7 วิธีบริหารเงินแบบ Thailand Only

7 วิธีบริหารเงินแบบ Thailand Only

     หลายๆ ครั้งที่ได้มีการสำรวจโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการเงินของบุคคล พบว่า คนไทยจำนวนมากมีนิสัยในการจัดการเงินค่อนข้างต่ำ

คนที่มีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาทางด้านการเงินคือนักเรียน แรงงานรายได้ต่ำ และชาวนา แต่คนเหล่านี้คือประชากรส่วนใหญ่ของทั้งประเทศ ดังนั้น ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนแปลงการบริการจัดการทางการเงินของคุณ

วันนี้ได้มีวิธีการบริหารเงินส่วนตัวแบบ Thailand Only มาฝากทุกท่าน เหมาะกับวิถีการดำเนินชีวิตของเราคนไทยไม่มากก็น้อยครับ
 
1.ออมก่อน ค่อยจ่ายทีหลัง
     การจะจัดการเงินอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายๆ คน ยิ่งถ้าถามว่ามีเงินออมบ้างไหม บางคนถึงกับคอตกเลยทีเดียว เพราะพยายามยังไงก็ออมไม่ได้เสียที

การออมเงินเป็นฐานสำคัญสำหรับสถานะทางการเงินที่ดีและความร่ำรวยในอนาคต พอเราหาเงินมาได้แล้ว เราควรจะออมก่อนเลย โดยแบ่งเงินออกมาจากเงินเดือน อาจจะ 5-10% ก็ได้ แล้วเก็บเข้าบัญชีออมทรัพย์ หรือฝากประจำเลย
 
ส่วนที่เหลือ ก็เอาไปจัดสรรเพื่อการใช้จ่ายต่างๆ โดยควรตั้งงบประมาณการใช้จ่ายแต่ละเดือนจากเงินส่วนที่เหลือนี้ และพยายามใช้ไม่ให้เกินงบที่ตั้งไว้
 
2.มีเงินออมก้อนหนึ่ง ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
     ไม่ว่าเราจะมีอาชีพอะไรก็ตาม เราจำเป็นต้องมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไว้ก้อนหนึ่งเสมอ หากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้เงินฉุกเฉิน เราจะได้เอาเงินตรงนี้ไปใช้ได้ทันที โดยเงินส่วนนี้ควรเป็นจำนวนมากเท่ากับเงินเดือน 3-6 เดือนของตัวเอง
เงินก้อนนี้ห้ามแตะเด็ดขาด ยกเว้นเจอเหตุไม่คาดฝันจริงๆ เช่น เกิดวันหนึ่งเลิกงาน ขับรถอยู่แล้วหลับใน ทำให้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่โชคดีที่รอดชีวิตมาได้ ตรงนี้คุณสามารถเอาเงินไปจ่ายทั้งค่าซ่อมรถและค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น ถ้าเรามีเงินก้อนนี้ไว้ เราก็จะไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินใช้จ่ายในเหตุการณ์ดังกล่าว
 
3.ทำงานเก็บเงิน เพื่ออนาคตในระยะยาว
     อย่าทำงานที่ทำไปได้แค่ปีสองปี ให้หางานที่สามารถทำไปได้ในระยะยาว อาจไม่ต้องทำงานให้กับบริษัทเดิมไปตลอด 20 ปีก็ได้ แต่งานที่เราทำตอนนี้ควรเป็นสายงานเดียวกับที่ตั้งใจจะทำไปเรื่อยๆ ในระยะยาว เพื่อเป็นการสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อันจะส่งผลต่อตำแหน่งงานและรายได้ในอนาคตอีกด้วย
 
ถ้าจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ก็ให้ทำอะไรที่คุณคิดว่า จะให้มันอยู่กับคุณไปได้นานๆ ที่สุด พูดง่ายๆ คือ เวลาหางานทำ หรือเวลาจะเริ่มทำธุรกิจ อย่ามองแค่อนาคตอันใกล้ แค่ไม่กี่ปี ให้มองไปยาวๆ ถึง 10-20 ปีเลยจะดีกว่าครับ  
 
4.อย่าทำแค่งานเดียว ควรหางานเสริมด้วย  
     คุณอาจจะมีความถนัดด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ และยึดสิ่งนั้นเป็นงานหลัก แต่ถ้าวันหนึ่งมีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คุณอาจต้องออกจากงานนั้นก็เป็นได้ ไม่มีอะไรแน่นอน ยิ่งถ้าเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ด้วย ถ้าโชคดีก็อาจได้เงินชดเชยจากบริษัท แต่ก็ไม่เป็นเช่นนี้เสมอไป หลายๆ คนคงจะพบเจอกับปัญหานี้มาบ้างแล้ว 
 
ดังนั้น พวกเราควรมีงานอย่างอื่นทำเริม ที่สามารถรองรับกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันแบบนี้ได้ สมมุติว่า คุณมีงานประจำอยู่แค่งานเดียว แต่พอคุณเสียงานนั้นไป ตกงาน เขาเลิกจ้าง เท่ากับว่าคุณจะไม่มีรายได้อะไรเลยหลังจากนี้ แต่ถ้าคุณมีทั้งงานประจำและงานเสริมสร้างรายได้ แม้ว่าจะเสียงานไปหนึ่ง แต่ก็ยังมีอีกงานหนึ่งรองรับอยู่ระหว่างที่หางานใหม่ได้

5.เงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่เป็นสิ่งจำเป็น
     จริงอยู่ที่ชีวิตเรามีอะไรอีกมากมายที่สำคัญกว่าเงิน แต่ถึงอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินเป็นสิ่งจำเป็นมากในชีวิตของเรา ในแต่ละก้าวของชีวิต ย่อมต้องมีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้องทั้งนั้น เช่น การส่งลูกเข้าโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัย การซื้อรถใหม่ ซื้อบ้านใหม่ การจ่ายประกันต่างๆ เป็นต้น ซึ่งถ้าเราไม่มีเงิน เราจะหาสิ่งเหล่านี้มาก็คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ต้องออม ต้องเก็บ  
 
6.อย่าเป็นหนี้ดีที่สุด
     หนี้มีอยู่ 2 แบบ แบบที่ดี กับ แบบที่ไม่ดี หนี้แบบที่ดีคือหนี้ที่เกิดจากการลงทุน ที่เรามั่นใจว่าจะได้รับผลประโยชน์จากมัน ขณะที่หนี้แบบไม่ดีเป็นหนี้ที่มีแต่จะทำให้ชีวิตของเราแย่ลง เช่น การเป็นหนี้เงินกู้นอกระบบ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดๆ และผู้ปล่อยกู้มักเอาเปรียบผู้กู้สุดๆ 
 
หรือการเป็นหนี้บัตรเครดิต ที่แม้ดอกเบี้ยจะไม่สูงกว่า แต่พอรวมค่าปรับ ดอกเบี้ยทบต้นทบดอก ถ้าเกิดบริหารเงินไม่ดีจริงๆ เป็นหนี้บัตรเครดิตหัวโตได้เช่นกัน ต้องคอยหาเงินมาโปะหนี้ตรงนี้ ตรงนั้น ดังนั้น หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ จะดีที่สุดครับ
 
7.ให้รางวัลกับตัวเองบ้าง
     พอมีเงินเหลือจากเงินส่วนที่คุณแบ่งไว้เพื่อออม และส่วนที่แบ่งไว้สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว คุณอาจจะมีเงินเหลือไว้เพื่อให้รางวัลกับตัวเองบ้าง 

อาจจะออกไปทานข้าวที่ร้านอาหารดีๆ สักมื้อ ซื้อรองเท้าวิ่งคู่ใหม่ที่หมายตาไว้มาหลายเดือน หรือซื้อสิ่งของสำคัญๆ ให้กับตัวเอง แต่ที่สำคัญคือ อย่าให้รางวัลตัวเองก่อนออมเงินเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะจนกรอบแน่นอน 

ได้เห็นแล้วว่า วิธีการบริการจัดการเงินส่วนบุคคล ทำได้ไม่ยากครับ ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ เมื่อมีการทำงาน ต้องรู้จัดการบริหารจัดการเงิน รู้จักเก็บ รู้จักออม รู้จักนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เมื่อสามารถทำได้เช่นนี้แล้ว เชื่อว่าอนาคตของชีวิตคุณ ไม่น่าจะลำบากอย่างแน่นอนครับ ไม่เชื่อลองทำดู

บทความโดย: http://www.thaifranchisecenter.com

 874
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์