอมพิวเตอร์และโต๊ะส่วนตัวของตัวเอง   
  2. บริษัทของลูกค้าที่เราไปทำการตรวจสอบบัญชี  จะมีความหลากหลายมากแล้วแต่โปรเจคที่ได้รับในบางครั้งเราอาจจะต้องไปตรวจสอบเครื่องขุดเจาะน้ำมัน โรงงานผลิตรถยนตร์ ธนาคาร บริษัทฟอกหนัง ฯลฯ  ทำให้เราได้พบกับสิ่งใหม่ๆ และได้เรียนรู้กระบวนการการทำงานของบริษัทอื่นๆอยู่เสมอ สถานที่ทำงานที่เปลี่ยนไปทำให้งานทำงานไม่น่าเบื่อ  เราจะได้พบกับความหลากหลายทางธุรกิจ เพราะการทำธุรกิจทุกอย่างต้องมีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายและต้องมีการตรวจสอบบัญชี เพื่อนำไปส่งงบการเงินให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำให้เราได้ความรู้ในเรื่องอื่นๆเพิ่มเติมนอกเหนือจากการทำงานอีกด้วย

สภาพการทำงาน

จะเกี่ยวข้องกับตัวเลข และความถูกต้องเหมาะสม ตามขั้นตอนของงาน audit  มีทั้งการทำงานหน้า    คอมพิวเตอร์  เช็คข้อมูล รายละเอียดของงานลูกค้า และต้องลงพื้นจริงให้เห็นถึงสภาพการทำงานเพื่อนำมาประกอบการ  วิเคราะห์ในงานของเราด้วย จึงไม่ใช่งานที่น่าเบื่ออย่างที่คิด เราต้องให้สมดุลกับการทำงานทั้งสองแบบ ทั้งการ ทำงานเอกสารที่ละเอียดและการลงพื้นที่ที่ต้องมีความลุย และสามารถไปได้ในทุกๆที่ และจะไม่ใช่การทำงาน แบบ routine ที่เข้างาน  8 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น เวลาในการเข้างานอาจจะแล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละบริษัทแต่ในการเลิกงานนั้นในบางครั้งที่การทำงานของเราอาจจะล่วงเลยเวลาไปจนดึก เพราะเป็นงานที่ละเอียดและรอบคอบ จึงต้องให้เวลาในการทำงานค่อนข้างมาก

ประเภทของลูกค้า

มีความหลายหลายมาก เรียกได้ว่าทุกสิ่งอย่างที่มีรายรับรายจ่าย มีการทำบัญชี นั้นจะต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีเข้าไปร่วมวงด้วยเสมอ อาจจะสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ดังนี้  

  1. สายธุรกิจต่างๆ  ในการทำธุรกิจสิ่งที่สำคัญมากนั้นคือเรื่องของตัวเลข บัญชี รายรับรายจ่าย เงินเข้าออก เงินที่ลงทุน เกี่ยวข้องการกับการดำเนินธุรกิจโดยตรง เพราะฉะนั้นการทำบัญชีที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และการดำเนินธุรกิจทุกประเภท จะต้องมีการยื่นแบบฟอร์มเพื่อทำการส่งงบแก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบจากเราก่อนว่า การทำธุรกิจนั้นมีการทำบัญชีที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างไรบ้าง 
  2. สายอุตสาหกรรม หรือ การผลิตต่างๆ  มีความใกล้เคียงกับระบบธุรกิจแต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า การตรวจสอบที่มากกว่าละเอียดกว่า และต้องหาข้อมูลมากกว่า เพราะในบางครั้งเราเองไม่มีความรู้ในเรื่องของอุตสาหกรรมเหล่านั้น ในบางครั้งเป็นเรื่องทีไกลตัว แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ระบบใหม่ๆ  ที่มี scoop ใหญ่ๆ  
  3. สายแฟชั่นและความบันเทิงต่างๆ  เรียกได้ว่าเป็นสีสันของการทำงาน เพราะการตรวจสอบบัญชีด้านสายบันเทิงนั้น จะทำให้เราเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่มีความสนุกสนาน ความคลีเอทีฟต่างๆ ไม่ตึงเคลียด 
  4. สายประกัน และ ธนาคาร  จะไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรหรือธุรกิจมากนัก แต่จะมีในเรื่องของสัญญาเช่าทางการเงิน ค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะ เหมาะกับคนที่ชอบในงานด้านประกัน และ ธนาคารเพราะมีรายละเอียดและเรื่องเฉพาะที่ต้องรู้มากมาย  มีความแตกต่างจากธุรกิจแบบธรรมดามาก 
  5. การโรงแรม จะเกี่ยวข้องกับงานบริการ ต้องเข้าไปตรวจงานต่างๆตามโรงแรม ก็มี scoop งาน ความยากง่ายที่ต่างกัน มีรายละเอียดและกระบวนการทำงานที่แตกต่างกัน ได้เจอกับคนที่แตกต่างกัน

อาชีพนี้ต้องทำงานร่วมกับอาชีพ/ตำแหน่งงานใดบ้าง

  1. Certified Public Accountant   หรือ C.P.A.คือหัวหน้างานที่จะเป็นคนประเมินงานที่เราไปตรวจสอบทำมาว่ามีความถูกต้องเหมาะสมมากเพียงใดเป็นผู้เดียวที่สามารถเซ็นท์รับรองงานได้ เพราะอาชีพของเราต้องมีความน่าเชื่อถือมาก คนที่จะมาเป็น C.P.A. ได้นั้นต้องผ่านการสอบเลื่อนระดับ ต้องมีความเหมาะสม และมีความน่าเชื่อถือมากพอถึงจะเป็นได้ 
  2. Manager จะเป็นคนดูแลงานทั้งหมด จะต้องประเมินดูว่างานนี้ต้องใช้ทีมไหน และทีมละกี่คนใครบ้างตามความสามารถของแต่ละคน วางแผนงานว่าต้องเข้าไปตรวจสอบที่บริษัทของลูกค้าเมื่อไร มีประเด็นอะไรที่ต้องสนใจเป็นพิเศษบ้าง ก็จะสรุปงานแล้วนำมาแจกจ่ายกับลูกทีมอีกที 
  3. บัญชีของแต่ละบริษัท เป็นคนที่เราทำงานด้วยโดยตรง เราจะต้องนำเอกสารต่างๆจากบัญชีของลูกค้ามาประเมิน พร้อมทั้งขอข้อมูลต่างๆที่ต้องใช้ประกอบการทำงานในบางครั้งอาจจะต้องลงลึกในเรื่องของรายละเอียด เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่นักบัญชีไม่ค่อยชอบเท่าไรนัก เพราะเราต้องเข้าไปยุ่งกับส่วนงานของเขาค่อนข้างมาก ต้องขอให้เขาทำเอกสารนั้นนี่ตลอดเวลา เพื่อเราจะได้งานที่ถูกต้องชัดเจน และ สามารถทำงานได้อย่างโปร่งใส 
  4. ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในเรื่องต่างๆ ในงานที่เราทำนั้นนอกเหนือจากความรู้เรื่องการเงิน การบัญชีแล้ว เรายังต้องมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจด้านนั้นๆ เพื่อนำมาประกอบกับการประเมินและการตรวจสอบงานอีกด้วย ตัวอย่างเช่น เราไปตรวจสอบบริษัทผลิตรถยนตร์ เราต้องรู้เรื่องราคาของอะไหล่ต่างๆ ต้องรู้ว่าขั้นตอนนี้ อะไหล่แบบนี้ มีราคาเท่าไร เหมาะสมไหม งบในบัญชีมีความน่าเชื่อถือมากเพียงใดและในธุรกิจที่มีความหลากหลาย เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพดีที่สุด เราจึงต้องรู้ข้อมูลนั้นๆ อย่างแท้จริง

2. คุณลักษณะของงาน

เป้าหมายของงาน/โจทย์ใหญ่ของงาน/ความท้าทายของงาน

ความท้าทายของงานเราคือเราได้เห็นงานในหลายๆธุรกิจ ได้รู้ในสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น มันเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่น่าตื่นเต้นและเราสนุกที่จะได้เรียนรู้ บางคนอาจจะคิดว่างานของผู้ตรวจสอบบัญชีเป็นงานที่น่าเบื่อ ต้องอยู่หน้าคอม กับตัวเลขตลอดเวลา แต่จริงๆไม่ใช่เลย งานของเรามีความหลากหลายและท้าทายมาก เราไม่รู้มาก่อนว่าโปรเจคต่อไปเราจะได้ไปเจอกับธุรกิจอะไร รูปแบบไหน อย่างพี่เคยไปตรวจสอบบริษัทผลิตรถยนตร์ เราได้เห็นทุกกระบวนการการผลิตตั้งแต่ก่อนที่จะประกอบร่างจนเป็นรถให้เราได้ขับกัน ถ้าไม่ได้ทำอาชีพนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้เห็นไหม แล้วยังมีธุรกิจแบบอื่นๆอีกเยอะแยะเลยที่มันน่าตื่นเต้น และพี่ว่ามันคุ้มมากเลยนะที่เราทำงานไปด้วย แล้วได้สนุกกับงานไปด้วย 

Work process

  1. รับมอบหมายงานจาก manager ว่าจะได้ตรวจสอบบัญชีในธุรกิจใด   โดย manager จะพิจารณาจากความสามารถและความเหมาะสมของเรา 
  2. ทำความเข้าใจธุรกิจของลูกค้า ก่อนว่าคืออะไร มีเป้าหมาย วัตถุประสงค์อย่างไร ศึกษาถึงรายละเอียดงานเบื้องต้นให้ชัดเจน
  3. วางแผนการตรวจงาน ว่าเราจะต้องเตรียมอะไร ขอข้อมูลอะไรบ้าง ตรวจอย่างไร บัญชีไหน หรือในธุรกิจของลูกค้ามีอะไรที่เราต้องสนใจ และลงรายละเอียดเป็นพิเศษ
  4. ดูขั้นตอนการทำงานของลูกค้าว่ามีแก้ปัญหาและทำงานอย่างไร เพื่อลดความผิดพลาดในการทำงานภายในองค์กรมีความน่าเชื่อถือมากเพียงใด ถ้ามีความน่าเชื่อถือมาก งานในการตรวจสอบของเราจะ scoop กว้างขึ้น ไม่ละเอียดเท่ากับ บริษัทที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ และ เกิดการทำงานที่ผิดพลาดบ่อยครั้ง 
  5. นำข้อมูลที่ได้มาประกอบกับการทำงาน เพื่อ set ค่า pmte คือ มูลค่าความผิดพลาดที่ยอมรับได้ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของบริษัท และ ขนาดในการประกอบธุรกิจ   ยกตัวอย่างเช่น set ค่า pmte ของบริษัท ก. อยู่ที่ หนึ่งแสนบาท ความผิดพลาดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในบัญชีนั้นก็จะไม่เกินหนึ่งแสนบาท ก็จะถือว่าผ่านการประเมิน 
  6. ผู้ตรวจสอบบัญชีหรือ  C.P.A. ตรวจทานความถูกต้องของงานก่อนที่จะเซ็นท์รับรองการผ่านการประเมินอย่างที่บอกว่าการตรวจสอบบัญชีนั้นอาจจะไม่ต้องถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นท์ แต่ต้องถูกต้องในระดับที่ยอมรับได้และน่าเชื่อถือ  ซึ่งระยะเวลาในการทำงานของแต่ละธุรกิจนั้นจะแล้วแต่ขนาด ความยากง่าย ความซับซ้อนในวิธีการทำงาน ส่วนมากจะตั้งแต่ 1 สัปดาห์ขึ้นไป บางรายเป็นบริษัทใหญ่และมีความละเอียด จึงใช้ระยะเวลาในการทำงานนานถึง 4 สัปดาห์

Career path/ความก้าวหน้าของสายอาชีพ

การเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีนั้น ก็จะต้องก้าวหน้าไปเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี หรือ C.P.A. ที่เป็นเพียงผู้เดียวที่สามารถเซ็นท์รับรองการผ่านการตรวจสอบได้ โดยผู้ที่จะเป็น  C.P.A. ได้นั้นจะต้องสะสมประสบการณ์การทำงานมาแล้วตามระยะเวลาที่สภาวิชาชีพกำหนด และต้องไปทำการสอบเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีเพื่อเลื่อนลำดับขั้น ที่ต้องมีระบบการสอบเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีได้นั้นต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ และความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอย่างมาก 

บุคลิก นิสัยของคนที่เหมาะจะทำอาชีพนี้

การแบ่งเวลา ว่าเราสามารถแบ่งเวลางานกับเวลาส่วนตัวได้ไหม บางคนเป็นคนเฮฮามากๆ แต่ก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดี เวลาทำงานก็จะมีอีกบุคลิกนึงที่จริงจังกับการทำงานและตั้งใจอย่างเต็มที่  แต่บางคนเล่นๆตลอดเวลา ไม่มีสมาธิ ก็อาจจะทำให้เรื่องบางเรื่องหลุดประเด็นไปได้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะงานของเราเป็นงานละเอียด ต้องใส่ใจในรายละเอียดของงานเป็นอย่างมาก การตรวจทานที่ต้องทำซ้ำหลายๆครั้งเพราะเป็นงานที่เกี่ยวกับตัวเลขและถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นหัวใจที่สำคัญในการทำงาน

3. คุณค่าและผลตอบแทน

ผลตอบแทน

หลายๆคนอาจจะคิดว่าเราเป็นงานที่ต้องอยู่ดึกบ่อยๆ ลักษณะเนื้องานอาจจะดูว่าหนัก แต่จริงๆแล้วผลตอบแทนหรือรายได้ก็ดีกว่าหลายๆอาชีพในช่วงอายุงานที่ใกล้เคียงกัน  ถามว่างานหนักไหม มันก็มีช่วงเวลาที่หนักเบาเหมือนกับงานทั่วๆไป แต่ไม่ได้ routine เข้าออกงานตรงเวลาขนาดนั้น ถ้าเราสามารรถแบ่งเวลาได้งานก็จะไม่หนัก  แต่สำหรับรายได้ที่น่าสนใจจะอยู่ในตำแหน่งของ  C.P.A. คือผู้ตรวจสอบบัญชี เพราะเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจในการเซ็นท์ประเมินงาน  จะมีมูลค่าลายเซ็นท์ที่เซ็นท์ออกไปแต่ละครั้งซึ่งค่อนข้างสูง 

คุณค่าของอาชีพนี้ต่อคนรอบข้างและสังคม 

ถือว่าเป็นอาชีพที่ปิดทองหลังพระ เพราะการทำงานของเราเหมือนกับการเข้ามาเช็คว่า สิ่งที่คุณ หรือ     ธุรกิจต่างๆกำลังประกอบการอยู่นั้น มีส่วนบกพร่องในเรื่องของบัญชีอย่างไรบ้าง พนักงานบัญชีก็จะไม่ค่อยชอบ    เราเท่าไร เพราะเราจะเข้ามายุ่งกับเขาเยอะ ขอเอกสารนั้นนี่ ตรวจอะไรอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าไม่มีผู้ตรวจสอบ    บัญชี  สิ่งที่สำคัญเลยคือ คุณอาจจะไม่รู้ข้อบกพร่อง หรือ ความผิดพลาดที่อาจจะมองข้ามไปในเรื่องของหารเงิน    การบัญชี หรือในเรื่องของการทุจริตต่างๆ ที่เราสามารถพบได้จากการตรวจสอบ อีกเรื่องคือข้อมูลต่างๆของ    บริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ก็จะมาจากการตรวจสอบบัญชี มูลค่าการลงทุน หนี้สินต่างๆ  ที่เป็นข้อมูลเพื่อไว้ใช้    ประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งการทำงานของเราคือการทำงานเพื่อความถูกต้อง ผู้ตรวจสอบจึงต้องมี    จรรยาบรรณและความซื่อสัตย์อย่างมาก

4. ทักษะ ความรู้ ความสามารถ

สิ่งที่สำคัญมากคือ ต้องมีพื้นฐานทางด้านการบัญชี ทางที่ดีที่สุดคือการจบคณะบัญชีมาเลย เพราะจะมีรายละเอียดที่ซับซ้อน มีเรื่องเฉพาะมากมายที่ถ้าไม่เรียนมาก็อาจจะไม่รู้ และต้องใช้เวลาในการศึกษาลงลึกอย่างมาก การที่เรารู้ระบบบัญชีทั้งหมดก็จะทำให้เรารู้วิธีการตรวจสอบในเชิงลึก คือเราต้องมีชั้นเชิงและมองภาพกว้างของงานบัญชีให้ออกนำมาวิเคราะห์และแตกรายละเอียดออกมาเป็นข้อมูลและประเมินความถูกต้องของงาน จึงต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์งานได้ด้วย ต้องนำข้อมูลต่างๆมาเปรียบเทียบกันและดูความเป็นไปได้ วิเคราะห์ออกมาให้ชัดเจน ต้องมีความละเอียดรอบคอบ เป็นงานที่ไม่ควรผิดพลาด เพราะมีเรื่องของ    ผลประโยชน์ต่างๆในระบบการเงิน

5. เครื่องมือที่ใช้ในอาชีพนั้น

เอกสารการบัญชีของแต่ละบริษัทเป็นงานหลักของเราที่ต้องทำการตรวจสอบ หลังจากที่ออกไปสำรวจดูงานธุรกิจต่างๆเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำเอกสารการบัญชีเหล่านี้มาวิเคราะห์ ผนวกกับสิ่งที่เราไปสำรวจมามีความถูกต้องเหมาะสมอย่างไร  ผ่านการประเมินหรือเกณฑ์ที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ถ้าผ่านได้รับการเซ็นรับรองจากผู้ตรวจสอบบัญชีแล้วก็ถือว่าจบการทำงานของเรา 

บทความโดย : a-chieve.org

 1651
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์