เจ้าหนี้ – ลูกหนี้ ต้องรู้ พ.ร.บ. ทวงหนี้ให้สิทธิ์อะไรบ้าง ?

เจ้าหนี้ – ลูกหนี้ ต้องรู้ พ.ร.บ. ทวงหนี้ให้สิทธิ์อะไรบ้าง ?

ไม่ว่าเราจะเป็นลูกหนี้หรือไม่ได้เป็นลูกหนี้ก็ตาม เราก็น่าจะที่จะรู้สิทธิที่เจ้าหนี้และลูกหนี้พึ่งจะมีได้ตาม พ.ร.บ.ทวงหนี้ฉบับปี 2558

ที่อย่างน้อยหากเราไม่ได้เป็นลูกหนี้เอง เราก็สามารถให้ความรู้หรือคำปรึกษากับคนใกล้ตัวก็เป็นได้ เรามาดูกันดีกว่าทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้จะต้องทำตัวกันอย่างไรบ้าง

มาเริ่มที่เจ้าหนี้กันก่อนดีกว่า

ว่า พ.ร.บ.ทวงหนี้ปี 2558 ที่เริ่มใช้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558 เรามาย้อนกลับไปดูดีกว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องทำตัวอย่างไรกันบ้าง หากต้องไปเจอลูกหนี้ที่ขี้เหนียวสุดๆ ทวงเงินยากสุด เจ้าหนี้จะทำยังไงดีเพื่อจะทวงเงินคืนให้ได้

  • ผู้ทวงถามหนี้ คือ เจ้าหนี้ ผู้ให้กู้เงิน ไม่ว่าจะโดยถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม รวมถึงผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ให้ทวงถามหนี้ อาทิ บริษัทรับทวงหนี้ นั่นก็หมายความว่า เจ้าหนี้นอกระบบก็ต้องทำตาม พ.ร.บ.ทวงหนี้ฉบับนี้เหมือนกัน
  • ธุรกิจทวงถามหนี้ คือ ผู้ประกอบธุรกิจรับจ้างทวงหนี้ ซึ่งต้องได้รับการจดทะเบียนทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน กรณีผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้เป็นทนายความ ให้จดทะเบียนกับสภาทนายความ ผู้ฝ่าฝืนไม่ไปจดทะเบียนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท เพราะฉะนั้นเจ้าหนี้นอกระบบของเราจะจ้างวินมอเตอร์ไซค์หรือนักเลงหัวไม้มาทวงไม่ได้
  • ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ทหาร ตำรวจ ประกอบธุรกิจรับทวงหนี้ หรือไปช่วยคนอื่นทวงหนี้ที่ไม่ใช่หนี้ของตัวเอง เว้นแต่เป็นหนี้ของสามีภรรยา พ่อแม่ หรือลูก ให้สามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
  • ห้ามทวงหนี้กับคนที่ไม่ใช่ลูกหนี้ และเวลาจะไปทวงหนี้ก็ต้องแจ้งชื่อ-นามสกุล และเหตุผลในการมาทวงถาม ห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นลูกหนี้ให้กับบุคคลอื่นได้ทราบ ยกเว้นแต่เป็นการบอกเล่าข้อมูลการเป็นหนี้เท่าที่จำเป็นให้แก่คู่สมรส พ่อ-แม่ หรือลูกของลูกหนี้เท่านั้น รวมทั้งห้ามไปหลอกลวงผู้อื่นเพื่อให้ได้ข้อมูลการเป็นหนี้ หากเจ้าหนี้ไม่ทำตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท
  • เจ้าหนี้จะทวงหนี้ได้ตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น คือ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. และวันหยุดได้เวลา 8.00-18.00 น. จำนวนการติดตามหนี้จะต้องเหมาะสม เช่น อาทิตย์ละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งก็ว่าไป หากเจ้าหนี้ไม่ทำตามก็จะต้องถูกระงับการปฏิบัติงาน และถ้ายังไม่ปฏิบัติตามอีกจะต้องถูกปรับไม่เกิน 100,000 บาท

 ทีนี้เรามาดูทางฝั่งลูกหนี้กันดูบ้าง

ว่าถ้าหากเราเป็นลูกหนี้แล้วไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกคุมคามจากเจ้าหนี้กรณีไหนบ้างถึงจะร้องเรียนหรือฟ้องร้องเจ้าหนี้ได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง ได้แก่

  • เจ้าหนี้ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้ลูกหนี้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน ผู้ฝ่าฝืนจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
  • หากคนที่เจ้าหนี้มอบหมายให้มาทวงหนี้พูดจาไม่สุภาพ ดูหมิ่นลูกหนี้ ทวงหนี้ผ่านไปรษณีย์ หรือโทรสาร โดยมีข้อความแสดงการทวงหนี้ชัดเจน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
  • มีการทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดในเรื่องต่อไปนี้
    • มีการส่งเอกสารทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล เช่น ส่งเอกสารที่มีตราครุฑมาให้ลูกหนี้ ผู้ฝ่าฝืนจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
    • ทำให้เชื่อว่ามีการส่งหนังสือทวงถามจากทนายความมาให้แล้ว มีการทำเอกสารเพื่อทำให้เข้าใจผิดว่าจะถูกดำเนินคดีหรือถูกยึดทรัพย์ หรือมีการแอบอ้างว่าเป็นการทวงหนี้จากบริษัทข้อมูลเครดิต ซึ่งหากเจ้าหนี้กระทำดังกล่าวมีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
  • มีการกระทำที่ไม่เหมาะสมในการทวงหนี้ ได้แก่
    • มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการทวงหนี้เกินกว่าที่กำหนดหมายกำหนด หรือมีการเสนอให้ลูกหนี้ทำเช็คจ่ายทั้งๆ ที่รู้ว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระเงินได้

ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้มาก็เพื่อที่จะคุ้มครองลูกหนี้ แต่ถ้าเราเป็นลูกหนี้กับใครแล้วก็ตาม ก็ควรที่จะนำเงินไปจ่ายให้เจ้าหนี้ตามกำหนดสัญญาซะเถอะ หรือถ้าจะให้ดีที่สุดก็คือไม่ควรสร้างหนี้ขึ้นมานั้นเอง

บทความโดย : moneyhub.in.th

 4516
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์