งบกำไรขาดทุนถือว่ามีความซับซ้อนน้อยกว่างบดุลอย่างเห็นได้ชัด คือเริ่มจากรายได้ แล้วหักค่าใช้จ่าย สุดท้ายก็ได้เป็นผลประกอบการซึ่งมีทั้งผลกำไรและผลขาดทุน แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากหยิบมาบอกเล่าคือเหตุผลเบื้องหลังที่ว่าทำไมนักบัญชีถึงแยกรายได้และค่าใช้จ่ายออกเป็นประเภทยิบย่อยเต็มไปหมด
เริ่มจากรายได้ที่จะแบ่งเป็นยอดขายและรายได้อื่น โดยยอดขายจะสะท้อนการทำธุรกิจปกติของบริษัท เช่น โรงพิมพ์ก็จะมีรายได้จากการขายหนังสือ บริษัทรถยนต์ก็ได้เงินจากการขายรถ ส่วนรายได้อื่น จะเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นนานๆ ที เช่น ขายที่ดิน ให้เช่าอาคาร หรือแม้แต่การเก็งกำไรหลักทรัพย์ หากบริษัทไหนมีกำไร แต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากบรรทัด ‘รายได้อื่น’ ก็เป็นอันเข้าใจกันว่ากำไรในรอบบัญชีนี้อาจไม่ได้มาจากฝีมือในการทำธุรกิจ
บรรทัดต่อมาจะเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำธุรกิจ คือต้นทุนขาย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ เมื่อนำยอดขายมาหักลบกลบกับทั้งสองบรรทัดนี้ จะเรียกว่ากำไรขั้นต้นซึ่งควรจะเป็นบวก ถ้าหากไม่เป็นบวก หมายความว่า ‘หัวใจ’ ของธุรกิจอาจไม่แข็งแรงเท่าไร เพราะยิ่งขายดูจะยิ่งขาดทุน สู้เอาเงินกลับบ้านไปนอนตีพุงอาจจะดีกว่า อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจเปิดใหม่ บางครั้งการขาดทุนจากการดำเนินการอาจเกิดแค่ในระยะสั้น เช่น การอัดโปรโมชันเพื่อดึงดูดลูกค้า เป็นต้น
เมื่อได้กำไรขั้นต้น บรรทัดต่อมาก็จะหักค่าเสื่อมราคาซึ่งไม่ใช่ค่าใช้จ่ายจริงๆ แต่เป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีซึ่งคำนวณจากอายุการใช้งานของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน สมมติว่าเราซื้อตึกแถว 1,000,000 บาท แม้ว่าเงินจะออกจากกระเป๋าเราไปแล้วทันทีหนึ่งล้าน แต่ในบัญชี เราจะได้เป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนเข้ามาแทน โดยนักบัญชีจะทำการประเมินอายุการใช้งาน เช่น 20 ปี แล้วค่อยๆ ทยอยตัดค่าเสื่อมราคา 1,000,000 (บาท) ÷20 (ปี) หรือเท่ากับ 50,000 บาทต่อปีนั่นเอง หลังจากนั้นจึงจะมาหักลบกับดอกเบี้ยและภาษีเงินได้
การแยกบรรทัดและค่อยๆ หักลบที่ละขั้น จะทำให้เราเห็นภาพค่อนข้างชัดเจนว่าค่าใช้จ่ายไป ‘บวม’ อยู่ที่บรรทัดไหน เช่น บริษัทอาจจะขาดทุนเพราะค่าเสื่อมราคาสูงมากๆ หรือขาดทุนเพราะดอกเบี้ยจ่ายมูลค่ามหาศาลในแต่ละเดือน ทั้งที่ธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ไม่มีปัญหาอะไร
บรรทัดสุดท้ายของงบกำไรขาดทุนจะแสดง ‘กำไรสุทธิ’ ที่หลังจากจบงวดบัญชี ตัวเลขดังกล่าวจะถูกนำไปบวก (กรณีงวดนั้นได้กำไร) หรือหักออก (กรณีขาดทุน) จากกำไรสะสมซึ่งเป็นบรรทัดหนึ่งในส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุล
สิ่งที่ห้ามลืมเด็ดขาดเวลาอ่านงบการเงินของบริษัท คืองบที่เราอ่านๆ กันอยู่จัดทำขึ้นโดยใช้เกณฑ์คงค้าง (accrual basis) นะครับ เช่น รายได้จากการขายเงินผ่อน ซึ่งแม้ว่าเราจะบันทึกรายได้ไปแล้ว แต่เราก็ยังเก็บเงินไม่ได้สักบาท หมายความว่าหลายบรรทัดที่เราเห็นในงบดุลและงบกำไรขาดทุนเป็นสิ่งที่ ‘คาดว่าจะได้รับ’ แต่ยังไม่ได้รับจริงๆ
บทความโดย : https://themomentum.co