ระวัง!! ขอเงินภาษีคืน เสี่ยงเข้าข่ายฟอกเงิน

ระวัง!! ขอเงินภาษีคืน เสี่ยงเข้าข่ายฟอกเงิน

       เรื่องของการบริหารหรือวางแผนภาษี ก็เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรทำอยู่แล้วเพราะจะทำให้เราเสียภาษีน้อยลง การที่เราเสียภาษีน้อยลงก็หมายความว่าเราจะมีเงินเก็บมากขึ้น เหลือเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้มากขึ้น ดังนั้นเรื่องการวางแผนภาษีจึงเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ

แต่การวางแผนภาษีก็ควรจะต้องวางแผนให้ถูกต้อง เพราะหลายคนยังเข้าใจผิดว่า การวางแผนลดหย่อนภาษี คือการเลี่ยงภาษีหรือการหลบภาษีทางหนึ่ง แต่หากจะว่ากันตามจริงแล้ว การวางแผนภาษีไม่ใช่การหลบหรือเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด แต่การวางแผนภาษีเป็น การใช้สิทธิ์การลดหย่อน จากการทำประกันชีวิต รวมถึงการลงทุนต่างๆ และการหักค่าใช่จ่ายตามที่สรรพากรกำหนด เพราะถ้าเราวางแผนภาษีแบบผิดๆ อาจจะทำให้เราลำบากในอนาคตก็ได้เพราะว่า ….

ในวันที่  2 เมษายน ที่ผ่านมาได้มีราชกิจจานุเบกษาฉบับที่ 45 (อ้างอิงจาก www.ratchakitcha.soc.go.th) ประกาศออกมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขอเงินภาษีมีใจความหลักๆว่า สำหรับคนที่มีการหลีกเลี่ยงภาษีอากรหรือการฉ้อโกงภาษีอากรเกิน  10 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือมีการขอภาษีคืนเกินกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปีภาษี และการขอภาษีคืนนั้นไม่เป็นความจริงหรือจงใจเลี่ยงภาษี ให้มีความผิดฐานฟอกเงิน !!

หากคุณถูกตรวจพบว่า การยื่นขอเงินคืนภาษีของคุณไม่เป็นความจริงจะมีบทลงโทษได้แก่ โทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี และมีค่าปรับตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท (ไม่รวมเบี้ยปรับเดือนละ 1.5% ที่ต้องชำระเพิ่มเติม)

หากดูจากเจตนากฎหมายฉบับนี้ น่าจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนิติบุคคล (จดทะเบียนในรูปบริษัท) มากกว่า เพราะถ้ารายได้บุคคลสูงขนาดเสียภาษี 10 ล้านบาทส่วนใหญ่ก็น่าจะรับรายได้ในรูปนิติบุคคลมากกว่ารับในรูปบุคคลธรรมดา เพราะฐานภาษีสูงสุดที่เสียของบุคคลธรรมดาอยู่ที่ 35% ต่อปี เมื่อเทียบกับนิติบุคคลที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 20% ต่อปี

การที่ออกกฎหมายนี้ออกมาก็น่าจะเป็นการป้องกันกลุ่มคนที่จ่ายภาษีไม่ตรงตามกฎหมาย เช่น ออกใบกำกับภาษีปลอม พยายามเลี่ยงภาษีมูลค่า (VAT) หรือออกบิลรายจ่ายที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่ตามความเป็นจริง

ส่วนตัวก็ค่อนข้างเห็นด้วยอยู่เหมือนกันว่ากฎหมายถ้ามีบทลงโทษที่รุนแรงมากพอคนก็จะไม่กระทำผิด แล้วก็น่าจะส่งผลทำให้ระบบการเก็บภาษีของสรรพากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐก็จะได้เก็บภาษีได้เยอะขึ้นก็สามารถนำเอาไปพัฒนาประเทศต่อได้ จากเท่าที่ดูกฎหมายใหม่ที่ออกมาก็ถือว่าจะกระทบกับคนที่มีรายได้ค่อนข้างสูงเป็นส่วนใหญ่เพราะยอดการเสียภาษีค่อนข้างสูง ดังนั้นรายย่อยๆแบบเราน่าจะไม่ได้รับผลกระทบสักเท่าไหร่ ถ้ามองในระดับบุคคลก็ถือว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยก็ว่าได้

แต่เรื่องภาษีบางครั้งก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องตัวบทกฎหมายอยู่เหมือนกัน เพราะจากประสบการณ์ที่ได้ใช้บริการสรรพากรอยู่ทุกปี บางครั้งถ้าไม่ใช่ การยื่นภาษีแบบ 40(1) หรือ 40(2) ทั่วๆไป เจ้าหน้าที่สรรพากรแต่ละคนก็ยังให้คำตอบกับประชาชนได้ไม่เหมือนกัน บางครั้งการที่เรายื่นภาษีไม่ครบหรือว่ายื่นผิดพลาดอาจจะมาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนก็เป็นไปได้เช่นกัน

บทความโดย: https://rabbitfinance.com

 783
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์