นักบัญชียุคใหม่

นักบัญชียุคใหม่

นักจัดการทางบัญชี

“เมื่อไรก็ตามลักษณะการดำเนินธุรกิจบนโลกเปลี่ยนไป การบัญชีก็เปลี่ยนตาม ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อมีกิจกรรมทางการค้าเกิดขึ้น นักบัญชีก็มีบทบาทหน้าที่ในการบันทึก จัดการ สื่อสาร และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมนั้นได้อย่างแท้จริง เพื่อสุดท้ายผู้บริหารหรือผู้เกี่ยวข้องจะได้ใช้ข้อมูลนั้นในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ผศ.ดร.นฤนาถ ศราภัยวานิช หัวหน้าภาควิชาการบัญชีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นเกี่ยวกับบทบาทของนักบัญชีในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอาชีพหลายอาชีพกำลังได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เข้ามา

ผศ.ดร.นฤนาถ บอกต่อว่า มีการพูดคุยกันถึงเรื่องคุณสมบัติของบัณฑิตที่จะผลิตออกไป รวมถึงอนาคตของวิชาชีพนี้ “สิ่งที่เราเสริมไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาตรีหรือโท สอดคล้องกับนโยบายของคณะตรงที่ว่าเราจะเน้นในเรื่องการนำไปใช้ โดยต้องสามารถประยุกต์องค์ความรู้พื้นฐานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมสำเร็จรูปทั่วไปทำไม่ได้ และกระบวนการเรียนรู้ ก็พยายามลดรูปแบบการเรียนการสอนแบบเลคเชอร์ลง โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนในรูปแบบ Problem-Based Learning โดยนำเอากรณีศึกษาจริงเข้ามาปรับให้มากขึ้นเป็นการ Teach Less Learn More ให้ฝึกหัดมากขึ้น แล้วดูว่าเขาสามารถนำองค์ความรู้ที่เป็นพื้นฐานมาประยุกต์ใช้ได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เครื่องมือเครื่องจักรยังทำไม่ได้ เราก็ต้องพยายามให้มีอะไรที่ดีกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ธรรมดา”

สิ่งที่ซอฟต์แวร์หรือคอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถทำได้ คือ การตัดสินใจในรูปแบบที่ต้องอาศัยข้อมูลประกอบ เช่น จุดแข็งจุดอ่อนขององค์กร กฎหมายด้านภาษีอากร กฎเกณฑ์ของประเทศคู่ค้าที่ไปติดต่อด้วย คุณสมบัติของผู้บริหาร วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ต่างๆ ซึ่งเครื่องจักรยังไม่สามารถรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานได้อย่างที่สมองมนุษย์ทำได้

ดังนั้นหลักสูตรการเรียนการสอนของภาควิชาการบัญชีส่วนหนึ่งจึงเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถใช้ซอฟต์แวร์ทางบัญชีต่างๆ ร่วมกับการไปฝึกงานกับองค์กรธุรกิจ ทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสนำความรู้ที่ได้จากคณะไปปรับใช้กับการทำงานในโลกธุรกิจจริงๆ

เมื่อลงลึกไปที่หลักสูตรที่มีการปรับปรุงใหม่ของภาควิชาการบัญชี คือ หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต ที่ ผศ.ดร.นฤนาถ เล่าว่าได้รับผลกระทบเรื่องจำนวนนักศึกษาลดลงเช่นเดียวกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ทางหลักสูตรจึงหันมาทบทวนว่าจะปรับปรุงไปในทิศทางใด ผลการหารือได้คำตอบว่า จะยังคงมุ่งเน้นการรักษาคุณภาพ แต่จะทำการเปิดกว้างในการรับผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรให้มากขึ้น โดยไม่จำกัดว่าต้องเรียนจบทางด้านบัญชีมาโดยเฉพาะเหมือนในอดีต แต่เป็นการเปิดรับจากทุกสาขา โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการบัญชีมาไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือ หรือมีการเรียนวิชาบัญชีมาแล้วอย่างน้อย 15 หน่วยกิต

โดยตัวหลักสูตรจะเน้นการประยุกต์ใช้มากขึ้น และมีความเข้าใจพื้นฐานภาพรวมของบัญชีในแต่ละสาขา ไม่ว่าจะเป็นบัญชีบริหาร บัญชีการเงิน ภาษีอากรและต้นทุน ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ลึกในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับบัญชี โดยตัวโครงสร้างวิชาไม่มีการปรับมากนัก แต่จะเน้นการปรับปรุงในเรื่องรายละเอียดของแต่ละกระบวนวิชาให้มีความทันสมัย มุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลง และเป็นไปตามกลยุทธ์ของคณะและมหาวิทยาลัย

“เราพยายามมองในแง่การนำไปใช้งานมากขึ้น ดังนั้น ในการจัดการเรียนการสอน แน่นอนคงต้องมีส่วนทฤษฎีส่วนหนึ่งเป็นตัวปูพื้นฐานให้เข้าใจคอนเซ็ปต์แนวคิดว่ามาจากไหน และจะเน้นการนำไปประยุกต์ใช้ ในส่วนของการนำไปใช้ก็จะมีการเชิญผู้ที่ใช้ข้อมูลจริงในชีวิตการทำงานของเขาเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในห้องเรียน ซึ่งจะมีทั้งผู้ที่มีแบคกราวน์บัญชีและไม่มีแบคกราวนด์บัญชีแต่ต้องใช้บัญชีในการบริหารกิจการ ว่าเขาใช้อย่างไร ประมาณไหน เช่น เรื่องที่ทางทฤษฎีแนะนำว่ามี 3 ทางเลือกเวลาใช้จริงๆ ใช้ทางเลือกไหนมากที่สุด เพราะอะไร หรือต้องใช้ผสมกันอย่างไร ทำให้ผู้เรียนเห็นภาพมากขึ้น” 

ผศ.ดร.นฤนาถ อธิบายและบอกต่อว่า ผู้ที่เรียนระดับปริญญาโทจะทำความเข้าใจในเรื่องของการประยุกต์ใช้ได้ดีกว่าผู้ที่เรียนระดับปริญญาตรีที่ยังมีประสบการณ์ในธุรกิจจริงน้อย ดังนั้นนักศึกษาปริญญาโทมีโอกาสที่จะสามารถนำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้ได้มากขึ้น รวมถึงการที่สามารถเชิญผู้เชี่ยวชาญในวงการธุรกิจมาร่วมสอนในหลักสูตรปริญญาโททำให้ได้รับประสบการณ์จากคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมจริงๆ เพิ่มมากขึ้น

อีกเครื่องมือที่นักศึกษาระดับปริญญาโทจะได้รับไปคือ การวิจัยที่ภาควิชาพยายามยืนให้อยู่บนความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน “เพราะการวิจัยคือการหาคำตอบให้กับเรื่องที่คุณต้องการรู้ เพียงแต่คุณหาคำถามที่เกี่ยวข้องกับบัญชี เอากลยุทธ์ที่เรียนมาไปปรับใช้ เริ่มจากตรงนี้ ในอนาคตเมื่อคุณมีปัญหาก็สามารถนำเครื่องมือนี้ไปหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาของคุณได้”

การที่วิชาชีพบัญชียังคงเป็นวิชาชีพที่ได้รับความนิยมจากผู้เรียน เพราะการบัญชีเปรียบดังกระดูกสันหลังของธุรกิจด้วยการบันทึกข้อมูลที่สะท้อนกิจกรรมของกิจการที่ทำมาทั้งหมด ช่วยให้เห็นอดีตและสามารถฉายภาพอนาคตของธุรกิจได้ การผลิตนักบัญชียุคใหม่ผู้สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ได้เรียนมาในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นอีกภารกิจที่สำคัญสำหรับสถาบันศึกษา 

บทความโดย : https://news.mbamagazine.net

 

 1624
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์