หุ้นกู้แปลงสภาพ หมายถึง หุ้นกู้ที่ผู้เป็นเจ้าของมีสิทธินำไปแลกเป็นหุ้นประเภทอื่นของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
จากคำจำกัดความข้างต้น แสดงว่า หุ้นกู้แปลงสภาพเป็นหุ้นกู้ที่บริษัทออกจำหน่ายโดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถือหุ้นสามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นประเภทอื่นของบริษัทได้ ในการแปลงสภาพหุ้นกู้นี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นกู้เป็นสำคัญว่าควรจะแปลงสภาพหรือไม่ และควรจะแปลงสภาพเมื่อไร แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการแปลงสภาพที่กำหนดไว้ โดยปกติอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้แปลงสภาพจะมีอัตราที่ต่ำกว่าปกติ เนื่องจากผู้ถือหุ้นกู้ได้สิทธิในการแปลงสภาพหุ้นกู้เป็นหุ้นทุนของบริษัท
การแปลงสภาพหุ้นกู้เป็นหุ้นทุน สามารถปฏิบัติได้ 2 แนวทาง คือ
1. บันทึกบัญชีหุ้นทุนที่ออกให้ในราคาตลาดของหุ้นทุน ณ วันแปลงสภาพ ( Market Value Approach ) ถ้ามีผลต่างของรายการให้บันทึกเป็นกำไรหรือขาดทุนจากการแปลงสภาพหุ้นกู้เป็นหุ้นทุน
2. บันทึกบัญชีหุ้นทุนที่ออกให้ในราคาตามบัญชีของหุ้นกู้ ณ วันแปลงสภาพ ( Book Value Approach ) ถ้ามีผลต่างของรายการให้บันทึกเป็นส่วนเกินมูลค่าหุ้นทุนหรือส่วนลดหรือส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทุน
บทความโดย : https://sites.google.com/