6 กฎเหล็ก บริหารกระแสเงินสดให้ธุรกิจรุ่ง

6 กฎเหล็ก บริหารกระแสเงินสดให้ธุรกิจรุ่ง

  เงินสดคือสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี การจะพิจารณาว่าสายป่านใครสั้นยาวแค่ไหน ก็ดูได้จากปริมาณเงินสดที่เข้าออก ในธุรกิจแต่ละวัน แต่ละเดือน ซึ่งปริมาณเงินที่หมุนเวียนเข้าออกนี่เองที่เราเรียกว่า กระแสเงินสด และการบริหารกระแสเงินสดที่หมุนเวียนเข้าออกก็เป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะชี้วัดว่าธุรกิจของคุณจะรุ่งหรือร่วงได้เลยทีเดียว ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับกฎเหล็ก 6 ข้อที่จะช่วยให้เราบริหารกระแสเงินสดให้ธุรกิจรุ่ง

1. รักษาสภาพคล่อง คือมีรายรับเพียงพอกับรายจ่าย หรือมีเงินเพียงพอเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งเอสเอ็มอีต้องหมั่นติดตามตรวจสอบกระแสเงินสดเข้าออกของธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพราะรายรับและรายจ่ายทั้งหลายนั้นต่างก็มีวงจรหรือช่วงเวลาของมันอยู่ เช่น ธุรกิจซื้อสินค้ามาขาย 1 ชิ้น ได้เครดิตเทอมจากซัพพลายเออร์ (จ่ายเงินให้ผู้ขายสินค้า) 30 วัน แต่สินค้าชิ้นนี้กว่าจะขายได้ใช้เวลา 45 วัน ดังนั้นระยะเวลาส่วนต่าง 15 วันที่ยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้านี่เอง ที่ธุรกิจต้องมีเงินมาหมุนใช้ในธุรกิจให้เพียงพอ ทั้งนี้ในความเป็นจริงธุรกิจไม่ได้ซื้อขายสินค้าทีละชิ้น และยังต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำค่าไฟ เงินเดือนพนักงาน หนี้การค้า หนี้บัตรเครดิต หรือหนี้เงินกู้ที่ธุรกิจต้องจ่าย ทำให้ต้องบริหารกระแสเงินสดในมือให้เพียงพอ ถึงจะเรียกว่ามีสภาพคล่อง เพราะหากบริหารเงินในส่วนนี้ไม่ได้จะกลายเป็นปัญหาให้ธุรกิจสะดุดถึงขั้นหยุดชะงักได้เลยทีเดียว 

2. ถือเงินสดให้เหมาะสม คือการมีเงินสดเพียงพอต่อการหมุนเวียนในวงจรปกติของธุรกิจ ไม่น้อยจนติดขัดขาดสภาพคล่อง แต่ก็ไม่มากจนเสียโอกาสในการเอาไปลงทุนสร้างผลตอบแทนให้งอกเงย เนื่องจากการถือเงินสดนั้นมีต้นทุนค่าเสียโอกาส และเงินมีมูลค่าลดลงจากอัตราเงินเฟ้อ จึงควรนำไปหาประโยชน์ให้ธุรกิจ เช่น นำไปลดภาระเงินกู้ยืมเพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ลงทุนในตราสารอายุสั้น หรือนำไปขยายธุรกิจตามสมควร เป็นต้น

3. หาเงินทุนมาเติมส่วนที่ขาด สำหรับเอสเอ็มอีที่มีกระแสเงินสดไม่เพียงพอหมุนเวียนในธุรกิจ จำเป็นต้องจัดหาเงินมาเติมในช่องว่างส่วนที่ขาด เช่นจากตัวอย่างข้างต้น ถ้าใน 15 วัน ธุรกิจไม่สามารถหาเงินมาหมุนเวียนระหว่างรอลูกค้าจ่ายเงินได้ ก็อาจต้องหาทางออกด้วยการเจรจาขอให้ลูกค้าจ่ายเงินให้เร็วขึ้น หรือเจรจาขอยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้กับซัพพลายเออร์ หรืออาจจำเป็นต้องหาเงินทุนด้วยการเพิ่มทุนจากหุ้นส่วน หรือการกู้ยืมเงินจากแหล่งต่างๆ แต่ในการกู้ยืมนั้นต้องคำนึงถึงภาระดอกเบี้ยที่ตามมาด้วยว่า ธุรกิจสามารถรองรับภาระในส่วนนี้ได้หรือไม่ 

4. พยากรณ์การใช้เงิน ธุรกิจต้องสามารถพยากรณ์กระแสเงินสดทั้งรายรับและรายจ่ายในระยะสั้นและระยะยาวได้ เพื่อกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ให้ธุรกิจ รวมถึงวางแผนการใช้เงินได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังส่งผลถึงแผนการผลิต แผนการขายและการตลาด และนโยบายการให้เครดิตเทอมแก่ลูกค้าหรือระยะเวลาที่ลูกค้าแต่ละรายจะต้องจ่ายเงิน เพื่อให้เพียงพอกับวงจรเงินสดของธุรกิจ 

5. ประเมินความเสี่ยง ทั้งในระดับอุตสาหกรรมและในระดับธุรกิจ หมายถึงประเมินความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกับเรา เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน หรือความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องประเมินความเสี่ยงในระดับธุรกิจ คือการประเมินธุรกิจตัวเองเปรียบเทียบกับคู่แข่ง เช่น การบริหารต้นทุน การลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น เพื่อดูว่าธุรกิจของคุณมีความสามารถในการแข่งขันเป็นเช่นไร และจำเป็นต้องปรับปรุงกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อการแข่งขันหรือลดความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งในบางกลยุทธ์อาจจำเป็นต้องใช้เงินสดในการลงทุน

6. สำรองเงินไว้เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้เสมอ เช่น ไฟไหม้ ค่าเงินผันผวน คนงานนัดหยุดงาน หรือลูกค้าหลักยกเลิกคำสั่งซื้อ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงควรมีเงินสดหรือทรัพย์สินที่ซื้อง่ายขายคล่องสำรองเตรียมพร้อมไว้เสมอ เผื่อวันใดที่จำเป็นต้องใช้จะได้มีไว้ใช้ประคับประคองให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ 

      ทั้งนี้ในการบริหารกระแสเงินสดสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในยุคนี้ ต้องเรียนรู้ที่จะใช้บริการดิจิทัลแบงกิ้งให้ได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากในยุคดิจิทัลเช่นนี้ เอสเอ็มอีสามารถสั่งจ่ายด้วยเช็ค จ่ายเงินเดือนเข้าบัญชีพนักงาน โอนเงินให้แก่ลูกค้าและผู้ผลิตวัตถุดิบผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เรียกได้ว่าเงินเข้าก็บอก เงินออกก็รู้ แทบจะในทันที ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถบริหารกระแสเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และรวดเร็วยิ่งขึ้น 

บทความโดย : www.kasikornbank.com 

 1048
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์