การจำแนกประเภทต้นทุนเพื่อการบริหาร

การจำแนกประเภทต้นทุนเพื่อการบริหาร

การคำนวณหาต้นทุนที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์มีความสำคัญในการบริหารงาน ทั้งด้านการตลาดและการผลิตและเพื่อการตั้งราคาขายผลิตภัณฑ์หนึ่งผลิตภัณฑ์ใดด้วย ผู้บริหารจำเป็นต้องใช้ข้อมูลต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆเพื่อการวางแผนธุรกิจและเพื่อวัดผลดำเนินการของกิจการว่ามีกำไรหรือขาดทุน ดังนั้นข้อมูลตัวเลขของต้นทุนจึงใช้ในการประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการด้วยการจำแนกประเภทของต้นทุนออกมาในหลายลักษณะที่ต่างกันเพราะต้นทุนในแต่ละประเภทก็จะมีวัตถุประสงค์การใช้ในการตัดสินใจแต่ละปัญหาที่ต่างกันไปซึ่งจะส่งผลให้การจำแนกต้นทุนมีหลายมุมมองได้และเกิดประโยชน์ในแต่ละมุมมองนั่นเอง

การจำแนกต้นทุนมีหลายลักษณะซึ่งขึ้นอยู่กับประโยชน์ของการนำใช้โดยมีการแบ่งออกเป็นดังนี้

   1. จำแนกตามลักษณะส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์

   2. จำแนกตามลักษณะต้นทุนการผลิต

   3. จำแนกตามพฤติกรรมของต้นทุน

   4. จำแนกตามความสัมพันธ์ของหน่วยต้นทุน

   5. จำแนกตามสายงานการผลิต

   6. จำแนกตามหน้าที่งานในกิจการ

   7. จำแนกตามความสัมพันธ์กับเวลา

   8. จำแนกตามลักษณะความรับผิดชอบ

   9. จำแนกตามลักษณะของปัญหาเพื่อการตัดสินใจ

   จะเห็นได้ว่ามีการจำแนกต้นทุนได้ถึง 9 ลักษณะตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้หรือผู้บริหารที่จะนำข้อมูลต้นทุนไปใช้ในการวางแผนและบริหารธุรกิจของตนเอง แต่การจำแนกต้นทุนที่นิยมใช้ในการวางแผนและดำเนินการมีเพียง 4 ลักษณะดังนี้

   การจำแนกต้นทุนตามลักษณะส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์แต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบหลักเพียง 3 รายการคือ

     1. วัตถุดิบ ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตก็จะแบ่งเป็นวัตถุดิบทางตรงและทางอ้อม

     2. ค่าแรงงาน คือค่าจ้างคนทำงานในการผลิตสินค้านั้น โดยแบ่งเป็นค่าแรงงานทางตรง และค่าแรงงานทางอ้อม

     3. ค่าใช้จ่ายในการผลิต คือค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการผลิตที่ไม่เกี่ยวกับวัตถุดิบและค่าแรงซึ่งเกิดขึ้นในการดำเนินงานด้านการผลิตของกิจการนั้นๆ

   การจำแนกตามส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์จะทำให้ผู้บริหารทราบถึงสัดส่วนของการใช้ทรัพยากรทั้งสามรายการและสามารถวางแผนลดต้นทุนในแต่ละรายการได้ รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนการใช้วัตถุดิบให้ถูกลงหรือแพงขึ้นเพื่อการตั้งราคาสินค้าขายได้อีกด้วย

 

   การจำแนกต้นทุนตามพฤติกรรมของต้นทุน การจำแนกต้นทุนประเภทนี้ก็เพื่อนำข้อมูลต้นทุนมาวิเคราะห์ในการตัดสินใจ วางแผน ควบคุมและวัดผลดำเนินการได้ ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์จุดคุ้มทุนของการขายผลิตภัณฑ์นั้นๆ หรือการรับจ้างผลิตภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นทุนตามพฤติกรรมสามารถจำแนกออกได้ 3 ชนิดมีดังนี้

     1. ต้นทุนผันแปร (Variable cost) ต้นทุนประเภทนี้จะแปรผันไปตามปริมาณการผลิตสินค้าโดยมีการใช้สัดส่วนของวัตถุดิบและค่าแรงงานที่แน่นอน ยิ่งผลิตมากต้นทุนนี้ก็จะมีปริมาณสูงขึ้นผันแปรตามการผลิตด้วย

     2. ต้นทุนคงที่ (Fixed cost) เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นคงที่ไม่ว่าจะมีการผลิตมากขึ้นหรือน้อยลงก็ตาม ทุกกิจการจะมีต้นทุนคงที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะมีการขายสินค้านั้นได้หรือไม่ก็ตาม เช่น เงินเดือนผู้จัดการ ค่าเช่าโรงงาน เป็นต้น

     3. ต้นทุนผสม (Mixed cost) มีการแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ต้นทุนกึ่งผันแปร และต้นทุนกึ่งคงที่ ซึ่งต้นทุนกึ่งผันแปรจะเป็นค่าโทรศัพท์ ค่าเช่าเครื่องจักรที่มีค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนหนึ่งและมีค่าใช้จ่ายผันแปรเมื่อมีการผลิตที่มากขึ้นเป็นต้น

 

   การจำแนกต้นทุนตามหน้าที่งานในกิจการ เป็นการคิดต้นทุนที่เกิดขึ้นตามการแบ่งหน้าที่งานในองค์กรหรือธุรกิจนั้น เจ้าของกิจการสามารถตั้งงบประมาณเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละหน้าที่งานในองค์กรได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 4 หน้าที่งานใหญ่ดังนี้

     1. ต้นทุนของฝ่ายผลิต เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นในการผลิตสินค้าและฝ่ายงานผลิตทั้งหมด

     2. ต้นทุนของฝ่ายขายและตลาด เป็นต้นทุนที่เกี่ยวกับกิจกรรมการขาย เช่นค่าส่งเสริมการขาย ค่าคอมมิชชั่น ค่าโฆษณา เป็นต้น

     3. ต้นทุนของฝ่ายการเงิน เป็นต้นทุนที่เกิดจากการจัดหาเงินทุนมาใช้ในกิจการเช่นดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมธนาคารเป็นต้น

     4. ต้นทุนของฝ่ายบริหาร เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นในการดำเนินกิจการ การควบคุม การสั่งงานซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารทั้งหมดนั่นเอง

 

   การจำแนกต้นทุนตามลักษณะของปัญหาเพื่อการตัดสินใจ เป็นต้นทุนที่ผู้บริหารจะให้ฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการตัดสินใจในธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นใช้ในการตัดสินใจเรื่องการซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเดิม, ใช้ในการตัดสินใจเรื่องหยุดการผลิตสินค้าใดสินค้าหนึ่ง, ใช้ในการตัดสินใจเรื่องการลดราคาหรือจัดโปรโมชั่นสินค้าที่ล้าสมัย เป็นต้น ตัวเลขต้นทุนจึงมักถูกแบ่งเป็นประเภทต่างๆดังนี้

     1. ต้นทุมจม (sunk cost) คือต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นต้นทุนที่เกิดจากการตัดสินใจในอดีต หรือได้จ่ายไปแล้วในอดีต ไม่มีผลต่อการตัดสินใจในปัจจุบัน แม้ว่าบริษัทจะเปลี่ยนวิธีการผลิตใหม่ก็ตามแต่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ค่าเช่าตามสัญญาเช่าระยะยาว ที่ทำไว้ตั้งแต่ในอดีต เป็นต้น

     2. ต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ คือต้นทุนที่จะประหยัดได้หากมีการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง

     3. ต้นทุนเสียโอกาส คือผลตอบแทนที่จะได้รับหรือค่าใช้จ่ายที่จะต้องสูญเสียไปเมื่อมีการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง

     4. ต้นทุนส่วนแตกต่าง คือต้นทุนที่ผู้บริหารจะนำมาพิจารณาว่ามีความแตกต่างกันจำนวนเท่าใดถ้าตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง เช่นเลือกที่จะซื้อเครื่องจักรใหม่แทนเครื่องจักรเดิม

     5. ต้นทุนเพิ่มต่อหน่วย หมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เมื่อเพิ่มปริมาณผลิตขึ้น 1 หน่วย หรือในทางกลับกันก็หมายถึงต้นทุนรวมที่ลดลงต่อหน่วยเมื่อลดปริมาณการผลิตลง 1 หน่วย เพื่อช่วยให้ผู้บริหารนำมาพิจารณาได้ว่าการเพิ่มการผลิตเพียง 1 หน่วยจะมีต้นทุนเพิ่มหรือลดลงจำนวนเท่าใด

   ผู้ประกอบการธุรกิจและผู้บริหารควรเลือกวิธีจำแนกต้นทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่นำไปใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์กับกิจการของตนเองเพราะการจำแนกต้นทุนที่ผิดวัตถุประสงค์ก็อาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตามการจำแนกต้นทุนตามส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ก็เป็นการจำแนกต้นทุนตามพื้นฐานของทุกกิจการ ซึ่งผู้ประกอบการควรมีการจัดทำขึ้นอย่างจริงจังและมีตัวเลขที่ชัดเจนโดยไม่ต้องใช้วิธีการประมาณการเองจะทำให้เกิดปัญหาขาดทุนได้ภายหลัง การจำแนกต้นทุนจะต้องเริ่มต้นจากการที่กิจการมีการบันทึกและเก็บข้อมูลเรื่องต้นทุนอย่างถูกต้อง แม่นยำและเป็นระบบ เพื่อจะได้นำข้อมูลนั้นมาจำแนกได้ตามลักษณะที่ผู้บริหารต้องการนำไปใช้และช่วยในการตัดสินใจเลือกทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งได้

บทความโดย : https://bsc.dip.go.th

 39908
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์